อุบลราชธานี-เทียบให้ชัดพยากรณ์ “โนอึล” ที่ชาวอุบลราชธานีพูดถึงบนโลกออนไลน์ เจ้าไหนมั่วเจ้าไหนเป๊ะ!
เมื่อช่วงวันที่ 17-20 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ในหลายจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศไทย เกิดสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในแต่ละพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อนโนอึล โ
ดยพายุโนอึลเป็นพายุหมุนเขตร้อน มีลักษณะศูนย์กลางความกดอากาศต่ำ ลมกระโชกแรง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักบริเวณ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนฉบับที่ 5 ว่า เมื่อเวลา 22.00 น. พายุโซนร้อนโนอึล มีแนวโน้มทวีกำลังเป็นพายุระดับ 5 (ไต้ฝุ่น) คาดจะขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง และจะเคลื่อนเข้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของไทย
ในช่วงวันที่ 18-20 กันยายน 2563 ประจวบกับมรสุมตะวันเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้นทั่วทุกภาค ซึ่งจะเริ่มมีผลกระทบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน จากนั้นภาคเหนือและภาคอื่นๆจะมีผลกระทบต่อไป โดยใช่วงวันที่ 18 – 20 กันยายน 2563 ประชาชนควรระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและลมแรง
ซึ่งจากการก่อตัวของพายุโซนร้อนโนอึลครั้งนี้ ทำให้มีหลายหน่วยงานเป็นกังวลถึงผลกระทบและความปลอดภัยของประชาชน จึงทำให้มีหลายฝ่ายออกมาสื่อสารส่งต่อข้อมูลความรู้และแจ้งเตือนภัยต่อประชาชนเพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ
วันนี้ทางทีมงาน Ubon Connect จึงได้รวบรวมข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนภัยที่ชาวจังหวัดอุบลราชธานีมีการพูดถึงต่างๆบนโลกออนไลน์ ในช่วงเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งหมด 3 แห่ง 1) กรมกรมอุตุนิยมวิทยา, 2) Facebook Fanpage เตือนภัยพิบัติ วาตภัย ฝนฟ้า พายุ, 3) Facebook Fanpage พายุเอเชียแปซิฟิก
โดยเริ่มจากข้อมูล กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เปิดเผยข้อมูลการเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อน ในวันที่ 10 กันยายน 63 ว่า จากการเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศขณะนี้ทางการยังไม่พบการก่อตัวของพายุ ในบริเวณทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก
และต่อมาวันที่ 12 ก.ย. 2563 กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยข้อมูลหลังจากได้เฝ้าติดตามสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนว่า ขณะนี้เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก คาดการณ์จะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุ และเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ ช่วงวันที่ 16-17 ก.ย.63
วันที่ 15 ก.ย. 2563 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 1 หย่อมความกดอากาศต่ำทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน พายุจะขึ้นฝั่งเวียดนามตอนกลาง ช่วงวันที่ 18-20 ก.ย. ทุกทั่วภาคจะเกิดฝนตก โดยเริ่มที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ให้ระวังฝนตกหนักถึงหนักมากและน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก อันตรายจากลมแรง
ถัดมาเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2563 ด้าน Facebook Fanpage เตือนภัยพิบัติ วาตภัย ฝนฟ้า พายุ ซึ่งเป็น Facebook Fanpage ที่ได้ติดตามและคาดการณ์การเกิดพายุโซนร้อนได้เปิดเผยข้อมูลพยากรณ์อากาศช่วงวันที่ 14-15 ว่า ประเทศไทยจะเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำในบริเวณทะเลจีนใต้ โดยวันที่ 15 หย่อมความกดอากาศต่ำจะพัฒนากำลังแรงขึ้นและเริ่มก่อตัวเป็นพายุ ซึ่งในวันที่ 16 พายุมีแนวโน้มพัฒนาเป็นดีเปรสชั่น ทั้งนี้ประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก จะเกิดฝนตกหนัก และวันที่17 พายุอาจเคลื่อนผ่านเข้าสู่ตอนบนของประเทศไทยทำให้จังหวัดนครพนม และภาคเหนือ อาจได้รับผลกระทบฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน
ต่อมาวันที่ 11 ก.ย. 2563 ทาง Facebook Fanpage :เตือนภัยพิบัติ วาตภัย ฝนฟ้า พายุ ได้เปลี่ยนแปลงการคาดการณ์พายุใหม่ จากเดิมวันที่พายุเข้าคือวันที่ 13-17 ก.ย. เปลี่ยนเป็น 17-20 ก.ย. ซึ่งภายในวันที่ 17-18 จะเริ่มมีการก่อตัวของความกดอากาศต่ำ มีโอกาสพัฒนาเป็นพายุ โดยวันที่ 18-19 จะพัฒนาเป็นพายุดีเปรสชั่น วันที่ 18 จะเคลื่อนตัวเข้าผ่านตัวกลางของประเทศเวียดนาม และวันที่ 19 จะเข้าทางตอนใต้ สปป.ลาว ทำให้จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร มหาสารคาม ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ เกิดฝนตกหนัก และวันที่ 20 จุดศูนย์กลางเคลื่อนเข้าจังหวัดพิษณุโลก
และเมื่อวันที่ 17 ก.ย.63 Facebook Fanpage ได้คาดการณ์เพิ่มเติมว่า ประเทศไทยจะเริ่มได้รับอิทธิพลจากพายุโนอึล ทำให้มีฝนตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ภาคตะวันออก จุดศูนย์กลางคาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าปะทะเขตอีสานประมาณ 21:00 น เป็นต้น ในส่วนของฝนตกจะมีทั่วทุกภาค แต่คาดการณ์ว่าจะหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะเริ่มหนักตั้งแต่ 18 ก.ย.เป็นต้น
ส่วน Facebook Fanpage พายุเอเชียแปซิฟิก ได้พยากรณ์การเกิดพายุตั้งแต่ เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2563 โดยรายงานสถานการณ์ว่า จาการพยากรณ์ล่วงหน้าคาดหย่อมว่าความกดอากาศบริเวณฟิลิปปินส์ จะเข้ามาทวีกำลังเป็นพายุในทะเลจีนใต้ ซึ่งหากก่อตัวในบริเวณนี้จริงจะมีโอกาสสูงมาก ที่จะมีทิศทางเข้ามาบริเวณเวียดนามตอนเหนือ สร้างผลกระทบให้กับไทยช่วง 19-20 ก.ย.หากพายุก่อตัวผลกระทบต่อประเทศไทย จะทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดแรง ฝนจะตกเกือบทั่วทุกภาคไทย และจะตกหนักมากทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และจังหวัดของไทยที่มีความอ่อนไหวต่อน้ำท่วมง่าย เช่น น่าน เลย และจังหวัดอื่นๆ ในอีสาน ต้องระมัดระวัง มีโอกาสเกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัด
และต่อมาวันที่ 15 ก.ย. 2563ได้คาดการณ์ว่า ผลกระทบของพายุโนอึล จะทำให้เกิด ลมกระโชกแรง,คลื่นในทะเล,น้ำท่วม น้ำป่า น้ำล้นตลิ่ง จังหวัดที่เป็นเส้นทางเคลื่อนผ่านของพายุ จะได้รับผลกระทบมากกว่าบริเวณอื่น ความรุนแรงและผลกระทบของจังหวัดที่เป็นเส้นทางพายุ คือ จะมีลมกระโชกแรง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ในเส้นทางของพายุ ก็จะได้รับอิทธิพลของพายุได้เช่นกัน ซึ่งสามารถก่อให้เกิดฝนตกในบางช่วงเวลา
ซึ่งจากการคาดการณ์เกี่ยวกับพายุโซนร้อนโนอึลของทั้ง 3 แห่งนั้น มีการพยากรณ์ที่ตรงกันว่าในช่วงเวลา 17-20 ก.ย. พายุโนอึลจะเคลื่อนที่จากตอนกลางของประเทศเวียดนามเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน โดยจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั่วทุกภาค ทำให้เกิดฝนตกและบางพื้นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ต้องระมัดระวัง มีโอกาสเกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัด
ทั้งนี้เมื่อระหว่างวันที่ 17-20 ก.ย. ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุโนอึลตามการคาดการณ์จากหลายสำนัก โดยเมื่อวันที่ 17 ก.ย. พายุโซนร้อนโนอึล ที่มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากชายฝั่งประเทศเวียดนาม เริ่มเคลื่อนตัวสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย ทำให้ในหลายจังหวัดเกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก และต่อมาเมื่อวันที่ 18 ก.ย. พายุโซนร้อนโนอึลเคลื่อนตัวมาถึงยังประเทศไทยปกคลุมอยู่ที่บริเวณจังหวัดอำนาจเจริญ ส่งผลทำให้ภาคเหนือ 15 จังหวัด ภาคอีสาน 20 จังหวัด ภาคกลาง 15 จังหวัด ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ภาคใต้ 10 จังหวัด เกิดฝนตกและบางพื้นตกหนัก
และเมื่อวันที่19 ก.ย. พายุโนอึลได้อ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชันบริเวณจังหวัดขอนแก่น พร้อมเคลื่อนตัวไปปกคลุมต่อที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และบ่ายของวันที่ 16 “โนอึล” เริ่มอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณจังหวัดพิษณุโลก ส่งผลกระทบทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าการพยากรณ์สภาพอากาศนั้นอาจมีทั้งความแม่นยำและความคลาดเคลื่อน โดยสังเกตได้จากการพยากรณ์ดังข้างต้นที่หลายสำนักคาดการณ์ว่าพายุโนอึลจะส่งผลกระทบความเสียหายลากยาวถึงวันที่ 20 ก.ย. แต่ความเป็นจริงพายุกลับส่งผลกระทบถึงวันที่19 ก.ย. เพียงเท่านั้น ทั้งนี้การพยากรณ์อากาศในระยะรูปแบบ 3-10 วันขึ้นไป เป็นช่วงเวลาที่มีโอกาสคาดเคลื่อนได้เสมอ เพราะประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีความแปรปรวนของอากาศ การคาดการณ์สภาพอากาศจึงอาจมีความผิดพลาดสูง อย่างไรก็ตามเมื่ออนาคตเกิดภัยพิบัติขึ้นประชาชนควรต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดและเลือกหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เพื่อเตรียมการรับมือต่อไป
ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ เรียบเรียง
ขอบคุณข้อมูลจาก:กรมกรมอุตุนิยมวิทยา, Facebook Fanpage :เตือนภัยพิบัติ วาตภัย ฝนฟ้า พายุ, พายุเอเชียแปซิฟิก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: