อุบลราชธานี – ม.อุบลฯ แถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปี 2563 ครั้งที่ 1
เมื่อวันอังคารที่ 28 มกราคม 2563 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดงานแถลงข่าวผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปี 2563 ครั้งที่ 1 ณ Joint Space ถนนเทพโยธี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แถลงผลงานวิจัยและมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.กุลเชษฐ์ เพียรทอง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ นายจริง ดินเชิดชู ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด พลังเทวดา นักวิจัยที่ได้รับรางวัล “Thailand Energy Awards 2019” จากกระทรวงพลังงาน
โดยมีผลงานวิจัยและนวัตกรรม หม้อไอน้ำชีวมวลประสิทธิภาพสูง เตาชีวมวลทรงกระบอก และเครื่องผลิตลมร้อน ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่น ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน (Innovation on Alternative Energy) ผลงาน หม้อไอน้ำชีวมวลประสิทธิภาพสูงใช้ขี้เลื่อยสำหรับ SME ในงานประกวดด้านพลังงาน ระดับประเทศ Thailand Energy Award 2019
ข่าวน่าสนใจ:
เตาชีวมวลทรงกระบอก หรือ เตาเทวดา คือ เตาเหล็กทรงกระบอก ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลบดละเอียด อัดแน่น เป็นชั้น ๆ ลงในเตา มีช่องอากาศเข้าด้านล่าง และปล่องเปลวไฟด้านบน และเครื่องผลิตลมร้อน “พลังเทวดา” เป็นเครื่องผลิตลมร้อน ที่ออกแบบมาพิเศษให้ทำงานร่วมกับเตาชีวมวลทรงกระบอก
โดยลมร้อนสามารถนำไปใช้ในขบวนการอบแห้งต่าง ๆ ได้ เหมาะกับงานในระดับ SME หรือ วิสาหกิจชุมชนขนาดใหญ่ ๆ สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานของงานอบแห้งได้มากกว่า 10 เท่า เทียบกับการใช้แก๊ส LPG หรือ ไฟฟ้า และสามารถควบคุมอุณหภูมิและสภาวะในห้องอบแห้งได้เป็นอย่างดี ลดระยะเวลาในการอบแห้งได้มากกว่า 5 เท่า ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มกำลังการผลิตได้มาก
และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ได้รับรางวัล “2019 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award” จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยมีผลงานวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยานาโน/ตัวดูดซับนาโน เพื่อท้องฟ้าสดใสไร้มลพิษ
เป็นการศึกษาเชิงทฤษฎีด้วยการการคำนวณเคมีควอนตัมของตัวเร่งปฏิกิริยา/ตัวดูดซับชนิดต่าง ๆ ด้วยวิธีทางเคมีคำนวณที่มีความแม่นยำสูง ได้แก่ วิธี Density Functional Theory ซึ่งผลการศึกษาของโครงการวิจัยชิ้นนี้ จะสามารถนำมาใช้เพื่อคัดกรอง (screening) ชนิดของตัวเร่งปฏิกิริยา/ตัวดูดซับ ที่จะมีการพัฒนาชิ้นงานในระดับห้องปฏิบัติการจริง เพื่อช่วยในการออกแบบพัฒนาวัสดุดูดซับในการกำจัดสารที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีประสิทธิภาพสูงพอสำหรับการนำไปใช้ในภาคสนามต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจหลักในการวิจัยและการให้บริการวิชาการ มียุทธศาสตร์ในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ท้องถิ่นและพัฒนาสู่ระดับสากล และให้บริการวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและยกระดับเศรษฐกิจของอีสานใต้
มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นความสำคัญการพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่และยกระดับเศรษฐกิจพื้นที่ได้จริง ซึ่งผลงานวิจัยที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้พัฒนาและสามารถนำไปใช้งานได้จริง
ซึ่งภายในงานยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมไม่ว่าจะเป็น ที่ครอบสวิตซ์ไฟเรืองแสงในที่มืดจากยางพารา ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติยา วงษ์ขันธ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักเกียรติ จิตคติ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์
แบบจำลองบ้านประหยัดพลังงาน (Saving Energy Building) ผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักเกียรติ จิตคติ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์
อุปกรณ์ต่อพ่วงระบบเครือข่ายแบบมีเซอร์วิส ผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวิน นามมั่น อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ และการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในครัวเรือนแบบยั่งยืน ผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย อันพิมพ์ อาจารย์ประจำคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ซึ่งผลงานวิจัยเหล่านี้สามารถพัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประชาชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และนำผลการศึกษาและโครงการไปขยายผลกับชุมชนอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ผลงานวิจัยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อผู้ที่สนใจสามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดเครือข่ายการวิจัยร่วมกันในอนาคตที่สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการงานวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยของมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานอื่น ๆ ในอนาคตต่อไป
—————————————–
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: