อดีตนายกฯแนะการศึกษาไทยต้องกระจายอำนาจ การจัดการศึกษาต้องยืดหยุ่น ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ชี้คุณภาพชาติขึ้นกับคุณภาพคน
อุบลราชธานี : นายนพพร พันธุ์เพ็ง สื่อมวลชนอาวุโส ได้สรุปประเด็น ทิศทางการศึกษาไทยในมุมมองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทางสถานีโทรทัศน์ TNN2 วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2560 ดังนี้
อดีตนายกฯอภิสิทธิ์ได้สะท้อนถึงปัญหาการศึกษาของไทยในภาพรวมจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ1.ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน – ระดับวิชาชีพ ในระดับนี้จะมีปัญหาที่สำคัญหลายเรื่อง 1.1 ผู้เรียนออกกลางครัน 1.2 ผู้เรียนยังค้นไม่พบตัวเอง ขาดเป้าหมายในการเรียน 1.3 การใช้ภาษาต่างประเทศ 1.4 การใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่นำไปสู่การเรียนรู้ 1.5 เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่ ทำให้ขาดการพัฒนาด้านสมอง 1.6 ผู้เรียนเลือกเรียนสายสามัญมากกว่าสายวิชาชีพ
2.ระดับอุดมศึกษา ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นคนรุ่นใหม่ต้องการเป็นผู้ประกอบการเองมากกว่าเป็นลูกจ้าง แต่ทั้ง 2 ระดับมีปัญหาร่วมกันคือ ระบบการศึกษาในปัจจุบันสอนให้คนรู้ แต่นำเอาไปใช้ในชีวิตจริงไม่ได้
การปฏิรูปการศึกษาในมุมมองของอดีตนายกฯอภิสิทธิ์เสนอไว้ 2 แนวทาง คือ 1.เน้นการกระจาย อำนาจ ให้สถานศึกษาบริหารกันเอง(แต่ไม่ได้ระบุว่า ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล) 2.การจัดการศึกษาต้องมีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ง่าย (แต่ไม่ได้ขยายความลงรายละเอียด) และ 3.ต้องให้ภาคส่วน อื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
บทสรุปท้ายสุดอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ตอกย้ำว่า คุณภาพของประเทศขึ้นอยู่คุณภาพของคน และคุณภาพของคนขึ้นอยู่กับคุณภาพของการศึกษา แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้นายกรัฐมนตรีนั่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ
ความเห็นส่วนตัวของผู้สรุปประเด็น อดีตนายกฯอภิสิทธิ์และพิธีกรให้เวลากับการคุยถึงปัญหามากเกินไป ทำให้มีเวลาพูดเรื่องการปฏิรูปหรือทางออกน้อยจนขาดรายละเอียด จึงเสนอว่าให้เน้นทางออก/หรือทิศทางการปฏิรูปเพราะปัญหาที่พูดมา เป็นปัญหาที่หลายฝ่ายรับรู้อยู่แล้ว อยากให้เน้นทางออกที่เป็นรูปธรรมชัดเจน
สรุปประเด็นโดย : นพพร พันธุ์เพ็ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: