อุบลราชธานี – อดีต ผอ. GISTDA ฟันธงปี 63 อุบลฯ น้ำไม่ท่วม แต่บางพื้นที่อาจมีระดับน้ำสูง ประชาชนควรเฝ้าระวัง อย่าชะล่าใจ! อาจารย์ม.อุบลจี้ปรับผังเมือง สาเหตุน้ำท่วม พื้นที่รับน้ำหาย
วันที่ 25 ส.ค. 63 รายการ localist ชีวิตนอกกรุง ของสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ร่วมกับ มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิตและศูนย์ประสานงานวิจัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จัดเวทีสาธารณะเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมอุบลราชธานี เพื่อสร้างกลไกการรับมือภัยพิบัติและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูล การช่วยเหลือและเยียวยา พร้อมทบทวนบทบาทนักวิจัยในการทำงานร่วมกัน
ทัพไท ชุ่มนาเสียว ผู้ประสานงานวิจัย ศูนย์ประสานงานวิจัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น กล่าวว่า กลไกการทำงานของงานวิจัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดผลกระทบความเสียหายจากเหตุการณน้ำท่วม ซึ่งต้องเริ่มจากต้นทางคือการเตรียมความพร้อม โดยต้องอาศัยภาคีเครือข่ายร่วมสร้างพลังขับเคลื่อนชุมชนคอยสังเกตการเตรียมความพร้อมของชุมชนอย่างมืออาชีพ พร้อมสร้างแนวทางและปฏิบัติการให้คนในชุมชนตื่นตัวกับภัยพิบัติอยู่เสมอ
ด้าน จรรยา ราชวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัยเตรียมความพร้อมการจัดการน้ำท่วมตำบลหนองกินเพล เผยว่า ในพื้นที่ตำบลหนองกินเพลมีการจัดการเตรียมความพร้อมอยู่ 3 ระยะ คือ 1) ระยะก่อนเผชิญ 2) ระยะเผชิญ 3) ระยะหลังเผชิญ ซึ่งการจัดการเตรียมความพร้อมจะเน้นนำความรู้ท้องถิ่นและความรู้แนวทางปฏิบัติการมาบูรณาการเข้าไว้ด้วยกัน โดยคนในชุมชนและนักวิจัยต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกันเกี่ยวกับภูมินิเวศของจังหวัดอุบลราชธานี
ทั้งนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในตำบลหนองกินเพลมีการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ เพราะคนในชุมชนส่วนใหญ่เข้าใจภูมิศาสตร์ของพื้นที่และธรรมชาติ ซึ่งยกตัวอย่างการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกินเพล หลังจากมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2545 และปี 2554 ทางโรงพยาบาลมีการปรับตัว เริ่มจากย้ายที่ทำการสำนักงานขึ้นไว้บนชั้น 2 และพร้อมเรียนรู้จักการสังเกตระดับน้ำรอบชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้ในเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2562 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกินเพลสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้ทั้งในระยะก่อนเผชิญ ระยะเผชิญ และระยะหลังเผชิญ
และต่อมาประเด็นที่ชาวอุบลราชธานีหลายคนสงสัยเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในปี 2563 จะมีทิศทางอย่างไร ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ GISTDA คาดการณ์ว่า ในปี 2563 โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์พายุฝนอย่างปี 2562 มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ซึ่งส่วนตัวขอฟันธงว่าในปีนี้ 2563 จะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างปี 2562 แน่นอน แต่จะมีระดับน้ำจะสูงในบางพื้นที่ ซึ่งคาดว่าระดับน้ำทางแม่น้ำมูลจะสูงมากกว่าระดับน้ำทางแม่น้ำชี โดยแตกต่างกับปี 2562 ที่ระดับน้ำทางแม่น้ำชีจะสูงกว่าแม่น้ำมูล
อย่างไรก็ตามจังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ปลายน้ำ ด้านการเฝ้าระวังควรเริ่มต้นตั้งแต่จากทางลุ่มและวางระบบเฝ้าระวังให้ดี โดยต้องใช้ภูมิปัญญาและข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มาสร้างกลไกประเมิน วิเคราะห์ ขับเคลื่อนการจัดการเตรียมความพร้อม และส่วนหน่วยงานของภาครัฐต้องตื่นตัวและหนุนเสริมชุมชน กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ต่อมา พรรณี เสมอภาค เครือข่ายเกษตร อินทรีย์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จังหวัดอุบลราชธานี ได้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกว่า ปัจจุบันสภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิปรับสูงขึ้นถึง 1.47 องศาเซลเซียส ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบให้เกิดโรคระบาด ภัยแล้ง ภัยน้ำท่วมถี่มากขึ้นกว่าในอดีต
โดยอนาคตหากอุณหภูมิยังปรับตัวสูงขึ้นต่อไปจะส่งผลร้ายให้พันธุ์พืชสูญพันธุ์ ฤดูกาลปรับเปลี่ยน ภัยพิบัติรุนแรง ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันฟื้นฟูธรรมชาติและปรับตัวสร้างแหล่งรับน้ำสำรอง พร้อมปลูกป่าไม้ยืนต้นเติมออกซิเจน เพื่อลดอุณหภูมิให้กับโลกอย่างยั่งยืน
รศ.สมหมาย ชินนาค ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงศึกษา ได้เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำมูลว่า ในอดีตช่วงปี 2548 พื้นที่บ้านท่าบ้งมั่งและหมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำ ยังไม่มีสิ่งก่อสร้างขึ้นริมฝั่งยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำมีแหล่งเก็บน้ำ ซึ่งต่างกับปัจจุบันมีการปรับพื้นที่สร้างสะพาน สร้างผนังกั้นน้ำ โดยสิ่งเหล่านี้ทำให้พื้นที่รับน้ำหายไปส่งผลให้มวลน้ำที่ไหลมาได้ยกระดับสูงขึ้นเข้าท่วมชุมชน
ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องเริ่มต้นคุยกันถึงทิศทางการปรับผังเมืองอย่างจริงจังและประเมินสถานการณ์หาแหล่งรับน้ำแห่งใหม่อย่างเป็นระบบ โดยภาครัฐต้องลงทุนงบประมาณหนุนเสริมด้านเทคโนโลยี เพื่อสร้างการเตรียมความพร้อมต่อกับการับมือภัยพิบัติ
ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ เรียบเรียง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: