อุบลราชธานี – นักวิชาการวอนราชการตรวจคัดกรองสุขภาพแรงงานเมียนมา เกรงเป็นแหล่งแพร่เชื้อ
บรรยากาศของแรงงานชาวเมียนมา ซึ่งมาทำงานที่โรงงานเย็บผ้าแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี พากันเดินจับจ่ายซื้ออาหารสด และอาหารปรุงสำเร็จแบบเบียดเสียด เพื่อนำกลับไปกินยังที่พักที่อยู่ไม่ห่างจากสถานที่ทำงานมากนัก โดยทั้งหมดเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฏหมายราว 700-800 คน จากคนงานทั้งหมดของโรงงานกว่า 3,500 คน
นอกจากนี้ เมื่อดูสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานเหล่านี้ จะจับกลุ่มทำอาหารกินร่วมกัน และพักอาศัยอยู่รวมกันห้องหนึ่ง 2-3 คน
ทำให้รองศาสตราจารย์สมหมาย ชินนาค อาจารย์มหาวิทยาอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องชุมชนข้ามถิ่นที่ของแรงงานข้ามชาติเมียนมาของจังหวัดอุบลราชธานี เกิดความเป็นห่วง หลังมีการระบาดของไวรัสโควิด 19 หากไม่มีมาตรการที่ดี แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมานี้ อาจกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคขนาดใหญ่
แม้ทางผู้ประกอบการมีมาตรการเข้มงวดกวนขัดให้แรงงานชาวเมียนมาและชาวไทยทุกคน ต้องสวมหน้ากากผ้าทุกครั้งที่จะเดินทางมาทำงาน และก่อนเข้าทำงานต้องตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกาย พร้อมต้องเดินผ่านอุโมงค์พ่นฆ่าเชื้อโรค ก่อนจะอนุญาตให้เข้าสู่ตัวอาคารของโรงงาน
ซึ่งรองศาสตราจารย์สมหมาย กล่าวว่า ไม่เป็นห่วงสำหรับมาตรการคัดกรองของโรงงานที่ทำดีอยู่แล้ว แต่เป็นห่วงหลังแรงงานกลับไปอยู่ตามหอพักต่างๆ ซึ่งไม่มีการคัดกรองที่ดีพอ อาจกลายเป็นปัญหาของการระบาดของเชื้อโรคได้ เพราะแรงงานหลายคนไม่ยอมใส่หน้ากากเมื่ออยู่นอกโรงงาน หรือตอนเข้าซื้อของใช้ตามร้านค้าในชุมชน
จึงต้องการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามากวดขันกำชับให้แรงงานเหล่านี้ปฏิบัติตัวตามข้อกำหนดของคณะกรรมการโรคระบาดที่ได้กำหนดให้มีการทิ้งระยะห่าง รวมทั้งต้องสวมหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่นอกที่พักอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้งก็ยังดี เพื่อป้องกันเกิดการแพร่ระบาดในอนาคต
ด้านนาย ซาย เน ลิน อ่อง (Sai Nay Lin Acing) ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลของโรงงานและเป็นหัวหน้าของแรงงานชาวเมียนมากล่าวว่า หลังเกิดโรคระบาดโรงงานมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อ พร้อมมีมาตรการเข้มงวดกับแรงงานมากขึ้น ทั้งการต้องสวมใส่หน้ากาก ก่อนและหลังเข้าทำงานในโรงงาน โดยโรงงานเป็นผู้จัดหาหน้ากากให้แรงงานสวมใส่และใช้ผลัดเปลี่ยน 10 ชิ้นต่อคน รวมทั้งยังมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การเดินเข้าอุโมงค์ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคก่อนเข้าโรงงานทุกคน
สำหรับแรงงานที่เดินทางกลับจากที่ต่างๆ ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และต้องได้รับการตรวจคัดกรอง เพื่อขอใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาล ก่อนกลับเข้าไปทำงานได้
แต่ยอมรับว่า แรงงานเหล่านี้ หลังออกจากโรงงาน ก็ไม่ชอบปฏิบัติตัวให้เคร่งครัดตามระเบียบ ไม่ชอบสวมใส่หน้ากากเวลาออกไปซื้อของกินของใช้ตามร้านค้าชุมชนใกล้ที่พักอาศัย แม้ตนพยายามตักเตือน แต่หลายคนก็ไม่เชื่อ จึงต้องการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อสม.ของไทยมากวดขันกับแรงงานเหล่านี้ จะได้เกรงกลัวไม่กล้าฝ่าฝืนกฏระเบียบด้วย
ด้านนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หลังทราบมีแรงงานฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากระหว่างออกจากที่พัก และไม่มีการทิ้งระยะห่างพอสมควร จะให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและแรงงานเข้าตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ตามที่พัก เพื่อควบคุมแรงงานชาวเมียนมาที่มาทำงานปฏิบัติตามคำสั่งของจังหวัด หากไม่ปฏิบัติตามก็ต้องถูกดำเนินการตามระเบียบของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดต่อไปด้วย
และที่ผ่านมายังไม่มีรายงานแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานที่จังหวัดอุบลราชธานี ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่ก็จะเข้าไปทำการป้องกันเพิ่มเติมในส่วนที่ยังบกพร่องต่อไป
เกียรติรัตน์ ชัยสกุลวงศ์ ข่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: