อุบลราชธานี-คณะเกษตร ม.อุบลฯ จัดทำชั้นพืชผักปันสุข แจกกล้าผักสวนครัวเกษตรกร 1.5 หมื่นต้น ช่วยวิกฤตโควิด-19
คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดทำโครงการชั้นพืชผักปันสุข เพาะพันธุ์ต้นกล้าพืชผักสวนครัวจำนวนกว่า 15,000 ต้น แจกเกษตรกรชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ให้ก้าวผ่านช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยเกษตรกรรับต้นกล้า สามารถนำไปเพาะปลูกรับประทานในครัวเรือน หรือ แบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านสร้างความสุขทางใจในสังคม โดยมีกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย เข้ารับพันธุ์ต้นกล้าจำนวนมาก ณ เรือนเพาะชำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา
ดร.นรินทร บุญพราหมณ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนวิถีชีวิตของชุมชนที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและปลอดภัย ดังนั้น คณะเกษตรศาสตร์ จึงได้ดำเนินโครงการเร่งด่วนให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในชุมชนสำรวจความต้องการของชุมชน พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความต้องการ เพาะปลูกพืชผักสวนครัว สำหรับบริโภคในครัวเรือน คณะเกษตรศาสตร์ โดยภาควิชาพืชสวน จึงได้ดำเนินการเพาะเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิด ซึ่งเป็นพืชผักพื้นฐานในการประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน โดยส่งมอบให้กับกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร ในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย อาทิ ตำบลศรีไค ตำบลโพธิ์ใหญ่ ตำบลคำขวาง เป็นต้น
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง เอกพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวนคณะเกษตรศาสตร์ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่าโครงการชั้นพืชผักปันสุข ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหาร บุคลากร คณะเกษตรศาสตร์ ร่วมสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการเพาะพันธุ์พืชผักสวนครัว จำนวน 6 ชนิดพันธุ์ ได้แก่ แตงกวา พริก มะเขือ กะเพรา โหระพา และแมงลัก จำนวน 15,000 ต้น แจกผ่านชั้นปันสุข ให้เกษตรกรรายละ 1-2 ถาด พร้อมให้เกษตรกรเข้าแถวเว้นระยะห่าง เข้ารับพันธุ์กล้าตามชนิดความต้องการอย่างเป็นระเบียบ
ทั้งนี้ ภายหลังจากเกษตรกรนำไปเพาะปลูกที่บ้านแล้ว เจ้าหน้าที่โครงการจะได้ลงพื้นที่ติดตามสำรวจข้อมูลผลการดำเนินงาน นำไปสู่การดำเนินโครงการอย่างยั่งยืนต่อไป โครงการชั้นพืชผักปันสุข นอกจากเกษตรกรจะได้บริโภคพืชผักที่สะอาดและปลอดภัยในครัวเรือนแล้ว เกษตรกรยังสามารถนำผลผลิตไปแบ่งปัน หรือจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการบริการวิชาการแก่สังคม ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในด้านการถ่ายทอดความรู้ ร่วมฟื้นฟูให้ความช่วยเหลือสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรในชุมชน ตลอดจน คณะ/หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยร่วมบูรณาการในทุกศาสตร์ ให้ความช่วยเหลือ คิดค้นนวัตกรรมสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ ผลิตเครื่องUBU-UVC ฆ่าเชื้อไวรัส Covid-19 ทำแท่นกดเจลโดยใช้เท้าเหยียบ ทำแผงฉากกั้นคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น จัดทำเจลอนามัย ทำหน้ากากเฟสชิว สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสอย่างเคร่งครัด โครงการชั้นพืชผักปันสุข จึงเป็นอีกโครงการที่สนับสนุนแก่เกษตรกรช่วงวิกฤตโควิด-19 พร้อมนำไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน”
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: