จิตวิญญาณและภูมิปัญญา แห่งประเพณี ‘อุ้มพระดำน้ำ’ ศรัทธาเหนือกาลเวลา
เมื่อกล่าวถึง “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” เพชรบูรณ์ ทุกคนย่อมนึกถึงตำนานมหัศจรรย์การพบพระพุทธรูป “พระพุทธมหาธรรมราชา” ที่คนหาปลาได้พบขณะทอดแหจับปลากลางแม่น้ำป่าสัก ท่ามกลางอิทธิปาฏิหาริย์และความเชื่อต่าง ๆ มากมาย จนกระทั่งพระพุทธรูปองค์นี้ได้กลายเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวเพชรบูรณ์ และก่อกำเนิดเป็นประเพณีความเชื่อ ที่มีการสืบทอดกันมาหลายยุคสมัยเกือบ 500 ปี โดยเจ้าเมืองในอดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ไปประกอบพิธีกรรมดำน้ำกลางแม่น้ำป่าสัก ณ วังมะขามแฟบ หรือ ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร อ.เมืองเพชรบูรณ์
จิตวิญญาณแห่งประเพณีที่แฝงไว้ด้วยภูมิปัญญา และกุศโลบายอันชาญฉลาดของบรรพชน ที่กำหนดให้เจ้าเมืองต้องอัญเชิญองค์พระพุทธรูปแห่แหนไปรอบเมืองเพชรบูรณ์ และอัญเชิญแห่ทางน้ำไประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ของทุก ๆ ปี มีนัยสำคัญหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
ด้านการเมืองการปกครอง “ประเพณีนี้ใช้ศาสนาและพิธีกรรมมาเป็นศูนย์กลางและเป็นสิ่งจูงใจ เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี มีจุดรวมใจเกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สามารถเรียกระดมพลได้อันจะก่อให้เกิดพลังและความฮึกเหิมในการร่วมกันปกป้องดูแลรักษาบ้านเมืองยามที่บ้านเมืองมีเภทภัยสงครามหรือสาธารณภัยต่าง ๆ”
ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม “ทำให้เกิดความตื่นตัวร่วมกันดูแลรักษาบ้านเมือง เพราะการที่เจ้าเมืองอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่แหนรอบเมืองทั้งทางบกและทางน้ำ เจ้าเมือง ข้าราชการและประชาชนเอง ก็ต้องดูแลบ้านเมืองให้มีระเบียบเรียบร้อย และการที่เจ้าเมืองจะต้องลงไปดำน้ำในลำน้ำด้วยตัวเอง ก็เป็นภูมิปัญญาที่จะทำให้เจ้าเมืองจะต้องรักษาคุณภาพน้ำในลำน้ำสักให้สะอาด และยังต้องดูแลให้ประชาชนช่วยกันรักษาแม่น้ำป่าสักซึ่งเปรียบเสมือนสายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชาวเพชรบูรณ์ เพื่อไม่ให้สกปรกจนเป็นบ่อเกิดแห่งโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาดอีกด้วย”
ด้านการสร้างการมีส่วนร่วม “ประเพณีนี้เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมที่ทุกคนอยากมาร่วมงาน โดยผู้ที่ร่วมงานนี้ต่างมาด้วยใจเพราะเชื่อว่า หลังการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้ จะเกิดความสิริมงคลขึ้นในชีวิตและหน้าที่การงาน อีกทั้งการกำหนดให้มีกรมการเมืองฝ่ายต่าง ๆ ทั้งเวียง วัง คลัง นา ร่วมดำน้ำกับเจ้าเมือง โดยให้ทาง เวียง วัง เป็นฝ่ายข้าราชการ ส่วน คลัง นา นั้นเป็นฝ่ายประชาชน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า การทำนุบำรุงพัฒนาบ้านเมือง เจ้าเมืองจะต้องอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายต่าง ๆ ทั้งราชการและประชาชนด้วยความร่วมแรงร่วมใจกัน”
ด้านการสร้างความศรัทธา สืบทอด ทำนุบำรุงในพระศาสนา “ทุกคนต่างเชื่อว่า หลังจากประกอบพิธีแล้ว น้ำในเเม่น้ำป่าสักจะกลายเป็นน้ำพระพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์และจะพากันตักใส่ภาชนะที่จัดเตรียมมานำกลับบ้านไปไว้เพื่อเป็นสิริมงคล ในขณะที่ข้าวของเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นสังเวยในพิธีกรรมก็จะถูกประชาชนที่มาร่วมพิธีกรรมนำกลับไปจนหมดสิ้น สิ่งเหล่านี้หมายถึงความศรัทธาที่เปี่ยมล้นต่อพิธีกรรมและองค์พระพุทธมหาธรรมราชา และได้มีการสั่งสอน สืบทอดความเชื่อ ความศรัทธาไปยังลูกหลานรุ่นต่อรุ่นต่อ ๆ กันไปไม่ให้สูญหายไปจากแผ่นดินเพชรบูรณ์”
