อุบลราชธานี-นักวิชาการโคราชจับมือชาวบ้านอุบลฯ ระดมความคิด หาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก อย่างมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกันจัดการประชุมหาแนวทางในการจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อจัดทำแผนการบริหารการจัดการน้ำสำหรับการป้องกันความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วม การจัดการผังเมือง และการบริหารจราจรน้ำ ณ อาคารศูนย์เครื่องกลางและปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ ดร.ปรียาพร โกษา หัวหน้าโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า งานวิจัยการประเมินพื้นที่น้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งมีคณะร่วมทำงานได้แก่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และสำนักงานชลประทานที่ 8
โดยบทบาทของโครงการวิจัยมีวัตถุประสงค์ที่จะต้องการทราบความสัมพันธ์และค่าระดับน้ำของตำแหน่งแต่ละพื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานี หลังจากมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆ เพื่อจะจัดทำแผนประเมินการบริหารจัดการน้ำ สำหรับการป้องกันความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมซ้ำซากต่อไปในอนาคต
ซึ่ง เวทีประชุมครั้งนี้มีตัวแทนของผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมปี 63 แต่ละพื้นที่ เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะถึงปัญหาผลกระทบและแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยตัวแทนของผู้ประสบอุทกภัย เสนอว่า ต้องการให้ทุกภาคส่วนช่วยกันหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพกว่าปัจจุบัน ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นพื้นที่ท่วมซ้ำซากไม่ได้รับแก้ไขอย่างยั่งยืน
ส่วนการแจ้งเตือนภัยภาครัฐยังล้มเหลวชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารที่ภาครัฐประชาสัมพันธ์ได้ ทำให้แต่ละพื้นที่ไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับภัยน้ำท่วมได้ทันท่วงทีจึงทำให้เกิดความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน บ้านเรือน และจิตใจ
ทั้งนี้ ตัวแทนของผู้ประสบอุทกภัย ยังเสนออีกว่า ต้องการป้ายแสดงระดับน้ำติดตั้งตามชุมชนที่มักเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ทราบถึงระดับน้ำและสามารถประเมินความเสี่ยงการเกิดภัยพิบัติได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ขณะเกิดและหลังเหตุการณ์น้ำท่วมต้องการให้ภาครัฐการช่วยเยียวยาอย่างเป็นธรรม และการเยียวยาส่งเสริมสร้างอาชีพที่ยั่งยืน ลดขั้นตอนการดำเนินงานของหน่วยงานราชการเพื่อให้การช่วยเหลือทำได้อย่างทันท่วงที
ด้าน ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ ฤกษ์ชัย ศรีวรมาศ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันให้ระดมความรู้วางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมแบบบูรณาการ โดยภาครัฐ ภาคประชาชน นักวิชาการ ต้องจับมือและก้าวข้ามปัญหาไปพร้อมกัน
ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ / เรียบเรียง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: