อุบลราชธานี-ป้องกัน! ภาวะเครียดจากปัญหาการเมืองได้เพียงแค่ “ปรับมุมมอง ประคองอารมณ์ สื่อสารสร้างสรรค์ อยู่กันอย่างสันติ”
นายแพทย์เจษฎา ทองเถาว์ นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กล่าวว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเข้มข้นอยู่นี้ส่งผลกระทบให้หลายครอบครัวเข้าสู่การเกิดภาวะเครียดทางการเมือง (Political stress syndrome) ซึ่งภาวะเครียดมักเกิดกับผู้ที่มีความสนใจฝักใฝ่ทางการเมืองค่อนข้างมาก จนทำให้เกิดอาการความผิดปกติทางร่างกายและทางจิตใจ
โดยด้านร่างกายจะเกิดอาการ ปวดศีรษะ ปวดตึงตามจุดต่างๆ นอนไม่หลับ ใจสั่นเต้นเร็ว และ ด้านจิตใจเกิดความวิตกกังวล สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่าน หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียว อารมณ์เบื่อหน่าย หรือ การแสดงออกอย่างรุนแรงต้องการเอาชนะทางความคิด ต้องการให้คนอื่นคิดเหมือนตน อยากตอบโต้ด้วยกำลังทำร้ายร่างกายคนเห็นต่าง ซึ่งหากผู้ที่สนใจทางการเมืองเริ่มมีอาการทั้งทางจิตใจหรือทางร่างกายอย่างน้อย 2-3 อาการ นั้นเป็นลางบอกเหตุแล้วว่าท่านกำลังเข้าสู่ภาวะเครียดทางการเมือง Political stress syndrome
ซึ่งเหตุผลที่ทำไมคนส่วนใหญ่จึงต้องเครียดกับการเมืองนั้นเป็นเพราะ การเมืองเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตมีผลต่อความเชื่อและชีวิตประจำวัน เมื่อเกิดความขัดแย้งไม่ได้รับการจัดการไม่มีการพูดคุย จึงเกิดเป็นความเครียดสะสม โดยทางออกของการลดภาวะความเครียดทางการเมืองแนะนำว่า ควรเริ่มจากเราลดหรือหยุดรับข้อมูลข่าวสารจากผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทั้งจากทางสื่อโซเชียลมีเดียหรือสื่อกระแส โดยให้หากิจกรรมอื่นทำแทน เช่น การออกกำลังกาย พักผ่อนดูหนัง ฟังเพลง ช้อปปิ้ง ซึ่งในส่วนนี้เองจะสามารช่วยทำให้ลดอาการความเครียดลงได้ด้วยตัวของตนเอง
แต่อย่างไรก็ตามหากปฏิบัติตามข้อแนะนำข้างต้นแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเครียดได้นั้นก็ควรเข้าพบจิตแพทย์ ซึ่งท่านอาจกำลังสู่การเป็นโรคทางจิตเวชต้องทำการรักษา ทั้งนี้การเข้าพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเป็นสิ่งน่าอาย ควรปรับเปลี่ยนความคิดว่าหากป่วยก็แค่ต้องรักษาเป็นเรื่องปกติ
ทั้งนี้การป้องกันการเกิดความเครียดทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญมากเทียบเท่าการรักษา ซึ่งมีหลักการปฏิบัติดังนี้ “เริ่มที่มุมมอง ประคองอารมณ์ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ อยู่กันอย่างสันติ” โดย 1) เริ่มที่มุมมอง ปรับทัศนคติให้เปิดกว้าง ยอมรับความเห็นต่างและมองในเชิงบวก 2) ประคองอารมณ์ เมื่อพบคนเห็นต่างต้องใช้กระบวนการประคับประคองสติไม่ไหลตามอารมณ์ รู้จักควบคุมอารมณ์ เรียนรู้การรับฟัง โดยเฉพาะจากคนในครอบครัว ใช้หูให้มากกว่าการใช้ปาก 3) สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ฝึกการสื่อสารรู้จักการยอมรับ อย่าหาข้อสรุปจากประเด็นทางการเมือง 4) อยู่กันอย่างสันติ หลีกหนีการพูดคุยเรื่องการเมือง มองข้ามจุดเล็กๆของกันและกัน
ซึ่งสุดท้ายแล้วการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวก็จริงแต่ความสัมพันธ์ของครอบครัว เพื่อน ชุมชน ต้องเดินหน้ากันต่อไปอย่างจีรังยั่งยืน หากทุกคนรู้การปล่อยวางไม่หยิบยกปัญหาขึ้นมาสร้างเกิดเป็นความเครียดปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของธรรมชาติเพียงเท่านี้ความเครียดทั้งหมดก็จะหายไปได้ด้วยตัวของมันเอง
ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ เรียบเรียง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: