สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ 28 ประจำปีการศึกษา 2561 ในวันพุธ ที่ 11 ธันวาคม 2562 เวลา 08.45 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
วันที่ 12 ธันวาคม 2562 เวลา 08.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ 28 ประจำปีการศึกษา 2561
ซึ่งในปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมทั้งสิ้นจำนวน 3,275 ราย ระดับปริญญาตรี จำนวน 3,161 ราย ระดับปริญญาโท จำนวน 91 ราย และระดับปริญญาเอก จำนวน 23 ราย และในโอกาสนี้ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑ จำนวน ๑ คน ให้แก่ นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล และอนุมัติรางวัลรัตโนบล ประจำปี ๒๕๖๒ จำนวน ๑ ราย ให้แก่ รองศาสตราจารย์ดรุณี รุจกรกานต์ เข้ารับพระราชทานในครั้งนี้ด้วย
โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า… บัณฑิตทั้งหลายกำลังจะได้ออกไปประกอบอาชีพการงาน และดำเนินชีวิตในสังคมคงจะทราบดีอยู่แล้วว่า คนเราเมื่อมาอยู่ร่วมกันหรือทำงานร่วมกัน ก็อาจจะมีความคิดความเห็นที่สอดคล้องต้องกันบ้าง ขัดแย้งสวนทางกันบ้าง อยู่เป็นปกติ การจะดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงานให้ได้โดยราบรื่น แต่ละคนแต่ละฝ่ายจึงต้องรู้จักพูดคุยปรึกษาหารือกันด้วยเหตุผล
ข่าวน่าสนใจ:
- เด็กพังงาโชว์รำเคบายาฉลองมรดกโลก เปิดงานแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 นักเรียนมัธยม 3 จังหวัดฝั่งอันดามันเข้าร่วมกว่า 2,000 คน
- "ผู้ว่าฯ นครพนมนำทีม! ปลูกผักสวนครัวสู่ความมั่นคงทางอาหาร แนวพระราชดำริ 'THE CONCEPTS OF CHANGE FOR 5 G'"
- เตรียมความพร้อมศึกจักรยานทางไกลนานาชาติ เฉลิมพระเกียรติฯ จ.สระแก้ว
ข้อนี้ หมายความว่า ไม่ว่าแต่ละคนจะมีความคิดความเห็นอย่างไรก็ตาม จะต้องตั้งอยู่บนเหตุผลความเป็นจริง แล้วนำเหตุผลทั้งนั้นมาพิจารณาร่วมกันด้วยใจที่เปิดกว้าง เพื่อให้วินิจฉัยตัดสินได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรง ไม่ใช่นำเหตุผลมาเอาชนะคะคานกัน หรือนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้ได้ทำตามความต้องการของผู้ใดผู้หนึ่ง. จึงขอให้บัณฑิตทำความเข้าใจเรื่องเหตุผลดังที่กล่าวนี้ให้ทราบชัดแล้วนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ ให้บังเกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงาน.
และในปีนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมคณะผู้บริหารทูลเกล้าถวาย “ผ้าไหมทอมือลายโบราณ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฤกษ์ชัย ศรีวรมาศ ประธานสภาอาจารย์ ทูลเกล้าถวาย “หนังสือมรดกภูมิปัญญาสิ่งทออีสาน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชริดา ปุกหุต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ทูลเกล้าถวาย “ผ้าไหมกาบบัว” นางสาวจุฑาทิพย์ เครือนพคุณ อาจารย์พิเศษคณะวิทยาศาสตร์ ทูลเกล้าถวาย “ลูกโลกแห่งการประสูติศริสต์มาส” และ “ชุดเครื่องเงิน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรศักดิ์ คำคง คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ทูลเกล้าถวาย “ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ ลายน้ำไหล” และหนังสือ “Analyzing Fiction An Introductory Guide for Readers of English Fiction”
รองศาสตราจารย์สมหมาย ชินนาค อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ทูลเกล้าถวาย หนังสืองานวิจัย “พื้นที่ชุ่มน้ำ : จากมุมมองเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” และหนังสือ “ปลา” กับ “เกลือ” วิถีวัฒนธรรมสายสัมพันธ์สองฟากฝั่งพนมดองแร็ก (อีสานใต้-กัมพูชา) กรณีศึกษา “สุรินทร์-อุดรมีชัย-พระตะบอง” ในมิติเชิงมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สงวน ธานี คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ทูลเกล้าถวาย “ผ้าไหมลายกาบบัวประยุกต์ยกขิด”
รองศาสตราจารย์รุ่งรัศมี บุญดาว คณบดีคณะบริหารศาสตร์ ทูลเกล้าถวาย “ผ้าไหมลายลูกแก้วสีฟ้า (ลายดั้งเดิม)”
นายมีชัย แต้สุจริยา ผู้ทรงคุณวุฒิ ทูลเกล้าถวาย “ผ้าไหมกาบบัวเมืองอุบลราชธานี” และ ดร.คำล่า มุสิกา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ทูลเกล้าถวาย “หนังสือผ้าทอเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย”
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดการเรียนการสอนมาแล้ว ๓๐ ปี ในปีการศึกษา ๒๕๖๒ มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนจำนวน ๗๑ หลักสูตร มีนักศึกษารวมทั้งสิ้น จำนวน ๑๖,๓๔๒ คน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มุ่งเน้นการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการและวิชาชีพ สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง บริการวิชาการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลายของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
—————————————
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ข่าว/ภาพ
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการพิเศษ ม.อุบลฯ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: