อุบลราชธานี- มูลนิธิประชาสังคมจ.อุบลฯ เตรียมพร้อมสู่สังคมสูงวัย เริ่มสร้างเงินออม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง ลดการพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยที่สุด
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563 ณ หอประชุมศาลาประชาวิน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น มูลนิธิประชาสังคม จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เทศบาลวารินชำราบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี จัดเวทีเสวนาเติมเต็มความรู้ ชุมชนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย ภายใต้บริบทใหม่ หลังโควิด-19 ภายใต้ชุดโครงการ:การพัฒนาเมืองเพื่อรองสังคมสูงวัย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยภายในเวทีเสวนามีผู้นำท้องถิ่นจาก 4 เขตพื้นที่ ร่วมแลกเปลี่ยนการเตรียมความพร้อมและแนวแก้ไขปัญหาสำหรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคต
นายจีระชัย ไกรกังวาร นายกเทศมนตรีเมืองวารินชำราบ เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เมืองวารินชำราบเองนั้นได้ดูแลคนทุกกลุ่ม โดยในเขตส่วนของพื้นที่เมืองวารินชำราบได้ดูแลตั้งแต่กลุ่มเด็ก วัยทำงานและผู้สูงวัย แต่จะเน้นพิเศษในเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น ด้านจัดการเตรียมความพร้อมเริ่มปรับปรุงสวนสาธารณะและโรงเรียนให้มีพื้นที่มากขึ้นสามารถทำให้ผู้สูงอายุใช้ออกกำลังกายได้ ทั้งนี้ภาครัฐและท้องถิ่นต้องเร่งสนับสนุนสิ่งต่างๆที่ขาดเหลือ โดยทางเมืองวารินชำราบยึดแนวหลักที่ว่า “วารินเมืองน่าอยู่” ความน่าอยู่จะต้องตอบโจทย์รองรับสังคมทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะสังคมผู้อายุสูงให้สามารถดูแลตนเองได้ไม่ต้องมาเป็นภาระของครอบครัว ชุมชนและประเทศ ดังนั้นทุกภาคส่วนหรือส่วนกลางต้องเร่งเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ให้มีความมั่นคงและเข้มแข็ง
นายทรงกรด ไกรกังวาร นายกเทศมนตรีตำบลแสนสุข กล่าวถึงสถานการณ์สังคมสูงวัยว่า ในส่วนของเทศบาลตำบลแสนสุขมีผู้สูงอายุอยู่ในพื้นที่ทั้งหมด 14% ของประชากร ซึ่งทางเทศบาลเองได้ให้ความสำคัญอย่างมากในกลุ่มผู้สูงอายุส่งเสริมกลุ่มผู้สูงอายุให้มีความเข้มแข็งดูแลตนเองได้ ซึ่งมีหลายหน่วยงานเข้ามาพัฒนาสนับสนุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยทางเทศบาลจะเน้นการทำงานกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและชุมชนบริหารจัดการตนเองพร้อมหนุนเสริมองค์ความรู้ใหม่ให้ชุมชนในส่วนที่ขาดเหลือ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทำให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ด้าน นายสมบูรณ์ โสภีพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งหวาย เผยว่า พื้นที่ตำบลบุ่งหวายมีสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 14% ของจำนวนประชากร ซึ่งมีแนวโน้มจะเตรียมเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์และด้านการรองรับมาตรการเตรียมความพร้อมทางตำบลบุ่งหวายได้ให้ความสำคัญกับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เน้นการจัดการปัญหามลพิษและขยะ รวมไปถึงการดูแลกลุ่มเปราะบางผู้ป่วยติดเตียง และนอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสาธารณะช่างชุมชนอบรมพัฒนาฝีมือของคนในชุมชนเพิ่มศักยภาพ ซึ่งนับว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อชุมชน บ้านเรือนของผู้สูงอายุถูกปรับปรุงให้ถูกหลักลักษณะด้วยฝีมือของช่างชุมชน
นายวิเชียร จันทุมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนโหนน กล่าวว่า ด้านตำบลโนนโหนนกับการเตรียมความพร้อมของสังคมผู้สูงวัย ทางตำบลโนนโหนนจะเน้นการดูแลส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนปลูกไม้ดอกไม้ประดับ พร้อมผลักดันการออมต้นไม้เปลี่ยนต้นไม้เป็นเงิน และนอกจากนี้ยังเน้นการดูแลเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของตำบลโนนโหนน เพราะปัจจุบันคนในชุมชนมีเวลาว่างมากเกินไปหลังจากการทำไร่ทำนา แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ปล่อยเวลาสูญเปล่าไม่นิยมออกกำลังกาย ทำให้ต่อมาคนในชุมชนมักเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย ทั้งนี้ทางตำบลโนนโหนนจึงกำชับเน้นย้ำถึงการออกกำลังกายกับคนในชุมชนโดยจะให้เจ้าหน้าที่ของ รพ.สต. เข้ามาช่วยดูแลติดตามผลของคนในชุมชน
ถัดมา รองศาสตราจารย์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ได้สะท้อนปัญหาและแนวทางจัดการเกี่ยวกับสังคมผู้สูงวัยในอนาคตว่า ปัจจุบันประชากรเกิดใหม่มีน้อยลงและอัตราการเสียชีวิตลดลง โดยภายในอีก 15 ปี ประชากรประเทศไทยประมาณราว 30 % จะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยหากเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์และไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมมาก่อน นับว่าจะเป็นวิกฤตที่อันตรายอย่างมากต่อประเทศชาติ
ซึ่งการวางระบบเตรียมความพร้อมนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคนภายในชาติ คนไทยต้องเริ่มมองไปข้างหน้าทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงโครงการสร้าง โดยมีทั้งหมด 4 มิติ 1) มิติเศรษฐกิจ 2) มิติสภาพแวดล้อม 3) มิติสุขภาพ 4) มิติชุมชนและสังคม ซึ่งทั้ง 4 มิติ มีหัวใจหลักสำคัญคือการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด
โดยเริ่มจากมิติด้านเศรษฐกิจ จากเดิมในอดีตอายุการทำงานของคนในประเทศไทยจำกัดอยู่ที่ 60 ปี ซึ่งสวนทางกับยุคปัจจุบันที่คนอายุ 60 ปี ยังแข็งแรงสามารถทำงานได้ โดยในข้อมูลส่วนนี้จึงเป็นแนวคิดให้อยากขยายอายุการทำงานของคนไทยออกไปอีกเป็น 65 ปี ทั้งนี้เพื่อทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้สามารถพึ่งพาตนเอง และสำหรับผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมอีกอย่างคือการออม การออมเป็นการเก็บเงินจากรายได้ส่วนหนึ่งสำรองไว้ใช้ในอนาคต ทั้งนี้การออมมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบกองทุน ประกันสังคม การออมต้นไม้ เป็นต้น
ต่อมามิติสภาพแวดล้อมที่พักอาศัยต้องมีการปรับปรุงและออกแบบให้เหมาะสมกับคนทุกวัยในครอบครัวและที่สำคัญต้องเหมาะกับสภาพร่างกายการเคลื่อนของผู้สูงอายุ เช่น ปรับปรุงห้องน้ำ ติดตั้งราวจับบันได ปรับทางต่างระดับให้เป็นทางลาด ซึ่งการปรับปรุงสภาพแวดล้อมเป็นการปกป้องการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มผู้สูงอายุ ลดอัตราเสียชีวิตและพิการ
และในด้านมิติสุขภาพอนาคตเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุผู้ป่วยในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะล้นโรงพยาบาล ทั้งนี้การดูแลร่างกายให้แข็งแรงต้องเริ่มต้นตั้งแต่บัดนี้ สร้างความพร้อมด้านสุขภาพ เพื่อลดเวลาการเข้ารักษาตัวและค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด
สุดท้ายมิติชุมชนและสังคม ทั้งนี้เมื่อผู้สูงอายุอยู่บ้านจะกลายเป็นคนติดเตียงไม่มีสังคมไม่ได้ออกมาเจอโลกภายในขาดมิติการสานสัมพันธ์ในสังคม ทั้งนี้ชุมชน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล ต้องลุกขึ้นมาจับมือหนุนเสริมปรับรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุใหม่ให้มีกิจกรรมพบปะพูดคุยเสริมสร้างความสุขทางใจให้มากขึ้น
ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ เรียบเรียง
[yotuwp type=”videos” id=”WsVRPvTuebs” ]
[yotuwp type=”videos” id=”REc7nYbeP_E” ]
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: