kickoff เครือข่ายอีสานโคแฟค(Esan Cofact) พร้อมเดินหน้า หยุดข่าวลวง ทวงความจริง มุ่งพัฒนาทักษะกลไกการตรวจสอบข่าวปลอมในพื้นที่ภาคอีสาน
เมื่อระหว่างวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2563 มูลนิธิสื่อสร้างสุข เครือข่ายสื่อพลเมือง สถาบันการศึกษาในภาคอีสาน และองค์ภาคี Cofact จัดประชุมเครือข่าย อีสานโคแฟค (Esan Cofact) หยุดข่าวลวง ทวงความจริง ณ โรงแรมกรีนโฮเต็ล แอนด์รีสอร์ท จังหวัดขอนแก่น เพื่อวางแผนการทำงานและพัฒนาทักษะการตรวจสอบข่าวลวง (Fake News) ในพื้นที่ภาคอีสาน
กลม หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข และผู้รับผิดชอบโครงการอีสานโคแฟค (Esan Cofact) กล่าวว่า โครงการอีสานโคแฟค (Esan Cofact) หยุดข่าวลวง ทวงความจริง เป็นโครงการที่จะพัฒนาทักษะ ความรู้ ความเข้าใจกลไกตรวจสอบข่าวลวง สร้างการรับรู้หรือการแก้ไขเนื้อหาให้แก่ประชาชนในภาคอีสาน เพื่อให้เป็นผู้สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องรู้จักการเลือกใช้และนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ ตนเอง ครอบครัว และชุมชน เพราะยุคปัจจุบันกิจกรรมทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยข้อมูลข่าวสาร ทุกคนสามารถเป็นผู้รับและผู้ส่งสารได้ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เกิดปรากฎการณ์ปัญหาข่าวลวงหรือข่าวปลอม (Fake News) สร้างความปั่นป่วน ตื่นตระหนกและสับสนในสังคมโดยเฉพาะบนสื่อโซเชียลมีเดีย
ทั้งนี้ อีสานโคแฟค (Esan Cofact) หยุดข่าวลวง ทวงความจริง จะดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายหลัก 7 มหาวิทยาลัย 3 องค์กรสื่อ ได้แก่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน เครือข่ายสื่อปลอดภัยจังหวัดขอนแก่น เครือข่ายสื่อพลเมืองภาคอีสาน ที่จะร่วมขับเคลื่อนการสร้างนักสื่อสารและเครื่องมือตรวจสอบข้อเท็จจริงแก้ไขปัญหาข่าวลวงในภาคอีสาน
และถัดมาบนเวทีเสวนาหัวข้อ “ทำไมความจริงร่วมจึงสำคัญ” สุภิญญา กลางณรงณ์ ผู้ก่อตั้งภาคี Cofact เผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายด้วยอินเทอร์เน็ต ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่างๆ อาทิ การซื้อ-ขายสินค้า การทำธุรกรรมทางการเงิน หรือรับส่งข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น ทั้งนี้ในด้านการรับส่งข่าวสารจะถูกแชร์ต่ออย่างรวดเร็วมากในสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นประชาชนจึงจำเป็นต้องมีทักษะสำคัญคือ การจัดลำดับความน่าเชื่อถือของข่าว การสะท้อนความคิดและป้องกันตนเอง เพื่อสร้างความเข้าใจกับเนื้อหาและความจริงร่วม ก่อนแชร์ข้อมูลข่าวสารส่งต่อบุคคลอื่น
ซึ่งทางภาคี Cofact ได้เปิดตัวเว็บไซต์-Chatbot “โคแฟค” ชวนสังคมค้นหาข่าวจริง ตัดวงจรข่าวลวงที่กำลังระบาดในยุคปัจจุบัน โดย cofact.org เป็นพื้นที่ค้นหาข้อเท็จจริงผ่านการโต้แย้งด้วยข้อมูลเท็จจริงและความคิดเห็น นอกจากนี้ยังมี Chatbot Line @cofact เปิดให้ประชาชนร่วมส่งข่าวสารหรือประเด็นที่กำลังถูกพูดถึงในสังคมเพื่อเข้าระบบตรวจสอบความจริง โดยทีม Cofact จะมีกองบรรณาธิการกลั่นกรอง ตรวจสอบ และเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆต่อไป
สุชัย เจริญมุขยนันท เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข แบ่งปันประสบการณ์ความจริงร่วมของสื่อภาคประชาชนว่า Crowdsourcing หรือ ปัญญารวมหมู่ เป็นแนวคิดที่มีความสำคัญมากในการสื่อสารยุคปัจจุบัน เพราะการรวบรวมข้อเท็จจริงหลายชุดความคิดนำมาสรุปร่วมกัน ทำให้เกิดการสื่อสารที่เข้มแข็ง ยกตัวอย่างการสื่อสารในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ช่วงสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมการรับฟังข้อมูลข่าวสารต้องใช้การพิจารณาคัดกรองข้อมูลและการเลือกรับข่าวสารจากหลายช่องทาง เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจถึงการป้องกันรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ด้าน พีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย (อ.ส.ม.ท) กล่าวว่า การตามหาข้อเท็จจริงกำลังถูกเป็นที่สนใจอย่างมากในยุคปัจจุบัน ซึ่งการจะหาข้อสรุปบางอย่างได้นั้นต้องอาศัยข้อเท็จจริงนำมาตัดสินใจประกอบ เพราะหากสรุปผิดพลาดอาจจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆตามมา เฉพาะนั้นการตามหาข้อเท็จจริงที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญทั้งตนเองและผู้อื่นในสังคม ทั้งนี้การค้นหาข้อเท็จจริงนับว่าเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย ซึ่งเหตุผลที่ท้าทายมาจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี โดยข่าวลือหรือข่าวลวงจะถูกขยายต่อด้วยเทคโนโลยี
แต่อย่างไรก็ตามการหาความจริงร่วมต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วยตรวจสอบ ตั้งคำถาม สร้างข้อเท็จจริง ซึ่งความจริงจะแตกต่างจากกับความคิดเห็นผู้ตรวจสอบต้องเสริมทักษะการเลือกวัตถุดิบจากแหล่งข้อมูลที่ได้มาตรฐาน โดยมีแนวทาง 3 เสาหลักตรวจสอบข้อเท็จจริงดังนี้
1)สืบต้นตอ :พิจารณาแหล่งข้อมูลเดิม สถานที่ เวลา ผู้ผลิต เว็บไซต์ที่มา?
2)วิเคราะห์ที่มา :สังเกตแรงจูงใจ เนื้อหาผลิตขึ้นเพื่ออะไร บุคคลใดได้รับประโยชน์?
3)ตรวจสอบเนื้อหา :ภาพ ข้อมูล ถูกหลักการ ถูกหลักกฎหมาย ถูกบริบทหรือไม่?
การตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยเครื่องนี้เป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยหาความจริง ซึ่งอนาคตหากมีเครือข่ายร่วมกันสร้างพลังการสื่อสารที่เข้มแข็ง ช่วยให้คนในท้องถิ่นที่เข้าไม่ถึงข้อเท็จจริงได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสังคมในอนาคต
ทั้งนี้ อีสานโคแฟค (Esan Cofact) หยุดข่าวลวง ทวงความจริง เหล่าเครือข่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนการตรวจสอบข่าวลวงในชุมชนท้องถิ่นผ่านสื่อศิลปวัฒนธรรม สื่อพลเมือง หนุน 1 ชุมชน 1 ศูนย์โคแฟค และด้านสถาบันการศึกษาพร้อมจะผลักดันส่งเสริมให้มีเนื้อหาการสืบค้นข้อมูลข้อเท็จจริงไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาจนถึงระดับชั้นอุดมศึกษา
ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ / ข่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: