X

“เลี้ยงปีเจ้าพ่อ” พิธีกรรมสืบทอดความเชื่อ “วัฒนธรรมไทหล่ม” อ.หล่มเก่าฯเพชรบูรณ์

“เลี้ยงปีเจ้าพ่อ” พิธีกรรมสืบทอดความเชื่อ “วัฒนธรรมไทหล่ม” อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์

“เมืองหล่มเก่า” หรือ อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามประวัติศาสตร์ชื่อเมืองหล่มเก่าปรากฏขึ้นครั้งแรกในรัชกาลของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในชื่อว่า”เมืองหล่ม” เมื่อย่างเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ เมืองหล่มเก่าได้มีชาวลาวหลวงพระบางอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น ทำให้ได้รับอิทธิพลและวัฒนธรรมจากล้านช้างหลวงพระบางมาเต็มๆ จนเป็นที่มาขอคำว่า “วัฒนธรรมไทหล่ม”

อย่างไรก็ตามแม้กาลเวลาจะล่วงเลยไปหลายร้อยปีแล้วก็ตาม แต่ขนบความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆที่ถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นก็ยังปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะพิธี “เลี้ยงปีเจ้าพ่อ” นับเป็นหนึ่งในหลากหลายพิธีกรรมบนความเชื่อ ที่มีการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตรเข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนากันอย่างแนบแน่น

“พิธีเลี้ยงปีเจ้าพ่อ” เป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมที่น่าสนใจ โดยชาวไทหล่มมีความเชื่อและถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน โดยพิธีกรรมนี้แฝงไปด้วยภูมิปัญญาที่บรรพบุรษได้สอดแทรกใส่ไว้ในพิธีกรรมดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความสามัคคี กตัญญูต่อบรรพบุรุษแล้ว ยังสอนให้ผู้คนและลูกหลาน รวมทั้งเหล่าลูกศิษย์บริวาร สร้างแต่กรรมดีและให้ละอายต่อการทำบาป

“วิศัลย์ โฆษิตานนท์” ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวถึงพิธีเลี้ยงปีเจ้าพ่อที่ต่อเชื่อมวีถีของชาวไทหล่มจากอดีตสู่ปัจจุบันอย่างแนบแน่นว่า จากความเชื่อการนับถือพุทธศาสนาควบคู่ไปกับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ของชาวไทหล่มจากในอดีตที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจวบถึงปัจจุบัน ทำให้เกือบทุกหมู่บ้านทั้งในเมืองและนอกเมือง ยังจะมีหอเจ้าพ่อเป็นที่สถิตอยู่ โดยเชื่อว่าเจ้าพ่อเจ้านายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและคุ้มครองให้ความปลอดภัยและเจริญรุ่งเรือง และยังจะช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยให้อีกด้วย

วิศัลย์เกริ่นให้ฟังถึงที่มาที่ไปพร้อมให้ความหมายถึงเจ้าพ่อ ที่ชาวหล่มเก่าหรือชาวไทหล่ม ต่างกราบเซ่นไหว้สักการะอย่างหมดหัวใจด้วยว่า “เจ้าพ่อจะมีชื่อเรียกเจ้าพ่อประจำหมู่บ้านของตนต่างกันออกไปมากมาย อาทิ เจ้าพ่ออู่คำ เจ้าพ่อตอมาด เจ้าพ่อขุนซวง เจ้าพ่อสามดาว เจ้าพ่อหนองบัว เจ้าพ่อหนองดู่ เจ้าพ่อพระพรหม เจ้าพ่อหนองขาม เจ้าพ่อขุนจบ เจ้าพ่อวังเสื้อแดง เจ้าพ่อสินชัย ฯลฯ โดยเจ้าพ่อทุกองค์จะมีร่างทรงหรือ“คาบ”และมีบริวารเจ้าพ่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรรมวิธีและกฎเกณฑ์การเป็นร่างทรงและการกินดอง(พิธีการเปลี่ยนร่างทรง) จะมีรายละเอียดมากมายและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

วิศัลย์ยังเล่าต่ออีกว่า ในราวประมาณเดือน 6 ของทุกๆปีจะมีการจัดเลี้ยงปีเจ้าพ่อกันใหญ่โต โดยมีการจัดเครื่องเซ่นบวงสรวง เข้าทรง และร้องรำทำเพลงกันสนุกสนาน ลูกศิษย์ลูกหาผู้นับถือเจ้าพ่อ ใครอยู่ที่ไหนก็จะกลับมาร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง อีกทั้งเจ้าพ่อยังมีการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เรียกว่า “การปัว” ให้ผู้คนอีกด้วย

วิศัลย์ยังกล่าวย้ำอีกว่า ส่วน“เลียบบ้านเลียบเมือง”ก็เป็นอีกพิธีหนึ่งที่อยู่ในการเลี้ยงปีของเจ้าพ่อเจ้านายหอต่างๆในเมืองหล่ม แต่จะมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยในแต่ละแห่ง เช่นบางหมู่บ้านจะสมมุติเป็นเพียงการเวียนรอบหอ จำนวนสามรอบถือเป็นการเลียบเมืองแล้วจึงส่งกระทง“ซำฮะ” บางหมู่บ้านจะทำการเดินรอบหมู่บ้านจริงๆ โดยชาวบ้านจะรอที่หน้าบ้านของตน โดยเตรียมของรับรองเจ้าพ่อเจ้านาย เช่น น้ำ เหล้าขาว หมากพลู บุหรี่ ฝ้ายผูกแขน และข้าวเหนียว เพื่อให้เจ้าพ่อ“กวดข้าว” เอาสิ่งอัปมงคลลงกระทงซำฮะ โดยจะทำไปจนครบทุกบ้าน

“จากนั้นเจ้าพ่อเจ้านายจะไปยังปากทางหมู่บ้านเพื่อส่งกระทงซำฮะหรือที่เรียกว่าส่งผีหลวง จากนั้นจะยกทุงเขตทุงแดน(ธงหางยาวหรือตุง)พร้อมทั้งขีดขั้นปันแดน เพื่อไม่ให้ผีหลวงและสิ่งอัปมงคลหวนกลับมายังหมู่บ้านอีก แม้พิธีกรรมแต่ละแห่งจะต่างกัน แต่มีจุดประสงค์เดียวกันคือซำฮะ หมายถึงชำระสะสางสิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้าน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจที่ดีของคนในหมู่บ้าน แต่พิธีการเดินเลียบบ้านนี้ ค่อยๆลดน้อยลงไปเพราะว่าใช้เวลานาน บางแห่งคาบเจ้านายแก่ชราเดินไม่ไหว ก็เลียบเมืองโดยเดินรอบหอเอาก็มี”

วิศัลย์ยังระบุถึงภูมิปัญญาที่แฝงและซ่อนเร้นไว้ในพิธีกรรมการดังกล่าวด้วยว่า “ทุกๆประเพณีและพิธีกรรมบรรพบุรุษจะแฝงซ่อนเร้นภูมิปัญญาไว้อย่างชาญฉลาด พิธีเลี้ยงปีเจ้าพ่อเจ้านายของชาวไทหล่มก็เช่นกัน สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาก็คือต้องการให้ลูกหลานและบริวารรวมทั้งผู้คนในชุมชนได้รู้รักสามัคคีและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ความกตัญญูกติเวทีต่อบุพการีและบรรพบุรุษ การประกอบอาชีพด้วยความสัตย์ซื่อ ความเกรงกลัวและการละอายต่อการทำบาป โดยเชื่อว่าหากทำไม่ดีคิดไม่ดีเจ้าพ่อจะไม่ให้ความคุ้มครอง

“จากความเชื่อดังกล่าวทำให้ชาวหล่มเก่าหรือชาวไทหล่ม เมื่อโยกย้ายไปสร้างปักหลักสร้างถิ่นฐานใหม่ที่ไหนก็ตาม ก็ยังจะนำความเชื่อและพิธีกรรมเหล่านี้ไปปฏิบัติกันสืบต่อ จนทำให้พิธีกรรมความเชื่อเรื่องการเลี้ยงปีเจ้าพ่อยังสามารถพบเห็นได้พื้นที่อื่นๆ เพียงแต่อาจจะแตกต่างไปตามกาลเวลาบ้าง แต่แก่นแท้หรือรากเหง้าส่วนใหญ่ก็ยังมาจากพื้นเพเดิมวัฒนธรรมไทหล่มแทบทั้งสิ้น”วิศัลย์กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตามพิธีเลี้ยงปีเจ้าพ่อของชาวไทหล่มหรือชาวหล่มเก่า ยังคงมีให้เห็นและสืบทอดกันต่อไปอย่างยาวนาน ตราบใดที่ความเชื่อความศรัทธาของชาวหล่มเก่า ยังแน่นเฟ้นและยึดติดกับรากเหง้าอันทรงคุณคุณค่า “วัฒนธรรมไทหล่ม”

ขอบคุณ Teerapong Srithum เอื้อเฟื้อภาพ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน