อุบลราชธานี – ที่ริมถนนชยางกรู เขตบ้านหนองแฝก ต.ยางสักกระโพลุ่ม อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นถนนสายเหลักใช้เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีไปจังหวัดอำนาจเจริญ มีชาวสวนปลูกพืชผักสวนครัวใจดีคือ นายสุรยุทธ ขันเงิน อายุ 50 ปี หรือรู้จักกันในชื่อของช่างโจ ช่างซ่อมรถจักรยานประจำหมู่บ้าน
นำผักที่ปลูกเป็นรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวตามฤดูกาล อาทิ พริก มะเขือ สะระแหน่ หัวผักกาด หัวไชเท้า รวมทั้งผักอื่นๆที่เจ้าของสวนแห่งนี้ไม่ได้ปลูก แต่มีชาวสวนในละแวกใกล้เคียงที่ทราบเรื่อง นำฝากมาให้ช่วยแจกกับประชาชนที่ต้องการรวมกันวันละ 200-300 กิโลกรัม
สำหรับวันนี้ นอกจากแจกผักแล้ว ยังมีแฟนเพจของช่างโจ ที่ทราบเรื่องได้ฝากเจลใช้ล้างมือฆ่าเชื้อโรค พร้อมหน้ากากผ้าอีกจำนวนหนึ่ง ให้ช่างโจช่วยแจกแก่ผู้ต้องการอีกแรง โดยผักที่นำมาวางแจกนี้ เริ่มเวลาแจก 16.00 ถึง 18.00 หรือจนกว่าผักจะหมดในทุกวัน
นายสุรยุทธ หรือช่างโจ เล่าถึงแรงบันดาลใจที่นำผักมาวางแจกหน้าร้านซ่อมรถของตน โดยแรกก่อนมีการระบาดของโรคโควิด 19 ตนก็ได้แจกผักให้กับเพื่อนบ้านที่รู้จักในหมู่บ้านแบ่งกันไปกินเป็นประจำ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนช่วงเศรษฐกิจไม่ดี
กระทั่งเกิดโรคระบาดโควิด 19 เห็นผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างรายวัน คนหาเช้ากินค่ำ แม่บ้าน คนตกงาน ที่ไม่มีรายได้ หรือมีกำลังซื้อต่ำได้รับผลกระทบ ส่วนผักที่ตนเองปลูก รถที่มารับซื้อผักก็น้อยลง เพราะการลำเลียงผักเข้าสู่ตลาดก็ลำบาก จึงตัดสินใจนำผักที่ปลูกทั้งหมดจากพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ออกมาวางไว้บนโต๊ะริมถนน พร้อมกับขึ้นป้ายแจกให้เอาไปกินฟรี มาตั้งแต่เดือนก่อน
ซึ่งก็มีคนที่ขับรถผ่านไปมาก็มาเลือกหยิบเอาผักที่ต้องการไปปรุงเป็นอาหารได้ตามใจชอบ โดยไม่มีกำหนดจะมากหรือน้อย เพราะคนที่มาเอาผักก็รู้ดีว่าต้องเอาไปใช้เท่าไหร่ เพราะวันรุ่งขึ้นกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะหวนกลับมาเลือกเอาผักของวันใหม่ไปปรุงเป็นอาหารอีก ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญที่ได้บุญมากในช่วงนี้
นอกจากจะมีผักของตนที่เอามาแจกแล้ว ปรากฏว่า แม่ค้ารับซื้อผักส่งเข้าตลาด รวมทั้งเพื่อนบ้านที่ทราบว่าตนตั้งโต๊ะแตกผักฟรี ก็เอาผักมาฝากให้ตนช่วยแจกให้กับคนตกทุกข์ได้ยากในยามนี้ด้วย ทำให้นอกจากมีผักจากสวนของตนแล้ว ก็ยังมีผักจากที่ต่างๆเข้ามาช่วย ทำให้มีผักแจกได้ตลอดทุกวันๆละ 200-300 กิโลกรัม
ตนจึงตั้งใจจะแจกไปจนกว่าผักที่สวนจะหมด ซึ่งคงใช้เวลาอีกนานหลายเดือน เพราะยังมีผลผลิตออกมาเรื่อยๆ ส่วนตนแม้รายได้เสริมจากการปลูกผักจะหายไปในช่วงนี้ แต่ก็ไม่ลำบากมาก เพราะอยู่บ้านนอก บ้านไม่ได้เช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ กับข้าวก็มีอยู่เต็มสวน จึงไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ ก็จะขอแจกผักไปเรื่อยๆทุกวัน โดยไม่ได้หวังอะไรตอบแทน
ด้านนางสาวละไม โพธิ์ศรี ชาวบ้านที่มาเอาผักที่ช่างโจแจกกล่าวว่า ดีใจที่ได้เห็นสังคมแห่งการแบ่งปันเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติมีคนตกงาน และเห็นความมีน้ำใจของช่างโจที่นำผักปลูกเองมาแจก รวมทั้งความมีน้ำใจของแม่ค้าผักที่เอาผักมาให้ช่างโจช่วยแจก อยากให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันแบบนี้กระจายไปทั่วทั้งประเทศไทยก็จะดีมาก
เกียรติรัตน์ ชัยสกุลวงศ์ ข่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: