X

โซเชียลเดือด! เกรียนคีย์บอร์ดด้อยค่าประเพณีอุ้มพระดำน้ำ “วิศัลย์”โต้เป็นมรดกภูมิปัญญาแฝงความหมายลึกซึ้ง

เพชรบูรณ์โซเชียลเดือด! เกรียนคีย์บอร์ดด้อยค่าประเพณีอุ้มพระดำน้ำ “วิศัลย์”โต้เป็นมรดกภูมิปัญญาแฝงความหมายลึกซึ้ง ได้รับยกย่องระดับชาติ

วันที่ 3 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ที่ชาวเพชรบูรณ์ต่างมีความเชื่อและศรัทธาถึงความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่าน โดยพิธีนี้ถูกแชร์ไปทั่วสังคมโซเชียลมีเดีย จนผู้คนส่วนใหญ่ต่างประทับใจและชื่นชมพร้อมร่วมยินดี แต่ท่ามกลางคำชื่นชมกลับมีเกรียนคีย์บอร์ดบางกลุ่มออกมาแซะ ถึงประเพณีที่สำคัญนี้ โดยใช้ถ้อยคำด้อยค่าต่อประเพณีและพิธีกรรมอุ้มพระดำน้ำ จนชาวเพชรบูรณ์และผู้คนที่ศรัทธาสุดทน กระทั่งพากันโต้ตอบอย่างร้อนแรง จนทำให้สื่อโซเซียลถึงกับเดือด

อย่างไรก็ตามท่ามกลางกระแสดรามาดังกล่าว นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ไม่รอช้า!โดยออกมาโต้กลับอย่างหนักแน่น ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมชี้ให้เห็นว่า ประเพณีอุ้มพระดำน้ำไม่ได้เป็นเพียงแค่พิธีธรรมดา แต่มีภูมิปัญญาที่บรรพชนแฝงไว้อย่างลึกซึ้ง และทรงคุณค่าหลักๆถึง 4 ประการ ได้แก่

1. ด้านการรักษาคุณภาพแม่น้ำป่าสักและสิ่งแวดล้อม “การที่เจ้าเมืองอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่รอบเมืองและอัญเชิญไปประกอบพิธีทางน้ำ เจ้าเมือง ข้าราชการและประชาชนเอง ก็ต้องช่วยกันดูแลบ้านเมืองให้มีระเบียบเรียบร้อย การที่เจ้าเมืองจะต้องลงไปดำน้ำในลำน้ำด้วยตัวเอง ก็เป็นกุศโลบายที่จะทำให้เจ้าเมืองจะต้องรักษาคุณภาพน้ำในลำน้ำสักให้สะอาด และยังต้องดูแลให้ประชาชนช่วยกันรักษาแม่น้ำป่าสัก

นอกจากนั้นเมื่อองค์พระศักดิ์สิทธิ์ลงไปในแม่น้ำแล้ว ชาวบ้านก็ถือว่าน้ำในแม่น้ำได้เป็นน้ำพระพุทธมนต์ไปด้วย ทุกคนจึงต้องยำเกรง และไม่ลบหลู่ต่อแม่น้ำ นั่นคือต้องไม่ทำให้แม่น้ำสกปรก มิฉะนั้นจะเป็นบาป เท่ากับว่า ทั้งเจ้าเมืองและชาวบ้านต่างก็มีหน้าที่ที่จะต้องรักษาความสะอาดและคุณภาพของแม่น้ำป่าสักและบ้านเมือง

2. ด้านการสร้างขวัญกำลังใจในการทำมาหากิน “ชาวเพชรบูรณ์มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับแม่น้ำป่าสัก จึงปรารถนาที่จะให้ปริมาณน้ำในลำน้ำมีความสมดุลพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ที่ไม่สามารถจะควบคุมธรรมชาติได้ จึงได้อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบ้านเมือง คือ พระพุทธมหาธรรมราชา ให้มาดลบันดาลควบคุมระดับน้ำในลำน้ำ

โดยพิธีกรรมจะกำหนดให้เจ้าเมืองจะอุ้มพระดำน้ำเพียงแค่ 2 ทิศเท่านั้น คือทิศทวนน้ำ และทิศตามน้ำ หากปีใดน้ำน้อยก็จะหันหน้าดำน้ำหันหน้าทางทิศเหนือก่อน เพื่อให้น้ำมีปริมาณมากขึ้นเพียงพอแก่การทำมาหากิน และหากปีใดน้ำมาก ก็จะดำน้ำหันหน้าทางทิศใต้ก่อน เพื่อให้น้ำลดน้อยลงมาไม่ให้เกิดความเสียหายแก่การทำมาหากิน นอกจากนั้น ทุกคำอธิษฐานของการดำน้ำแต่ละครั้ง ก็ล้วนแต่เป็นถ้อยคำที่เป็นมงคลแก่การทำมาหากินของชาวเพชรบูรณ์ทั้งสิ้น”

3. ด้านการทำให้ผู้คนมีจุดรวมใจและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน “เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของคนเพชรบูรณ์ที่ใคร ๆ ก็ยึดมั่นร่วมศรัทธาร่วมปฏิบัติร่วมกัน และศูนย์กลางของกิจกรรมประจำเมืองที่ทุกคนอยากมาร่วมงาน โดยผู้ที่ร่วมงานนี้ต่างมาด้วยใจเพราะเชื่อว่า หลังการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้ จะเกิดความสิริมงคลขึ้นในชีวิตและหน้าที่การงาน

อีกทั้งการกำหนดให้มีกรมการเมืองฝ่ายต่าง ๆ ทั้งเวียง วัง คลัง นา ร่วมดำน้ำกับเจ้าเมือง โดยให้ทาง เวียง วัง เป็นฝ่ายข้าราชการ ส่วน คลัง นา นั้นเป็นฝ่ายประชาชน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า การทำนุบำรุงพัฒนาบ้านเมือง เจ้าเมืองจะต้องอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายต่าง ๆ ทั้งราชการและประชาชนด้วยความร่วมแรงร่วมใจกัน”

4. ด้านการทำให้ผู้คนใกล้ชิดธรรมะและพระพุทธศาสนา “พระพุทธมหาธรรมราชาเป็นองค์ประธานในพิธีกรรมทุกขึ้นตอน อันจะทำให้ผู้คนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา จึงเป็นการเน้นย้ำให้คนเพชรบูรณ์ตระหนักว่า เรามีพระประจำเมือง เราจึงต้องมีธรรมะประจำใจ เราต้องนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาเป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิต ส่งผลให้เกิดความละอายและเกรงกลัวต่อการทำบาป

นอกจากนั้น ทุกคนต่างเชื่อว่า หลังจากประกอบพิธีแล้ว น้ำในแม่น้ำป่าสักจะกลายเป็นน้ำพระพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์และจะพากันตักใส่ภาชนะที่จัดเตรียมมานำกลับบ้านไปไว้เพื่อเป็นสิริมงคล ในขณะที่ข้าวของเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นสังเวยในพิธีกรรมก็จะถูกประชาชนที่มาร่วมพิธีกรรมนำกลับไปจนหมดสิ้น สิ่งเหล่านี้หมายถึงความศรัทธาที่เปี่ยมล้นต่อพิธีกรรมและองค์พระพุทธมหาธรรมราชา”

“ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จึงได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ!!”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน