เพชรบูรณ์-“เจ้าพ่อเจ้านาย เมืองหล่มเก่า” จากวิถีความเชื่อดั้งเดิม สู่วัฒนธรรมไทหล่มที่ยังฝังรากลึก ในมุมมอง “วิศัลย์ โฆษิตานนท์”
เรื่องราวของ “ชาวหล่ม” หรือ “ชาวไทหล่ม” กลุ่มชนชาติพันธุ์เก่าแก่ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวล้านช้าง ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ตอนบนจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้นอกจากจะเป็นกลุ่มคนที่ตั้งรกรากอยู่ดั้งเดิมแล้ว บางส่วนยังอพยพมาตั้งถิ่นฐานและอีกส่วนยังหนีภัยสงครามมาจากหลวงพระบางและเวียงจันทร์ มาลงหลักปักฐานอาศัยอยู่ในเมืองหล่มเก่าด้วย จากการที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน ทำให้มีการนำวัฒนธรรมเหล่านี้มาปฏิบัติ ขณะเดียวกันยังผสมผสานหลอมรวมความเชื่อเข้ากับวิถีชีวิตอย่างแนบแน่น จนก่อให้เกิดพิธีกรรมอย่างหลากหลายจนกลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และได้รับสืบสานมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันและยังถูกเรียกว่า “วัฒนธรรมไทหล่ม”
สำหรับในพิธีกรรมในวัฒนธรรมไทหล่มเหล่านี้ มีหลากหลายพิธีกรรมที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนและความเชื่อและจิตวิญญาณว่าเป็นกลุ่มคนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวล้านช้าง “พิธีเลี้ยงปีเจ้าพ่อ”นับเป็นหนึ่งในพิธีกรรมที่สะท้อนถึงตัวตนของชาวไทหล่มและยังคงความเชื่อแบบฝังรากลึกอยู่ในสังคมและชุมชนของกลุ่มคนเหล่านี้ อย่างไรก็ตามเรื่องราวที่มาที่ไปของพิธีเลี้ยงปีและยังมีพีธีกรรมอีกหลายพิธีที่สอดแทรกร่วมกันอยู่ มีที่มาที่ไปอย่างไร “วิศัลย์ โฆษิตานนท์” ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เขียนบทความบันทึกเรื่องราวในมุมมองเกี่ยวกับ “เจ้าพ่อเจ้านาย เมืองหล่มเก่า” ไว้อย่างน่าสนใจและน่าค้นคว้าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
ข่าวน่าสนใจ:
- เพชรบูรณ์ - ว่าที่ผู้สมัครชิง ส.อบจ.เพชรบูรณ์หน้าใหม่ บุกหนักขยันลงพื้นที่
- เพชรบูรณ์ - "ยุพราช"ชี้! นักการเมืองไม่จำเป็นต้องรวย แค่เคียงข้าง ปชช.ไม่ทุจริตโกงบ้านเมืองก็พอ
- ชิง ส.อบจ.เพชรบูรณ์ ส่อเดือด! นักการเมืองรุ่นใหม่ทยอยเปิดตัว ท้าชนแชมป์เก่า
- กกต.อบจ.เพชรบูรณ์ ประกาศผลเลือกตั้ง "อัครเดช"รั้งแชมป์สมัย 7 ผู้ใช้สิทธิ์ไม่ถึงร้อยละ 50 ปชช.สงสัยผู้ใช้สิทธิกับบัตรลงคะแนน เลขเขย่งถามสาเหตุ
โดยวิศัลย์เริ่มเกริ่นถึงกลุ่มชนชาติพันธุ์ชาวหล่มหรือไทหล่มว่า “ไทหล่มส่วนใหญ่นั้นสืบเชื้อสายมากจากชาวลาวล้านช้าง ทั้งจากสายหลวงพระบางและสายเวียงจันทน์ ในหมู่ชนชาวลาวนั้น มีความเชื่อถือในผีมาแต่ดั้งเดิมก่อนการนับถือพระพุทธศาสนา แม้ว่าจะมีการรับเอาพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาของตนแล้ว แต่ก็ยังมีความเชื่อถือในผี วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ อยู่ควบคู่กันไป”
ความเชื่อเรื่องผีของไทหล่มนั้น มี 2 ส่วนคือ ผีที่ให้คุณและผีที่ให้โทษ ผีที่ให้คุณนั้นได้แก่ ผีฟ้าพญาแถน ผีอารักษ์หลักเมือง ผีบรรพบุรุษเป็นต้น ส่วนผีที่ให้โทษได้แต่ วิญญาณต่าง ๆ ดังนั้น จึงมีความเชื่อว่าหากได้กระทำการอันใดที่ทำให้ผีในฝ่ายดีมีความพึงพอใจแล้ว ก็จะทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น อีกทั้งยังช่วยป้องกันการกระทำที่ไม่ดีอันจะเกิดจากผีที่ให้โทษอีกด้วย ในบรรดาผีให้คุณนั้น ผีแถน ดูจะเป็นผีที่ให้ความเคารพมากที่สุด จึงนับผีแถนว่าเป็นเทวดามากกว่าเป็นผี “แถน” จึงเป็นผีที่อยู่ระดับสูงกว่าผีชนิดอื่น ๆ
คำว่า “แถน” นั้น มีความเชื่อว่าเป็นคำเรียกรวมถึงเทวดาต่าง ๆ โดยแถนที่ใหญ่ที่สุด คือ “แถนหลวง” ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระอินทร์ ผีแถนนั้น แต่ละพื้นที่มีการเรียกที่แตกต่างกันไป เช่น ผีฟ้า ผีแถน ผีฟ้าพญาแถน ก็มี และมีความเชื่อว่าผีแถนนั้นสามารถที่จะดับยุคเข็ญหรือทำลายล้างอุปสรรคทั้งปวงได้ และสามารถที่จะช่วยเหลือมนุษย์ที่เดือดร้อนได้ บางครั้งในกรณีที่มนุษย์เกิดการเจ็บป่วยนั้นเนื่องจากไปละเมิดต่อผี การละเมิดต่อบรรพบุรุษ การรักษาต้องมีการเชิญผีฟ้ามาสิงสถิตอยู่ในร่างของคนทรง เรียกว่า “คาบ คนทรง นางเทียม หรือท้าวเทียม” ตามแต่ละกลุ่มที่จะเรียกใช้สรรพนาม
ผีที่มีความสำคัญรองลงมาคือ ผีอารักษ์หลักเมือง หรือผีเจ้านาย เชื่อกันว่าเป็นดวงวิญญาณของเจ้าเมือง ทหาร เสนา อำมาตย์ต่าง ๆ ซึ่งเคยเป็นผู้ทีมีวิชาความรู้ต่าง ๆ ถือเป็นบรรพบุรุษของตนเมื่อตายไปแล้ว แม้เวลาจะนานเท่าใด วิญญาณก็ยังคงอยู่ปกปักรักษาบ้านเมืองและลูกหลานนของตน ทั้งยังทำหน้าที่ติดต่อกับผีแถนอีกด้วย ซึ่งแต่ละหมู่บ้าน แต่ละอำเภอที่มีไทหล่มอาศัยอยู่ ก็จะมีผีอารักษ์หลักเมืองเป็นของตนเอง ทั้งนี้ ไทหล่มจะเรียกผีอารักษ์หลักเมืองว่า “เจ้าพ่อ” หรือ “เจ้านาย” บางครั้งก็เรียกว่า “นาย”