ด้านการสร้างขวัญกำลังใจในการทำมาหากิน “ชาวเพชรบูรณ์ที่มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับแม่น้ำป่าสัก จึงปรารถนาที่จะให้ปริมาณน้ำในลำน้ำมีความสมดุลพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ที่ไม่สามารถจะควบคุมธรรมชาติได้ จึงได้คิดกุศโลบายอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบ้านเมือง คือ พระพุทธมหาธรรมราชา ให้มาบันดาลดลควบคุมระดับน้ำในลำน้ำ โดยกำหนดให้เจ้าเมืองจะอุ้มพระดำน้ำเพียงแค่ 2 ทิศเท่านั้น คือทิศทวนน้ำ และทิศตามน้ำ หากปีใดน้ำน้อยก็จะหันหน้าดำน้ำหันหน้าทางทิศเหนือก่อน เพื่อให้น้ำมีปริมาณมากขึ้นเพียงพอแก่การทำมาหากิน และหากปีใดน้ำมาก ก็จะดำน้ำหันหน้าทางทิศใต้ก่อน เพื่อให้น้ำลดน้อยลงมาไม่ให้เกิดความเสียหายแก่การทำมาหากิน นอกจากนั้น ทุกคำอธิษฐานของการดำน้ำแต่ละครั้ง ก็ล้วนแต่เป็นถ้อยคำที่เป็นมงคลแก่การทำมาหากินของชาวเพชรบูรณ์ทั้งสิ้น”
ด้านการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนเพชรบูรณ์ “การร่วมพิธีกรรมของประชาชนทั่วไปในสมัยก่อน จะพากันพายเรื่องมาจากทุกสารทิศ มารวมกันที่หน้าวัดไตรภูมิ แล้วพายเรือทวนน้ำขึ้นไปประกอบพิธีที่วังมะขามแฟบ เมื่อเสร็จพิธีก็มีการแบ่งปันอาหารคาวหวานที่แต่ละคนเตรียมกันมาจากบ้านแบ่งปันให้คนอื่นบ้านอื่นได้ชิมลิ้มรสด้วย จึงกลายมาเป็นการโยนอาหารเครื่องมงคลให้กัน นอกจากนั้น การพายเรือทวนน้ำขึ้นไปประกอบพิธีกรรม ก็ได้กลายมาการแข่งพายเรือทวนน้ำที่แต่ละบ้านจะเตรียมฝึกซ้อมหนุ่ม ๆ ฝีพายกันมาด้วยความเข้มแข็ง ก็ให้เกิดความรักความสามัคคีกันในหมู่คณะและเกิดการมีปฏิสัมพันธ์อันดีกับผู้คนจากบ้านอื่น”
การเป็นประเพณีที่ทรงคุณค่าเช่นนี้ จึงทำให้ประเพณีอุ้มพระดำน้ำและบารมีของพระพุทธมหาธรรมราชา คงอยู่ในจิตวิญญาณของชาวเพชรบูรณ์ทุกคนและหล่อหลอมศรัทธาของคนเพชรบูรณ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกันตลอดมาและตลอดไป
สำหรับประเพณีอุ้มพระดำน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2562 นี้ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยในวันที่ 26 กันยายน เวลา 18.00 น. ร่วมชมนางรำ 2,562 คนรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา ณ พุทธอุทยานเพชบุระ จากนั้นในเวลา 09.09 น.วันที่ 27 กันยายนร่วมพิธีบวงสรวงเทพดา ณ วัดไตรภูมิ ก่อนจะชมขบวนอัญเชิญองค์พระแห่ทางบกสุดอลังการในเวลา 17.00 น.เป็นต้นไป
ในขณะที่วันที่ 28 กันยายน เวลา 09.39 น.อัญเชิญองค์พระประกอบพิธีดำน้ำที่ ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ส่วนการแสดงแสงสีเสียงตำนานมหัศจรรย์ประเพณีอุ้มพระดำน้ำเริ่มตั้งคืนวันที่ 28 กันยายนถึงคืนวันที่ 1 ตุลาคม จึงขอเชิญทุกท่านร่วมสัมผัสงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำศรัทธาเหนือกาลเวลา…
ขอขอบคุณ : เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ / ช่างภาพอาสาฯทุกท่าน เอื้อเฟื้อภาพ
-
ข่าวเกี่ยวข้อง
- เพชรบูรณ์จัดงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำปี 2562 วันที่ 26ก.ย.-1ต.ค.นี้ จ่อยกงานสู่ระดับอาเซียนในปี 2563 : ข้อมูลจาก@77kaoded.com
- ททท.ชวนเที่ยวงานอุ้มพระดำน้ำฯ เพชรบูรณ์ ย้ำต้องมาเห็นกับตา (ชมคลิป) https://www.77kaoded.com/content/835343 : ข้อมูลจาก@77kaoded.com
- ชวน นทท.รูด”ชิมช้อปใช้” งานอุ้มพระดำน้ำ’62 มี 424 ร้านค้าให้รูดปรื้ด! : ข้อมูลจาก@77kaoded.com
- คลิป-ประเพณีอุ้มพระดำน้ำฯเพชรบูรณ์ ศรัทธาเหนือกาลเวลา : ข้อมูลจาก @YouTube
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: