X

ภาคประชาชน สะท้อนปัญหาน้ำท่วมอุบล 62 เสนอรัฐให้ส่งเสริมชุมชนจัดการตนเอง ลดระเบียบราชการ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

อุบลราชธานี – ภาคประชาชน สะท้อนปัญหาน้ำท่วมอุบลปี 62 เสนอรัฐให้ส่งเสริมชุมชนจัดการตนเอง พร้อมลดระเบียบราชการ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมศูนย์แสดงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี (OTOP CENTER) ศูนย์พัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีสาธารณะเสวนาในหัวข้อ “การบริหารจัดการกับภัยพิบัติอุทกภัยของชาวอุบลราชธานีปีที่ 1 :ภาพสะท้อนผลกระทบจากชาวอุบลราชธานี” ครั้งที่ 2 โดยมีรองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานกล่าวเปิดในพิธี

โดยเวทีครั้งนี้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เปิดรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาชน และสื่อมวลชน เพื่อหาแนวทางบูรณาการและวิธีการแก้ไขจัดการปัญหาน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีอย่างยั่งยืน ทั้งนี้มีเครือข่ายภาคประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา เข้าร่วมแลกเปลี่ยนถอดบทเรียนหาทางออกเตรียมความพร้อมสำหรับภัยพิบัติอุทกภัยครั้งต่อไป

นางหนูเดือน แก้วบัวขาว เครือข่าย คปสม. อุบลฯ เปิดเผยว่า ในช่วงน้ำท่วมปี 2562 ที่ผ่านมา มวลน้ำมาเร็วประชาชนเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ไม่ทัน ซึ่งจากเหตุการณ์นั้นทำให้ชุมชนเรียนรู้ถอดเป็นบทเรียนว่าชุมชนจะต้องรู้จักการจัดการปัญหาด้วยตนเอง ทั้งนี้จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาส่งเสริม เช่น หน่วยงานราชการลงมาให้องค์ความรู้การประกอบเรือสำหรับชุมชน สอนการเอาตัวรอดในภาวะวิกฤต เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเสนอและผลักดันให้ชุมชนจัดการภัยพิบัติด้วยตนเอง เพราะจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าการจัดการภัยพิบัติของหน่วยงานราชการล่าช้า โดยทางออกที่ดีควรแก้ไข พ.ร.บ. ภัยพิบัติ ปี2550 กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้หน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจสามารถประกาศภาวะภัยพิบัติได้ทันที

ต่อมา นางอัฐฌาวรรณ พันธุ์มี เครือข่ายบ้านมั่นคง จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า น้ำท่วมปี 2562 การสื่อสารของภาครัฐยังไม่ชัดเจนชะล่าใจ ไม่ประกาศเตือนภัยประชาชน และเมื่อมวลน้ำเคลื่อนตัวมาอย่างรวดเร็วประชาชนไม่สามารถรับมือได้ทัน นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาการเคลื่อนตัวของน้ำเปลี่ยนกระแสทิศ ชุมชนใช้ภูมิปัญญาการสังเกตแบบเดิมจึงทำให้ขนย้ายสิ่งของไม่ทัน ทั้งนี้สภาพความเป็นอยู่ในศูนย์อพยพที่มีหลากหลายชุมชนการใช้ชีวิตของชาวบ้านในศูนย์เป็นไปยากลำบาก เต้นท์พักพิงไม่เพียงพอ

และนอกจากนี้ภายในศูนย์อพยพยังเต็มไปด้วยปัญหา เช่น ระบบสุขอนามัย ที่พัก อาหาร  ซึ่งตนจึงอยากเสนอแนวทางจัดการ โดยเริ่มจากแก้ไขระเบียบ กฎหมาย การประกาศภัยพิบัติ เพราะเหตุภัยพิบัตินั้นเกิดนอกเวลาราชการ หากรอแต่ระเบียบการที่หลายขั้นตอนนั้นเห็นว่าการช่วยเหลือประชาชนจะไม่ทันการและถัดมากรณีน้ำลดการเยียวยาซ่อมแซมบ้านเรือนของภาครัฐมีระเบียบประเมินโครงการอาคารที่ซับซ้อนไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน เพราะบ้านของประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีโครงการสร้างที่ชัดเจนตามที่ภาครัฐกำหนด

ส่วนแนวทางต่อมาควรส่งเสริม ให้ชุมชนริมน้ำมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา พร้อมกับจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติให้ประชาชนผู้ประสบภัยจัดสร้างครัวกลางและหาจิตอาสาทำอาหารขณะเกิดภัยพิบัติ โดยสิ่งเหล่านี้จะทำให้ชุมชนรู้จักจัดการปัญหาด้วยตนเองและอย่างยั่งยืน

นายประยุทธ์ ชุมนาเสียว ประธานเครือข่ายองค์กรชุมชนอุบลศรีวนาไล เสนอว่า การแก้ไขปัญหาน้ำ ควรนำศาสตร์พระราชาเข้ามาใช้ โดยนำหลักการสร้างแก้มลิงแบบใหญ่และเล็กมาปรับใช้ พร้อมสร้างการพัฒนาแบบบูรณาการของเครือข่ายสร้างมติมหาชนให้ยึดชุมชนเป็นที่ตั้งให้ชาวบ้านในพื้นที่มีร่วมตัดสินใจต่อการแก้ไข

ด้าน นายวิทยา แก้วบัวขาว เครือข่าย คปสม. อุบลฯ กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมไม่สามารถแก้ไขได้สิ่งที่ทำได้ขณะนี้คือการบรรเทา ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมหน่วยงานราชการทำงานล่าช้าคนน้อย ประเมินสถานการณ์ไม่ชัดเจนและขณะเกิดภัยพิบัติก็ไม่สามารถสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้จึงอยากเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันโครงการส่งเสริมให้ชุมชนรู้จักช่วยเหลือตนเอง เช่น อบรมการกู้ชีพ สอนวิธีการประกอบเรือและความรู้ด้านต่างๆขณะเกิดภัยพิบัติ เพราะสิ่งที่เหล่านี้เองจะทำให้ชุมชนสามารถอยู่ได้แบบเข้มแข็ง

ต่อมาตัวแทนสื่อมวลชน ชลธิษ จันทร์สิงห์ นายกสมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันจัดการ โดยภาครัฐควรตั้งศูนย์บัญชาการขณะเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน รวดเร็ว แม่นยำ ทันเหตุการณ์ ซึ่งหากอนาคตสามารถก่อตั้งได้จะทำให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างทันท่วงที

และส่วนด้านการสื่อสารในโลกออนไลน์นับว่าเป็นเรื่องอันตรายทุกคนมีสิทธิเป็นผู้ส่งสาร ทั้งนี้ปัจจุบันผู้รับสารทุกคนต้องรู้จักวิเคราะห์ข้อมูลข่าวจริงหรือปลอม ใช้หลักการวิเคราะห์ข่าวสารโดยสังเกตจากแหล่งที่มาหรือข้อมูลที่เกินจริง ซึ่งส่วนนี้ภาคประชาชนต้องสร้างภูมิต้านทานสำหรับการรับข่าวสารในยุคดิจิตอลให้เข้มแข็งทันต่อสถานการณ์

มัสยา คำแหง มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต (Nature care) กล่าวถึงภาพรวมของเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า ข้อสรุปของภาคประชาชนต่อการจัดการปัญหาน้ำท่วม 1)ด้านข้อมูล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเชื่อมโยงข้อมูลนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์และเตรียมแผนจัดการสำหรับภัยพิบัติ  2)ด้านการสื่อสาร ปรับการส่งสารพร้อมแปลเนื้อหาที่เข้าใจยากเป็นเรื่องง่ายและต้องสื่อสารเร็วให้ทันสถานการณ์ พร้อมตั้งศูนย์รวมการสื่อสาร  3)ด้านการฟื้นฟู ปรับระเบียบและขั้นตอนที่แข็งตัวให้มีความยืดหยุ่น การประเมินความช่วยเหลือยังไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาไม่ตอบสนองของประชาชน

และข้อเสนอของภาคประชาชนที่ชุมชนยังต้องการคือแผนจัดการตนเอง เตรียมคน ความรู้ เครื่องมือและศูนย์จัดการภัยพิบัติอย่างมีส่วนร่วม จัดตั้งกองทุนภัยพิบัติ ส่งเสริมการสร้างเรือของชุมชนให้องค์ความรู้ใหม่ ผลักดันการการจัดการด้วยตนเอง

ชิษณุพงศ์ สนุทรพาณิชย์ เรียบเรียง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สุชัย เจริญมุขยนันท

สุชัย เจริญมุขยนันท

นิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลักสูตรโปรดิวเซอร์ เนชั่น วิทยากรพิราบน้อย โครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุ มูลนิธิหมอชาวบ้าน วิทยุเนชั่น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยประจำจงอุบลราชธานี ผู้จัดการศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลราชธานี ปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้อำนวยการทีวีชุมชนอุบลราชธานี E : [email protected] F : ทีวีชุมชนอุบลราชธานี T : 0818786440 LINE : SUCHAINEWS