X

สะท้อนน้ำท่วมอุบลฯปี 62 รัฐเตือนภัยล้มเหลว ระเบียบราชการล่าช้า การเยียวยาไม่ทั่วถึง ควรส่งเสริมชุมชนพึ่งพาตนเอง

อุบลราชธานี-สะท้อนน้ำท่วมอุบลฯปี 62 ภาครัฐเตือนภัยล้มเหลว ระเบียบราชการล่าช้า การเยียวยาไม่ทั่วถึง ควรหันมาส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง ส่วนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหันมาแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการความรู้ เพื่อบริหารการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมศูนย์แสดงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี (OTOP CENTER) ศูนย์พัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีสาธารณะเสวนาในหัวข้อ “การบริหารจัดการกับภัยพิบัติอุทกภัยของชาวอุบลราชธานีปีที่ 1 :ภาพสะท้อนผลกระทบจากชาวอุบลราชธานี” ครั้งที่ 3

โดยมีกำหนดจัดทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาเวทีเสวนาถูกจัดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้ง 1 วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 และ ครั้งที่ 2 วันที่ 6 สิงหาคม 2563

โดยเวทีครั้งที่  3 เป็นการเปิดรับฟังเสียงสะท้อนจากนักวิชาการ นักการศึกษา นักศึกษา เยาวชนและสื่อมวลชน เพื่อหาแนวทางบูรณาการและวิธีการแก้ไขจัดการปัญหาน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้มีนักวิชาการ นักศึกษา เยาวชนและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา เข้าร่วมแลกเปลี่ยนถอดบทเรียนหาทางออกและเตรียมความพร้อมสำหรับภัยพิบัติอุทกภัยครั้งต่อไป

ดร.บวร ไชยษา อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลน้ำท่วม จ.อุบลฯ ในปีที่ผ่าน พบว่ามวลน้ำที่เคลื่อนลงสู่ จ.อุบลฯ มาจากแม่น้ำชี ซึ่งขณะนั้นภาคอีสานตอนบนเกิดพายุ ฝนตกสะสมทำให้น้ำจากแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาไหลมายัง จ.อุบลฯ

ทั้งนี้เหตุการณ์น้ำท่วม จ.อุบลฯ เกิดขึ้นซ้ำซากบ่อยครั้งแต่กลับไม่มีการนำบทเรียนมาพัฒนาระบบ เช่น ระบบแจ้งเตือนภัยหรือการเตรียมความพร้อม โดยหน่วยงานภาครัฐไม่นำข้อมูลที่มีอยู่หันหน้าคุยกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งอนาคตหากภาครัฐแก้ไขปัญหาระบบเตือนภัยให้ดีขึ้น จะสามารถลดความเสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัยได้ปริมาณมหาศาล

ดร.เต็มบุญ ศรีธัญรัตน์ อดีตเทศมนตรี เทศบาลนครอุบลราชธานี เผยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะทางจิตใจประชาชนเป็นห่วงบ้านไม่อยากออกจากพื้นที่ ทั้งนี้เหตุการณ์น้ำท่วมเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายเกินกว่าหน่วยภาครัฐจะรับมือได้ แต่สิ่งที่หน่วยภาครัฐพอจะแก้ไขให้ดีขึ้นได้คือ 1) หาวิธีชะลอน้ำ 2) สร้างบายพาส น้ำมูล น้ำชี แก้ไขปัญหาทิศทางการไหลของน้ำอย่างยั่งยืน

นางสมปอง เวียงจันทร์ ตัวแทนประชาชนจากพื้นที่ปากมูล เล่าว่า อดีตเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมระดับน้ำที่สูงจะลดลงได้เองตามธรรมชาติด้วยเวลาไม่ถึง 10 วัน แตกต่างกับปัจจุบันหลังจากมีการสร้างเขื่อนปากมูลเกิดตะกอนดินทับถมกันทำให้มวลน้ำไหลช้าและล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน ซึ่งอยากเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 1) จัดตั้งคณะเฝ้าระวังภัยพิบัติระดับจังหวัด สังเกตน้ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ 2) จัดศูนย์อพยพและสร้างโรงครัวกลางไว้รับสิ่งของบริจาค

ถัดมา นางอัฐฌาวรรณ พันธุ์มี เครือข่ายบ้านมั่นคง จังหวัดอุบลราชธานี เล่าว่า น้ำท่วมส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อระบบสาธารณูปโภคของชุมชนมูลค่ามหาศาล ตัวอย่างเช่น ถนน ศาลากลางชุมชน วัด เป็นต้น แล้วปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่มีการซ่อมแซมปรับปรุง อีกทั้งด้านเศรษฐกิจประชาชนสูญเสียรายได้อยู่แต่ในศูนย์พักพิงรอแต่รับสิ่งของบริจาคจากหน่วยงานด้านนอก ทั้งนี้อยากเสนอภาครัฐจัดตั้งโครงการขนาดใหญ่รับฟังและพัฒนาชุมชนให้เป็นระบบสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นายประยุทธ์ ชุมนาเสียว ประธานเครือข่ายองค์กรชุมชนอุบลศรีวนาไล เสนอว่า การแก้ไขปัญหาน้ำเริ่มจากทุกฝ่ายต้องเข้าใจลักษณะภูมิศาสตร์ของจังหวัดอุบลราชธานี เคารพธรรมชาติ นำศาสตร์พระราชามาปรับใช้สร้างแก้มลิงเล็กและใหญ่พร้อมกักเก็บน้ำแบบกบจำศีล นอกจากนี้ต้องหาวิธีระบายน้ำให้ไหลเร็วเพิ่มขึ้นและชะลอน้ำให้ไหลช้าลง โดยใช้มติมหาชนให้ประชาชนร่วมคิดร่วมทำหาทางออกร่วมกันและพัฒนาทักษะของประชาชนเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับน้ำ

นายเรวุฒิ ทองสิงห์ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งจะขอแบ่งผลผลกระทบออกเป็น 3 ระยะ 1) ระยะก่อนน้ำท่วม ไม่สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทันเพราะไม่มีการแจ้งเตือนจาก ปภ.ที่ชัดเจน ต้องอาศัยการฟังข่าวจากชาวบ้านด้วยกันเอง  2) ระยะน้ำท่วม ไฟฟ้าถูกตัดไม่มีการแจ้งเตือนล่วงทำให้ทรัพย์สินภายในบ้านเสียหาย และในศูนย์พักพิงต้องอาศัยกันหลายชุมชนไม่มีบุคคลคอยจัดระเบียบภายในศูนย์เกิดปัญหาการจัดการขยะและอาชญากรรม อีกทั้งเรื่องของน้ำดื่มน้ำใช้ก็ไม่เพียงพอต่อชีวิตประจำชีวิตชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการน้ำลักษณะถังใหญ่ต่อ 1 คน

นอกจากนี้การเดินทางมาของเหล่าบุคคลสำคัญทางราชการ นับว่าเป็นภาระต่อชาวบ้านภายในศูนย์อย่างมากที่ต้องลำบากออกมาต้อนรับบุคคลเหล่านั้น ซึ่งทำให้ต้องเสียสละเวลาการทำงาน เสียรายได้ เกิดการจราจรติดขัดและเกิดการรือค้นสิ่งของในที่พักเพื่อหาวัตถุระเบิดเป็นป้องกันการก่อการร้าย โดยทั้งหมดนี้นับว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อนต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ทั้งนี้อยากเสนอให้หาแนวทางจัดการและลดการเดินทางมาของบุคคลสำคัญทางราชการ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของชาวบ้าน

3) ระยะหลังน้ำลด ตลิ่งพัง ทรัพย์สินบ้านเรือนของประชาชนเสียหาย ต้องการหน่วยงานของภาครัฐเข้ามาช่วยซ่อมแซมและเยียวยาเท่าที่สามารถทำได้ ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐแก้ไขการแจ้งเตือนภัยให้เป็นภาษาที่ชาวบ้านสามารถเข้าใจได้ง่าย พร้อมแจ้งเตือนระดับน้ำจากสถานีวัดน้ำM7 เป็นระยะ เพื่อให้ชาวบ้านเกิดการตื่นตัวและได้รับข่าวสารที่เป็นจริง

นพภา พันธุ์เพ็ง ประธานมูลนิธิสื่อสร้างสุข ตัวแทนสื่อมวลชน กล่าวว่า จากการประมวลสาเหตุของน้ำท่วมแบ่งได้ 2 สาเหตุ 1) เกิดจากภูมิศาสตร์ที่ตั้งของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นแหล่งรวมรับน้ำ โขง ชีและมูล 2) ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 3) หน่วยงานภาครัฐละเลยปล่อยให้มีการก่อสร้างศูนย์การค้า อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลพบว่าปริมาณน้ำท่วมปี 2562 น้อยกว่าปริมาณน้ำปี 2545 แต่ทั้งนี้ระดับน้ำกลับสูงกว่าปี 2545 เหตุเพราะปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานี มีการขยายตัวเมืองถมแก้มและก่อสร้างผนังกั้นน้ำริมแม่น้ำมูล ส่งผลให้มวลน้ำไม่มีพื้นที่ไหลลงสู่ที่ลุ่มมวลน้ำจึงยกระดับสูงขึ้นและแรงไหลเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน

ส่งผลกระทบเสียมูลค่ามหาศาลซึ่งในส่วนนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนประเมินออกมาเป็นรูปธรรม โดยขณะเกิดเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมหน่วยราชการหลายภาคส่วนต่างระดมหาทางช่วงเหลือประชาชน ซึ่งในด้านการสื่อสารถูกพากวิจารณ์อย่างหนักมากว่าไม่มีประสิทธิภาพประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนที่รวดเร็ว ทั้งนี้เกิดจากการสื่อสารในยุคดิจิตอลมีสิ่งรบกวนมากมายทุกคนล้วนแล้วแต่มีสื่ออยู่ในมือ ด้านประชาชนต้องสติในการรับข่าวสารพร้อมลดการว่าร้ายมั่นให้กำลังใจกันและกัน

ด้าน รศ.ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า คนอุบลราชธานีรู้ว่าจังหวัดอุบลราธานีเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมและในอนาคตมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้เราทุกคนต้องเตรียมรับมือกับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างถูกวิธี นักวิชาการและหน่วยงานราชการต้องทำงานร่วมกันจัดการกับข้อมูลทำให้เป็นระบบส่งต่อให้จังหวัดทำการประเมินความเสี่ยงความต้องการจากภัยพิบัติ

ซึ่งระหว่างเกิดภัยพิบัติ สิ่งของบริจาค,เงิน,อาหาร เป็นสิ่งสำคัญต้องมีการบริหารจัดการสิ่งของบริจาคโดยคำนึงหลักความเป็นมนุษย์และให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการรับบริจาค ถัดมาการแจ้งเตือนภัยพิบัติเป็นสิ่งที่ภาครัฐสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่ต้องอาศัยความแม่นยำรวดเร็วมีข้อมูลน่าเชื่อถือ หากประชาชนเตรียมตัวรับมือได้ทันท่วงทีจะเป็นการช่วยลดการเกิดความเสียหายทางภัยพิบัติ

อย่างไรก็ตามการอยู่กับน้ำท่วมเป็นสิ่งที่ชาวอุบลราชธานีหนีไม่ได้ แต่ทั้งนี้ชาวอุบลฯ สามารถอยู่ร่วมได้อย่างมีผลกระทบและความเสี่ยงน้อยที่สุด ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาของหน่วยงานต่างๆด้วยข้อมูลที่เท่าทันน่าเชื่อถือ โดยข้อมูลเหล่านี้จะสามารถลดความเสี่ยงและสร้างความเข้มแข็ง

มัสยา คำแหง เลขาธิการ มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต (Nature care) กล่าวถึงภาพรวมของเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี มีสถานการณ์และเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ 1) เขื่อนเข้ามากกั้นทำให้การไหลของน้ำ 2) น้ำมาเร็วและแรง 3) หน่วยงานมีข้อมูลแต่ไม่จัดระบบ 4) หน่วยงานแจ้งเตือนล่าช้า 5) ภาครัฐมีบทเรียนแต่ไม่นำมาใช้

ต่อมาระหว่างเกิดสถานการณ์น้ำท่วม 1)ไม่มีการจัดระเบียบศูนย์อพยพ ห้องน้ำไม่พอ 2)กระทบการศึกษา นักเรียนต้องหยุดกะทันหัน 163 แห่ง 3)ขาดความปลอดภัยในการใช้ชีวิตและทรัพย์สิน 4)การเดินทางมาเยี่ยมของหน่วยงานสร้างภาระแก่ชุมชน 5)กระทบการปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์

และหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย 1)เกิดขยะจำนวนมหาศาล 2)ทรัพย์สินและเศรษฐกิจชุมชนเสียหาย (รายได้ ค่าอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า บ้านเรือน) 3)ชุดบริจาคบรรเทาทุกข์ ไม่ตรงกับความต้องการและไม่มีคุณภาพ

ซึ่งจากผลกระทบและเหตุการณ์ทั้งหมดสามารถสรุปเป็นแนวทางจัดปัญหาได้

1) จัดระบบข้อมูลเชื่อมข้อมูลของหน่วยงานสื่อสารแจ้งเตือน (แม่นยำ รวดเร็ว ทั่วถึง)

2) ศูนย์อพยพต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดตั้ง ออกแบบและเตรียมพร้อมก่อนน้ำมา

3) อบรมความรู้ทักษะสอนการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ

4) ด้านโครงสร้าง สร้างช่องทางระบายน้ำ,เพิ่มพื้นที่รับน้ำ,สร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ

5) ด้านแผนงาน สร้างเครือข่ายช่วยเหลือกัน,เชื่อมั่นภูมิปัญญาประชาชน,จัดการระบบตามภูมินิเวศ,สร้างนวัตกรรมใหม่เน้นช่วยเหลือสร้างรายได้หลังน้ำท่วม

6) ตั้งศูนย์การจัดการน้ำท่วม ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ

และจากการจัดเวทีสาธารณะเสวนาหัวข้อ “การบริหารจัดการกับภัยพิบัติอุทกภัยของชาวอุบลราชธานีปีที่ 1 :ภาพสะท้อนผลกระทบจากชาวอุบลราชธานี” ทั้งเวที 2 ที่มาผ่าน มีข้อแสนอและแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและสังคม ที่ควรผลักดันหนุนเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้การจัดการปัญหาน้ำท่วมเป็นไปอย่างยั่งยืน

1) เสนอให้มีกองบัญชาการจัดการปัญหาน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน เพื่อเตรียมรับมือกับอุทกภัยในอนาคต

2) เสนอให้มีการบูรณาการในการจัดการเรื่องน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3) เสนอให้จัดตั้งและมีสื่อกลางเฉพาะกิจ ในช่วงวิกฤตอย่างเป็นทางการ

4) แก้ไขกฎหมายและระเบียบการราชการ ในการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติและหลักเกณฑ์การเยียวช่วยเหลือประชาชน แบ่งกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารงานการจัดการ

5) เสนอให้มีการอบรมเรื่องการรับมือกับภัยพิบัติให้ชุมชน ตลอดหาศูนย์พักพิงที่สอดคล้องตามวิถีชุมชน

6) เสนอจัดระบบกลุ่มจิตอาสาให้รู้ถึงข้อมูลพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ

7) เสนอให้มีการศึกษาและทำแผนอย่างเป็นรูปธรรม แนวทางแก้ไขน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีอย่างยั่งยืน

8) เสนอให้ทบทวนและศึกษาการจัดทำผังเมืองอย่างโปร่งใส โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมออกแบบข้อตกลง

9) เสนอให้ทบทวนรูปแบบการทำถนนเลี่ยงเมือง พิจารณาสิ่งที่กีดขวางทางเดินของน้ำ

10) เสนอให้มีการทบทวนการทำผนังกั้นน้ำ

11) เสนอให้นำศาสตร์พระราชามาใช้ จัดทำแก้มลิง กักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง

12) เสนอให้เรื่องน้ำท่วมเป็นวาระของชาวอุบลราชธานีทุกคน ทุกภาคส่วน สร้างแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน

13) รายงานข่าวสารสถานการณ์น้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อย่างเป็นระบบสื่อสารรวดเร็วเปิดเผยข้อมูลตามความเป็นจริง

ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ เรียบเรียง

http://https://www.youtube.com/watch?v=jv1OvAQg2hU&t=12s

 

เวทีครั้งที่ 2 :ภาคประชาชน สะท้อนปัญหาน้ำท่วมอุบล 62 เสนอรัฐให้ส่งเสริมชุมชนจัดการตนเอง ลดระเบียบราชการ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

เวทีครั้งที่ 1: ภาครัฐ เอกชนและสื่อมวลชน สะท้อนน้ำท่วมอุบลปี62 แนะรัฐพัฒนาระบบเตือนภัย พร้อมเยียวยา ปชช.ให้ทั่วถึง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สุชัย เจริญมุขยนันท

สุชัย เจริญมุขยนันท

นิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลักสูตรโปรดิวเซอร์ เนชั่น วิทยากรพิราบน้อย โครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุ มูลนิธิหมอชาวบ้าน วิทยุเนชั่น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยประจำจงอุบลราชธานี ผู้จัดการศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลราชธานี ปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้อำนวยการทีวีชุมชนอุบลราชธานี E : [email protected] F : ทีวีชุมชนอุบลราชธานี T : 0818786440 LINE : SUCHAINEWS