โดยมีการติดต่อผ่านการสิงสถิตอยู่ในร่างของคนทรง เรียกว่า “คาบ” เช่นเดียวกัน โดยในแต่ละหมู่บ้านจะมีหอเจ้าพ่อประจำหมู่บ้าน โดยมีตำนานหรือประวัติต่างๆผูกไว้เป็นเรื่องราว บ้างก็สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้าน หรือสถานที่สำคัญในที่นั้น ๆ หรืออาจมีตำนานเชื่อมโยงไปยังอีกหมู่บ้านก็มี โดยบางหมู่บ้านอาจมีหอเจ้าพ่อมากกว่า 1 แห่งก็ได้ บางครั้งหมู่บ้านห่างไกลกันอาจมีหอเจ้าพ่อชื่อเดียวกัน ทั้งนี้เป็นเพราะสมัยก่อนมีการอพยพย้ายถิ่นฐาน เมื่อไปตั้งรกรากที่ใหม่ก็จะอัญเชิญ ผีอารักษ์ของตนไปด้วยนั่นเอง
ไทหล่มเชื่อมั่นว่า เจ้าพ่อเป็นเจ้านาย จิตวิญญาณของอารักษ์หลักเมือง สามารถคุ้มครองให้เกิดความปลอดภัย ความเจริญรุ่งเรือง หรือช่วยให้คลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องสุขภาพและเรื่องการดำเนินชีวิต กิจการ หรือการอาชีพต่างๆ เป็นต้น โดยเจ้าพ่อเจ้านายในแต่ละหมู่บ้านอาจจะมีชื่อที่เหมือนกัน หรือต่างกันก็ได้ ส่วนมากจะใช้ชื่อเจ้าพ่อเป็นชื่อประจำหอ โดยหอแต่ละแห่งจะมีเจ้าพ่อเจ้านายอยู่ด้วยกันอีกหลายองค์ เช่น เจ้าพ่ออู่คำ เจ้าพ่อตอมาด เจ้าพ่อขุนส่วง เจ้าพ่อสามดาว เจ้าพ่อหนองบัว เจ้าพ่อหนองดู่ เจ้าพ่อพระพรหม เจ้าพ่อขุนจบ เจ้าพ่อเหล็กซี เจ้าพ่อหน่อน้ำ เจ้าพ่อพ่ายแสนเมือง เจ้าพ่ออินทนิล ฯลฯ เป็นต้น
กลุ่มคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเจ้าพ่อเจ้านาย นั้นสามารถแบ่งแยกได้ตามภาระหน้าที่ดังนี้
“พ่อกวน” (กวนข้าวจ้ำ กวนจ้ำ หรือกวน) คือ ผู้ติดต่อสื่อสารกับคาบเจ้าพ่อ โดยได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพ่อโดยตรง และมักสืบทอดทางสายตระกูล มีหน้าที่กำกับ ควบคุมดูแลพิธีกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามจารีตประเพณี หรือตามคำสั่งของเจ้าพ่อมักจะมีหอละ 1 คน หากหอแห่งใดไม่มี หน้าที่นี้มักจะเป็นของ คาบเจ้าพ่อที่อาวุโสที่สุดในหอ
“คาบเจ้าพ่อ” คือคนที่วิญญานเจ้าพ่อเจ้านายจะใช้ร่างในการ “ลงเทียม” เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยจะต้องผ่านพิธีกรรม “กินดองเจ้าพ่อ” และถือข้อปฏิบัติที่เข้มงวด ที่เรียกว่า “ข้อคะลำ” เป็นได้ทั้งชายและหญิง ในหนึ่งคนจะมีเจ้านายมาลงเทียม มากกว่า 1 องค์ ก็ได้ โดยจะเป็น คาบเจ้าพ่อตลอดชีวิตของตน
“นางแต่ง” คือตำแหน่งของหญิงที่อุทิศตน ให้กับการจัดเตรียมสิ่งของทุกอย่างในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่นเครื่องสักการะ เครื่องรับรอง ขันคาย บายศรี ตลอดจนแต่งองค์ทรงเครื่องให้กับคาบเจ้าพ่อ ทั้งยังมีหน้าที่บอกเชิญหรือเจรจากับ เจ้าพ่อ เจ้าแม่ เสนา ต่าง ๆ ในพิธี ตลอดจนจดจำขั้นตอนพิธีกรรม จดจำลักษณะท่าทางต่าง ๆ ของเจ้าพ่อได้ โดยตำแหน่งนี้จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพ่อ ไม่บังคับจำนวน นางแต่ง ในแต่ละหอว่ามีกี่คน
“หมอเสพ หมองัน” คือ นักดนตรีที่ประโคมเครื่องดนตรีขับกล่อมในพิธี โดยมีแคน เป็นสำคัญ มีเครื่องดนตรีอื่นประกอบเช่น กลองปั้ง กลองกิ่ง ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง บางที่มี ระนาด และ พิณ ร่วมด้วย
“ลูกผึ้งลูกเทียน” คือชาวบ้านทั่วไป ที่เลื่อมใสศรัทธาเจ้าพ่อเจ้านาย มักเป็นผู้อ้อนวอนขอ เรื่องราวต่างๆจากเจ้าพ่อเจ้านาย แต่เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ความเชื่อนี้ยังคงอยู่ในยุคปัจจุบัน
ในแต่ละหอเจ้าพ่อประจำหมู่บ้านต่าง ๆ นั้น จะมีพิธีสำคัญๆ ที่ต้องกระทำไม่ให้ขาดอยู่ 2 พิธี คือ พิธีแขวนทุง (ธง) สรงหอ (เดือน 5 หลังสงกรานต์) และพิธีเลี้ยงปี (เดือน 6 ไม่เกินเข้าพรรษา)
ในพิธีเลี้ยงปีเจ้าพ่อแต่ละหมู่บ้านนั้น จะถือเป็นงานสำคัญของหอเจ้าพ่อ มีรายละเอียดมากมายและแตกต่างกันในแต่ละที่ แต่ที่เหมือนกันคือจะมีลูกผึ้งลูกเทียนจัดเครื่องเซ่นไหว้ เป็นเหล้า 1 ไหไก่ 1 ตัว ทำขัน 5 ขัน 8 รวมเรียกว่า “ขันค่าหัว” หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้บะบนไว้ มาร่วมเลี้ยงปีเจ้าพ่อ โดยการสื่อสารผ่านคาบเจ้าพ่อ ถือเป็นการแสดงความเคารพและตอบแทนพระคุณเจ้าพ่อที่ปกปักรักษาช่วยเหลือเรื่องต่าง ๆ มาตลอดหนึ่ง และเพื่อวิงวอนขอให้คุ้มครองต่อไปอีก 1 ปี จนกว่าจะมีการเลี้ยงปีในปีถัดไป
การเชิญให้เจ้าพ่อลงเทียมคาบนั้น ในอดีตจะต้องมีการลำ (บทขับกล่อมทำลองลาว) เรียกว่าลำอ่อย เพื่อเชิญให้เจ้าพ่อมาประกอบพิธีต่างๆ ซึ่งตามปกติแล้วการพูดในพิธีจะพูดเป็นสำเนียงไทหล่ม แต่เวลาลำ จะขับลำหรือร้องเป็นสำเนียงเวียงจันทน์หรือสำเนียงไทใต้ (อีสาน) เนื่องจากสำเนียงการพูดของไทหล่มไม่เอื้อต่อฉันทลักษณ์ของการออกเสียงในการลำ ในอดีตนั้น มีการลำแบบนี้ทุกหอ ซึ่งจะใช้ทั้งในการเชิญ การบอกกล่าว การปัว หรือแม้แต่การเล่น การลงข่วง ของคาบเจ้าพ่อต่าง ๆ แต่เป็นที่น่าเสียดาย การลำ นี้กำลังจะค่อย ๆ หายไป เหลือเพียงการจ่ายผญา จนกลายเป็นเพียงการพูดปากเปล่าในที่สุด ทั้งนี้เพราะ คาบเจ้าพ่อที่สามารถขับลำได้นั้น ได้เสียชีวิตลง โดยไม่มีการสืบต่อบทลำ เพราะมีการเข้าใจผิดคิดว่า กลัวว่า อายว่า จะไปเป็น คาบ สืบต่อจากคนนั้น ๆ
ค่ำคืนของวันเตรียมงานเลี้ยงปีหรือที่เรียกว่า “มื้อแต่ง” ซึ่งจะมีการตระเตรียมสิ่งของต่าง ๆ มากมาย ทั้งเครื่องสักการะ เครื่องประกอบพิธี อาหารคาวหวาน เช่น กวนข้าวปาด ห่อข้าวต้มหนมหวาน ทั้งเครื่องประกอบต่าง ๆ ตามวาระเลี้ยงปีโดยกำหนดเป็น “โตเลี้ยงปี” อันได้แก่ โตต้นหรือปีต้น คือหมู โตกลางหรือปีกลาง คือเป็ด โตปลายหรือปีปลาย คือไก่ หมุนเวียนกันไปในสามปี แต่บางหอจะกำหนดสัตว์ที่ใช้ประกอบพิธีแบบเฉพาะทุกๆ ปี โดยไม่หมุนเวียนก็มี
ในคืนมื้อแต่งนี้ จะมีการยกขันคายเชิญเจ้าพ่อเจ้านายลง “เทียม” ผู้เป็น”คาบ” ซึ่งจะเป็นไปตามลำดับ คือ “ผู้แก่ลงก่อน ผู้อ่อนลงทีหลัง” โดยจะเชิญมาเจ้าพ่อเจ้านายมา “ลงเบิ่งของ” ตรวจดูสิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้ว่า ดีหรือไม่ ครบหรือไม่ สะอาดหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ บริสุทธิ์หรือไม่ จะต้องไม่เป็นของลักของขโมย หรือซื้อขายแบบสินเชื่อมา ถ้าทุกอยากดีจะเรียกว่า “ปลอด” ถ้าไม่ดีจะสั่งให้แก้ไข ทำใหม่ เททิ้ง หรือ ยกเลิกงานเลี้ยงปีไปเลย
พิธีเลียบบ้านเลียบเมือง คือพิธีหนึ่งที่อยู่ในการเลี้ยงปีของเจ้าพ่อเจ้านายตามหอต่าง ๆ แต่จะมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยในแต่ละหอ เช่น บางหมู่บ้านจะสมมติเป็นเพียงการเวียนรอบหอ จำนวนสามรอบถือเป็นการเลียบเมือง แล้วจึงส่ง “กระทงซำฮะ” คือ กระทงรูปสามเหลี่ยมหรือเรียกว่ากระทงหน้าวัว ใส่เครื่องเซ่นต่าง ๆ บางหมู่บ้านจะทำการเดินรอบหมู่บ้านจริง ๆ โดยชาวบ้านจะรอที่หน้าบ้านของตน แล้วเตรียมของรับรองเจ้าพ่อเจ้านาย เช่น น้ำเหล้าขาว หมากพลู บุหรี่ ฝ้ายผูกแขน และข้าวเหนียว เพื่อให้เจ้าพ่อ “กวดข้าว” เอาสิ่งอัปมงคลลงกระทงซำฮะ โดยจะทำไปจนครบทุกบ้าน
จากนั้นเจ้าพ่อเจ้านายจะไปยังปากทางหมู่บ้านเพื่อส่งกระทงซำฮะ หรือที่เรียกว่า “ส่งผีหลวง” จากนั้น จะยกทุงเขตทุงแดน พร้อมทั้งขีดขั้นปันแดน เพื่อไม่ให้ผีหลวงและสิ่งอัปมงคลหวนกลับมายังหมู่บ้านอีก แม้พิธีกรรมแต่ละแห่งจะต่างกัน แต่มีจุดประสงค์เดียวกันคือ “ซำฮะ” หมายถึงการชำระสะสางสิ่งไม่ดีของจากหมู่บ้าน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจที่ดีของคนในหมู่บ้าน แต่พิธีการเดินเลียบบ้านนี้ค่อย ๆ ลดน้อยลงไป เพราะว่าใช้เวลานาน บางแห่งคาบเจ้านายแก่ชราเดินไม่ไหว ก็เลียบเมืองโดยเดินรอบหอแทน
ยังมีพิธีที่คล้ายคลึงกันนี้อีกคือ “ไล่ผีหลวง” มีลักษณะเช่นเดียวกับการส่งผีหลวง แต่จะใช้ผู้คนในหมู่บ้านมาสมมติเป็น ผีหลวง จริง ๆ มาล้อมวงกินข้าวปลาอาหาร ก่อนจะให้เจ้าพ่อไล่ออกจากเขตแดนหอประจำหมู่ จะมีการแสดงการยื้อดึงไม่ยอมออกจากหมู่บ้าน หรือดื้อด้านของผีหลวงเป็นที่สนุกสนาน จนเจ้าพ่อจะต้องลงมาปราบหรือ ไล่ผีหลวง จึงเป็นอันเสร็จพิธี ดังนั้นการส่งผีหลวง และการไล่ผีหลวง จึงมีจุดประสงค์เดียวกัน คือการขับไล่สิ่งชั่วร้ายครั้งใหญ่ในหมู่บ้าน “หลวง” จึงมาจากคำว่า “หลวงหลาย” คือใหญ่โต นั้นเอง
นอกจากนั้น เจ้าพ่อเจ้านายยังมีการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เรียกว่า “การปัว” ให้ผู้คนอีกด้วย พิธีกรรมการปัวเป็นการรักษาทางจิตวิญญาณตามความเชื่อความศรัทธาของผู้คน โดยพิธีกรรมปัว เกิดขึ้นเนื่องจากในหมู่บ้านมีคนเจ็บป่วย และรักษาไม่หาย จนต้องมีพิธีปัว เพื่อให้ทราบสาเหตุของการป่วย ซึ่งตามความเชื่อแล้ว จะมีทั้งเพราะผีเข้า หรือป่วยเพราะเจ้าพ่อเจ้าแม่ต้องการให้คนผู้นั้นเป็น “คาบ” หากได้ความว่าคนป่วยต้องรับเป็น คาบ (ร่างทรงใหม่) ของเจ้าพ่อเจ้านายแล้ว ก็จะมีการกำหนดวันทำพิธี “กินดอง” ขึ้น เพื่อให้คนนั้นเป็นคาบ หลังจากผ่านพิธีกินดองแล้ว ผู้รับเป็น คาบเจ้าพ่อเจ้านายก็จะหายจากอาการเจ็บป่วย และเป็นร่างทรงของเจ้าพ่อเจ้าแม่ของหมู่บ้านนั้นสืบต่อไป
การมีหอเจ้าพ่อเจ้านายประจำหมู่บ้านและประเพณีการเลี้ยงปีในเดือน 6 ของไทหล่มนี้ ยังสามารถพบเห็นได้ในพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นหมู่บ้านที่ไทหล่มได้อพยพไปอยู่ในภายหลัง และได้นำประเพณีตามความเชื่อนี้แผ่ขยายออกไปยังหมู่บ้านไทหล่มแห่งใหม่ เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านเช่นเดิมอีกด้วย
ประเพณีการเลี้ยงปีเจ้าพ่อเจ้านายของชาวหล่มเก่านั้น เป็นประเพณีพิธีกรรมจิตวิญญาณที่ทรงคุณค่า มีอิทธิพลต่อจิตใจของชาวบ้าน ซึ่งทำให้ผู้คนในหมู่บ้านไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำมาหากินไกลแค่ไหน ก็ต้องกลับบ้าน มาร่วมพิธีเลี้ยงปี ก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน ทำให้คนในชุมชนได้รู้จักกัน และมีปฏิสัมพันธ์อันดีต่อกัน
นอกจากนั้น ยังถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพ เป็นมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ทั้งยังเป็นแนวทางให้ดำรงตนอยู่ในจารีตประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่ เกิดความรู้สึกละอายและเกรงกลัวต่อการทำบาป ไม่ทำในสิ่งที่ขัดต่อจารีต ซึ่งส่งผลให้สังคมมีความสงบสุขร่มเย็นตามวิถีไทหล่มเก่าสืบไป …
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศุภกฤต บุญเรือง , Teerapong Srithum เอื้อเฟื้อภาพ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: