“การระบาดของไวรัสโควิด-19” ถือเป็นหายนะร้ายแรงครั้งล่าสุดของมนุษยชาติ ส่งผลกระทบไม่เพียงด้านสุขภาพที่มีผู้ป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเท่านั้น
ยังรวมถึงด้านเศรษฐกิจที่เมื่อรัฐบาลหลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ปิดประเทศ ปิดเมืองและปิดบ้าน ทำให้สถานประกอบการมากมายไม่สามารถแบกรับภาระต่อไปได้
ต้องปลดพนักงานหรือแม้แต่ปิดกิจการ กลายเป็นปัญหาคนว่างงานตามมา รวมถึง “การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ “โควิด-19 เข้ามาเร่งปฏิกิริยาให้รวดเร็วขึ้น” ซึ่งสามารถมองได้ทั้งเป็นวิกฤติและโอกาส
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 มีการจัดสัมมนานักคิดดิจิทัลครั้งที่ 14 ส่งท้ายปี 2020 สรุปบทเรียนชวนคิดว่าด้วยเรื่อง “พลเมืองดิจิทัลในการรับมือยุคนิวนอร์มอล” ที่ห้องประชุมชั้น 22 โรงแรมเดอะควอเตอร์ อารีย์
ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ , Centre for Humanitarian Dialogue (“hd) , ภาคีโคแฟค (COFACT) ประเทศไทย , สถาบัน Change Fusion และมูลนิธิฟรีดริช เนามัน
อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ กล่าวว่า ในฐานะที่ TIJ เป็นองค์กรเจ้าภาพร่วมจัดงาน รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือจากทั้งนักคิดด้านดิจิทัล รวมถึงภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และภาควิชาการ ที่สนับสนุนให้กิจกรรมนี้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา
และแม้จะเป็นช่วงที่มีสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็ยังมีการดำเนินการจัดงานต่อไป ซึ่งหากนับถึงงานครั้งนี้ที่เป็นการจัดงานส่งท้ายปี 2563 ก็นับเป็นครั้งที่ 14 แล้ว นับเป็นความพิเศษแรก
“ความพิเศษอันที่ 2 คือยิ่งจัดยิ่งมีการขยายวงขึ้น อันนี้ถือว่าเป็น Indicator (ตัวชี้วัด) ที่น่าประทับใจแล้วก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จ ในการที่มีกลุ่มเครือข่ายที่มาด้วยความสมัครใจในการรวมตัวกัน เราเห็นความสำคัญร่วมกันในการศึกษาว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในยุคต่อไปนั้น ภาคประชาสังคมหรือภาคพลเมือง จะมีส่วนช่วยในการตอบรับกับสถานการณ์นี้อย่างไร” อณูวรรณ กล่าว
รอง ผอ.TIJ กล่าวต่อไปว่า TIJ มีภารกิจด้านหนึ่งเกี่ยวข้องกับการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา พบเห็นรูปแบบการก่ออาชญากรรมที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่ดำเนินการโดยองค์กรเครือข่ายขนาดใหญ่หรือมีลักษณะข้ามชาติ (Transnational) เช่น ค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้อาชญากรรมสามารถดำเนินการได้ในบ้านและขยายวงกว้างด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึง
ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายยังมีข้อจำกัดในการปราบปรามอาชญากรรมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ดังนั้นหากภาคประชาสังคมหรือประชาชนรู้สิทธิและมีความเท่าทันในการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัล สามารถดูแลตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อตั้งแต่ชั้นแรก จะเป็นตัวช่วยในการทำให้หน่วยงานของภาครัฐทำงานได้ง่ายขึ้น
มัทนา ถนอมพันธุ์ หอมลออ ประธานกรรมการกำกับทิศทาง แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นคือนิยามคำว่าพลเมืองดิจิทัลมีความเหลื่อมกับคำว่าพลเมืองมนุษย์ทั่วไปอย่างไร เพื่อที่จะได้วิเคราะห์ต่อไปว่าในภาวะวิกฤติที่ไม่เฉพาะโรคระบาดโควิด-19 แต่ยังมีอีกหลายวิกฤติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change)
ซึ่งการรับมือวิกฤติจะเป็นเพียงการปรับตัวอย่างยืดหยุ่น (Resilience) หรือจะนำไปสู่การสร้างฝันสร้างอนาคต ลงหลักปักฐานในโลกที่ยั่งยืนได้ ตนคาดหวังว่าบทเรียนจากเวทีสัมมนาครั้งนี้จะทำให้ภาพต่างๆ มีความชัดเจน ทั้งนี้ สสส. ชื่อนั้นบอกอยู่แล้วว่าทำงานด้านสุขภาพ ดังนั้นการสร้างพลเมืองให้มีขีดความสามารถในการสร้างวิถีสุขภาวะ จึงเป็นหนึ่งในภารกิจด้วย
ในช่วงเช้าเป็นการนำเสนอ 2 หัวข้อ โดย พณชิต กิตติปัญญางาม ซีอีโอ ZTRUS กล่าวถึง “การส่งเสริมเทคโนโลยีภาคพลเมือง (Civic Tech) ในการรับมือโรคระบาด” ว่า มีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดระบบสนับสนุนบริการสาธารณสุขช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ ทั้งที่ยังไม่มีความรู้ด้านการแพทย์ แต่สิ่งที่ได้คิดคือ “คนทำงานด้านดิจิทัลไม่ใช่แพทย์ ไม่สามารถรักษาคนได้ แต่ถนัดเรื่องบริหารจัดการข้อมูล” คนทำงานด้านดิจิทัลสามารถมีบทบาทเชื่อมต่อระหว่างผู้มีความต้องการ (Demand) กับผู้ที่พร้อมจัดบริการ (Supply) เข้าหากันได้
“ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องพบแพทย์แบบต่อหน้า นั่นหมายถึงทรัพยากรทางการแพทย์เราอาจจะเพียงพอที่จะรับมือกันผู้ป่วย แต่ไม่เพียงพอกับการรับมือความตระหนกของประชาชนเหล่านั้น เพราะทุกคนจะเปลี่ยนโปรไฟล์เฟซบุ๊กตัวเองว่า..กูคิดหรือยังวะ..ก็จะเห็นโปรไฟล์นี้ เพราะทุกคนตระหนกว่าตัวเองติดหรือยัง แล้วทุกคนก็จะวิ่งเข้าไปหาโรงพยาบาลทันทีที่มีไข้ แล้วแพทย์ก็ต้องมารองรับ ผมก็ไปดูโรงพยาบาล ก็จะมีแพทย์อื่นๆ มานั่งสัมภาษณ์ก่อน ซึ่งแพทย์กลุ่มนั้นควรจะ Stand By (เตรียมพร้อม) รักษาโรคอื่นๆ ผู้ป่วยอื่นๆ” พณชิต กล่าว
เพื่อแก้ปัญหาการระดมแพทย์ทุกสาขามารับมือโรคอุบัติใหม่จนส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ต้องการรับการรักษาเช่นกัน พณชิต เล่าว่า ต้องขอบคุณกรมควบคุมโรคที่ให้โอกาสได้เข้าไปร่วมทำงาน ซึ่งเมื่อทีมงานได้รับความรู้เรื่องการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง จึงทำแบบคัดกรองผ่านช่องทางออนไลน์ขึ้น แต่ก็ต้องปรับแก้แบบกันเป็นระยะๆ กว่าจะลงตัว จากนั้นจัดให้ผู้ที่พบว่ามีความเสี่ยงสูง ได้พบแพทย์ผ่านเทคโนโลยีสื่อสารทางไกลแบบเห็นหน้า (Teleconsult) เพื่อให้แพทย์ได้สอบถามในเบื้องต้นว่ากลุ่มเสี่ยงสูงแต่ละรายนั้นเสี่ยงจริงหรือวิตกกังวลไปเอง
เมื่อได้ระบบคัดกรองแล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อมาคือ “แล้วจะให้เดินทางไปอย่างไร” จะให้ขับรถไปเองบางรายก็ไม่มี จะให้ใช้บริการขนส่งมวลชนก็เสี่ยงทำให้การระบาดขยายออกไปอีก แต่ระบบรถพยาบาลของภาครัฐก็มีข้อจำกัดเนื่องจากระเบียบกำหนดให้ต้องได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาลก่อนเท่านั้นจึงจะไปรับได้ ทำให้ต้องประสานกับผู้ประกอบการภาคขนส่ง เพื่อดัดแปลงรถที่ใช้ในงานปกติให้เหมาะสมกับการขนย้ายผู้ป่วย นำมาใช้ในการรับกลุ่มเสี่ยงมายังโรงพยาบาล รวมถึงให้ช่วยจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ไม่กล้ามาโรงพยาบาลในช่วงดังกล่าว
อีกคำถามคือ “แล้วจะให้อยู่ที่ไหน” กลุ่มเสี่ยงสูงที่ได้รับการวินิจฉัยจากโรงพยาบาลแล้ว หากปล่อยให้กลับไปพักอาศัยร่วมกับคนอื่นๆ ย่อมมีความเสี่ยงแพร่เชื้อได้ จึงประสานกับผู้ประกอบการโรงแรมที่มีความพร้อมให้ใช้ห้องพักเป็นสถานที่กักกันโรค ประสานงานร่วมกับแพทย์ในการวางมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีการระดมทุนผ่าน “เทใจ (taejai.com)” เว็บไซต์สื่อกลางบริจาคเพื่อผู้ประสบภัยต่างๆ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับทางโรงแรม ซึ่งเมื่อนำทุกขั้นตอนมาร้อยเรียงกัน พบว่าได้ระบบการรับมือโรคระบาดครั้งนี้อย่างครบวงจร
“จากวันที่ 7 มี.ค. 2563 ผ่านไป 44 วัน เรารองรับคนแล้วประมาณ 1 แสนกว่าคน ซึ่งพอพ้นในช่วง 2 เดือนเรารองรับเป็นหลัก 2-3 แสนคน จินตนาการว่า 2-3 แสนคนที่มีความตระหนกทุกคนเทไปยังโรงพยาบาลจะเกิดอะไรขึ้น มันคือความวุ่นวาย เราก็เลยมองว่าสิ่งที่เราคิดในเบื้องต้นน่าจะตอบโจทย์ คือเรากรองคนที่ใช่ให้ไปรับ แต่มันมีอยู่ไม่กี่คนที่ให้ไปรับ แล้วความเสี่ยงสูงประมาณ 2 หมื่นกว่าคน แล้วส่งไปให้ รพ.จุฬาฯ กับ รพ.ราชวิถี วันละ 50 ราย เราก็บริหารจัดการมา
แล้วเราก็เอาข้อมูลจากโรงแรมที่เป็นพันธมิตรกับเรา ที่จัดเตรียมแล้วขึ้นมาออนไลน์เหมือน Agoda (เว็บไซต์จองห้องพักโรงแรมทั่วโลก) เพื่อให้คนที่อยากกลับจากต่างประเทศ อาจจะมีความเสี่ยง ตรวจเช็คแล้วผลเป็นบวก (ติดโควิด-19) แต่ไม่รู้จะไปที่ไหนไปหาที่พักตรงนี้ แล้วเราก็ระดมทุนบางก้อนจากเทใจมา Support (สนับสนุน) ที่พักของคนกลุ่มนี้ เพราะหลายคนเราค้นพบว่าเขาไม่มีเงินจ่าย โรงแรมที่มี Quality (คุณภาพ) ขนาดนี้ เราก็เลยต้องระดมทุนมาช่วยในเรื่องของค่าขนส่งคน ค่าที่พัก เพราะพื้นที่ตรงนี้สวัสดิการรัฐยังลงไปไม่ถึง” พณชิต ระบุ
หลังมาตรการล็อกดาวน์ผ่านไปสักระยะหนึ่ง ทั้งไทยและประเทศอื่นๆ เริ่มเตรียมการผ่อนคลายมาตรการโดยให้กิจการแต่ละประเภททยอยกลับมาเปิดได้เรียงจากความเสี่ยงต่ำ ปานกลางและสูงตามลำดับ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลหลายประเทศต้องการให้มีคือ “ระบบติดตามเพื่อสืบสวนโรค (Contact Tracing)” เช่น ในประเทศไทยมีแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ให้ประชาชนใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) เมื่อเข้า-ออกสถานที่ต่างๆ โดยหากพบผู้ติดเชื้อก็จะได้จำกัดวงในการค้นหากลุ่มเสี่ยงเฉพาะที่อยู่ในสถานที่และเวลาเดียวกัน
แต่ระบบนี้ก็ถูกตั้งคำถามทั้งในไทยและต่างประเทศในเรื่อง “ข้อมูลส่วนบุคคล” เพราะรัฐหรือแม้แต่เอกชนที่รัฐมอบหมายให้บริหารจัดการข้อมูล จะรู้หมดว่าคนคนหนึ่งเดินทางไปที่ไหนบ้างหรือพบปะกับใคร ซึ่ง ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้นำเสนอหัวข้อที่ 2 ในช่วงเช้า “บทเรียนของประเทศไทยในการสร้างความเชื่อมั่นต่อการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวเพื่อป้องกันการยับยั้งโรคระบาด” ได้กล่าวว่า เทคโนโลยีจะถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีนั้นด้วย
“ความเชื่อมั่น (Trust) ต่อเทคโนโลยีมันจะนำไปสู่การที่ข้อมูลไหลเวียนได้อย่างอิสระ นำไปสู่ขั้นต่อไปคือทำให้เกิด Competition (การแข่งขัน) หรือ Operation (ปฏิบัติการ) Competition ในสภาวะการแข่งขันทางเทคโนโลยี ส่วน Operation ก็ในภาวะโรคระบาดแบบนี้ ที่มันจะทำให้แต่ละองค์กรแต่ละหน่วยงานสามารถเอาข้อมูลมา Share (แบ่งปัน) กันเพื่อสร้างความร่วมมือกันได้
แต่ทีนี้มันจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีความเชื่อมั่นต่อกัน ซึ่งมีทั้งในมุมที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลและไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเรื่องนี้มันชัดเจนมากในช่วงที่ผ่านมา ว่าเราก็มี Contact Tracing Application (แอพพลิเคชั่นติดตามเพื่อสืบสวนโรค) มีการให้ข้อมูลกับสถานที่ต่างๆ ที่เราไป แล้วเราก็จะรู้สึกว่าถ้าเราไม่ไว้ใจพื้นที่นั้นเราก็จะไม่ค่อยอยากไปเท่าไร เราก็จะไม่ค่อยอยากใช้แอพพลิเคชั่นหรืออยากให้ข้อมูลเหล่านั้นเท่าไร” ฐิติรัตน์ อธิบาย
ฐิติรัตน์ กล่าวต่อไปว่า หลักการจัดเก็บและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มี 3 ประการคือ 1.จำเป็น ต้องมีเหตุผลเพียงพอว่าจะนำข้อมูลไปใช้ทำอะไร 2.โปร่งใสและเป็นธรรม ใครจะมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลได้บ้าง และ 3.ปลอดภัย ข้อมูลต้องถูกจัดเก็บโดยป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับข้อมูลนั้น ทั้งนี้ “ตามมาตรฐานของ สหภาพยุโรป (EU) กำหนดให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมโรคเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลของแอพพลิเคชั่นติดตามเพื่อสืบสวนโรค” หน่วยงานอื่นๆ เช่น หน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ หรือบริษัทเอกชน ไม่มิสิทธิ์เข้าถึง
ส่วนในช่วงบ่าย เริ่มต้นด้วย สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion นำเสนอหัวข้อที่ 3 “โควิด-19 คิดแต่ไม่ถึง กับความเหลื่อมล้ำยุคดิจิทัล” โดยกล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลสามารถแบ่งได้ 1.การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิต ได้แก่ 1.1 ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที เช่น เมื่อรัฐบาลไทยตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร พบว่าข้อมูลเชิงรายละเอียดมักถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊กเป็นหลัก
กับ 1.2 เข้าไม่ถึงสิทธิตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐ เช่น โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือนให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ร้านค้าถูกปิดหรือกลายเป็นคนว่างงานขาดรายได้ แต่การลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาต้องทำผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งหากย้อนไปดูช่วงเดือน เม.ย. 2563 ที่รัฐบาลเปิดรับลงทะเบียน มีการสำรวจพบผู้เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อมูลของ สำนักงานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อปี 2562 พบว่า มีคนไทย 50.1 ล้านคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ต จากประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคน หรือข้อมูลจาก โครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ ในปี 2561 มีผู้ลงทะเบียนเข้าใช้ประมาณ 6 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2561 พบว่า มีประชากรราวร้อยละ 40 ไม่ใช้อินเตอร์เน็ต เท่ากับว่ายังมีคนบางส่วนหลุดหายไป และการเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตในยุคนี้ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยฉุดรั้งผู้คนไม่ให้หลุดพ้นจากความยากจน
2.การมีทักษะในการอยู่กับโลกดิจิทัล ซึ่งมีหลายเรื่อง อาทิ 2.1 การตรวจสอบข่าวปลอม ผู้ที่ขาดทักษะดังกล่าวย่อมสุ่มเสี่ยงตกเป็นเหยื่อ โดยในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ มีการส่งต่อข่าวที่ไม่มีที่มาที่ไป เช่น การรักษาความชุ่มชื้นของลำคอช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ การใส่หน้ากากอนามัยทำให้เลือดเป็นกรด การทดสอบว่าติดเชื้อหรือไม่ด้วยการกลั้นหายใจ ฯลฯ แต่เคราะห์ดีที่ในไทยยังไม่มีใครเสียชีวิตจากการทำตามข่าวปลอมอย่างในต่างประเทศ แต่ก็มีความเสี่ยงโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ หากไม่มีทักษะนี้มักมีแนวโน้มเชื่อและส่งต่อได้ง่าย
กับ 2.2 การใช้เครื่องมือดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้คนตกงานสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก และแต่ละคนก็ต้องดิ้นรนหารายได้ ซึ่งมีปรากฏการณ์ทั้งด้านบวก เช่น มีเพจหรือกลุ่มเฟซบุ๊กระดับท้องถิ่นที่ตั้งเป็นศูนย์ประชาสัมพันธ์ว่าพื้นที่นั้นมีบริษัทห้างร้านใดเปิดรับสมัครงานบ้าง หรือช่องยูทูปที่สอนเทคนิคการขายของออนไลน์ และด้านลบ เช่น การขายบริการทางเพศในหลายรูปแบบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าห่วงโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อาจจะทำตามเพื่อน หรือการถูกล่อลวงให้ไปเล่นหรือไปทำงานเป็นเครือข่ายเว็บไซต์การพนันออนไลน์
และ 3.การเป็นพลเมืองดิจิทัล ประเด็นสำคัญคือ “การสร้างการมีส่วนร่วม” ด้านหนึ่งประเทศไทยยังขาดการเปิดเผยข้อมูลจากภาครัฐ แต่อีกด้านเห็นความร่วมมือจากภาคประชาชน เช่น ในช่วงแรกๆ ที่มีข่าวหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขาดแคลนในโรงพยาบาลหลายแห่ง พบประชาชนหลากหลายกลุ่มใช้ช่องทางออนไลน์ระดมจัดหาสิ่งของเหล่านั้นเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลดังกล่าว
ในขณะที่ภาครัฐไม่อยากให้โรงพยาบาลเปิดเผยข้อมูลเรื่องการขาดแคลน ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา หรือการทำแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ต่างคนต่างทำกันเองอย่างสะเปะสะปะ กรณีของไทยนั้นมีคนพยายามทำแอพฯ ระบุพิกัดว่าร้านไหนมีหน้ากากอนามัยจำหน่ายบ้างในช่วงที่หน้ากากขาดแคลน แต่เพราะไม่มีรัฐช่วยจึงไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูล ปล่อยให้ประชาชนใส่ข้อมูลกันเอง
ต่างจากไต้หวันที่มีแอพฯ อย่างเดียวกัน แต่มีรัฐเป็นผู้สนับสนุนเชื่อมฐานข้อมูลร้านจำหน่ายหน้ากากอนามัยกับแอพฯ ดังกล่าวให้ “ไทยไม่ได้ขาดเรื่องเทคโนโลยีหรือนักเทคโนโลยี มีพอสมควร มีดีด้วย และทำงานกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ดีพอสมควร แต่พอมันจะขึ้นไปถึงระดับนโยบายที่เราต้องใช้เป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ มันมักจะไม่สำเร็จ แล้วก็อาจจะสุดท้ายไปทำเอง หรือไม่ยอมให้ทำ หรือไม่อยากเปิดเผยข้อมูล ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจว่าจะพัฒนาหรือเรียนรู้จากบทเรียนเหล่านี้ แล้วค่อยๆ เปิดการพูดคุยว่าความกังวลของทั้ง 2-3 ฝ่ายมันคืออะไร แล้วจะแก้ปัญหาในอนาคตอย่างไรขณะเดียวกันก็มีหน่วยงานที่ทำงานในลักษณะเปิด หรือสร้างการมีส่วนร่วมอยู่แล้ว เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สสส. ก็ออกมาหนุนเรื่องนี้พอสมควร” สุนิตย์ กล่าว
และหัวข้อที่ 4 ของการสัมมนาครั้งนี้ “พลเมืองยุคดิจิทัลกับการรับมือโรคระบาดของข้อมูลข่าวสาร” นำเสนอโดย พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท. กล่าวว่า พลเมืองดิจิทัลหมายถึง ผู้ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตแล้วสามารถใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อมีส่วนร่วมในสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ และมีความปลอดภัย ซึ่งการเป็นพลเมืองดิจิทัลต้องมี 8 ทักษะ คือ 1.การรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง 2.การรักษาข้อมูลส่วนตัว 3.การคิดวิเคราะห์และมีวิจารณญาณที่ดี 4.จัดสรรเวลาหน้าจอได้
5.รับมือกับการคุกคามทางออนไลน์ 6.บริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานทิ้งไว้ (Digital Footprint) จะโพสต์อะไรต้องตระหนักว่าเป็นร่องรอยทิ้งไว้ 7.รักษาความปลอดภัยของตนเองทางออนไลน์ และ 8.ใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม คำถามคือ “ทักษะเหล่านี้รับมือโรคระบาดของข้อมูลข่าวสาร (Infodemic) ได้เพียงใด” กระทั่งการมาของไวรัสโควิด-19 จึงเป็นบททดสอบครั้งสำคัญ
โดยหากย้อนไปในปี 2558 บิลล์ เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ไว้ตอนหนึ่งว่า “โลกยังไม่พร้อมรับมือสถานการณ์โรคระบาด” แล้วอีก 5 ปีให้หลังเมื่อโควิด-19 มาเยือน การจัดการอะไรหลายๆ อย่างก็พบว่ายังห่างไกลจากคำว่าความพร้อมจริงๆ เพราะเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง ต่างจากภัยออนไลน์ต่างๆ เช่น การถูกเจาะระบบ (Hack) หรือถูกหลอกลวง เป็นสิ่งที่คาดเดาได้และเตือนให้ระวังตัวได้ และยิ่งกับผู้ที่ขาดทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัลด้วยแล้วอาจทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง เช่น กลายเป็นผู้เผยแพร่ข่าวปลอม
“มีคุณหมอคนจีนที่เขาบอกว่าเป็นตำนาน ที่เป็นคนรู้คนแรกแล้วก็ไปแจ้งตำรวจแล้วพยายามจะเตือน แต่สุดท้ายตำรวจที่จีนมาล็อกเขาแล้วก็ไม่ยอมให้เขาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ผมคิดว่าการเปิดโครงสร้างความเสรีเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะมันเกิดที่จีน มันอาจจะส่งผลหรือเกี่ยวข้องกับสถานการณ์กลับมาด้วยเหมือนกัน หลังจากนั้นก็จะมีข้อมูลข่าวสารหลายๆ อย่างซึ่งหลายคนคงจะเคยเห็นภาพพวกนี้อยู่แล้ว มี Conspiracy Theory (ทฤษฎีสมคบคิด) มันกำเนิดมาจากแล็บตรงนั้นตรงนี้ มีข้อมูลชิ้นนั้นชิ้นนี้เพื่อสนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดเหล่านั้น
มีการโยงกับเรื่องที่เป็นส่วนตัว มีการเอาภาพจากต่างประเทศมาทำให้สถานการณ์ที่มีอยู่แล้วก็รู้สึกแย่ลง ซึ่ง Loop (วงจร) แบบนี้มันไม่ได้เกิดที่แค่ที่ประเทศไทย แต่ในช่วงต้นๆ พอประเทศไหนมีการระบาด มันจะมี Set (ชุด) ของข้อมูล ที่มาใกล้เคียงกัน คือมีภาพคนล้ม คนตาย ภาพอะไรออกมาที่มันทำให้เกิดความตื่นตระหนก เหมือนกับที่เราเจอในประเทศไทยช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2563 พอพม่า (เมียนมา) ระบาดหนัก ภาพเหล่านี้ก็เกิดขึ้นที่พม่าเหมือนกัน” พีรพล ยกตัวอย่าง
พีรพล กล่าวสรุปว่า ในมุมหนึ่งการมีข้อมูลข่าวสารและเกิดความตระหนักเป็นเรื่องดี แต่ในบางกรณีเมื่อไปบวกกับความบกพร่องในวงจรการสื่อสาร หรือความไม่สมบูรณ์ของวงจรการสื่อสารในปัจจุบัน เช่น การที่มีผู้ปล่อยข่าวปลอมแล้วยังมีรายได้จากการปล่อยข่าวปลอมนั้นอยู่ หรือการสร้างข้อมูลเท็จที่ทำขึ้นได้ง่าย หรือมีข้อมูลเท็จไว้ใช้เพื่อวัตภุประสงค์อื่น ทำให้สถานการณ์ในโลกจริงเลวร้ายลงไปด้วย เพราะโลกจริงกับโลกอินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงกัน
ปิดท้ายด้วยการระดมความคิดเห็นในหัวข้อ “การส่งเสริม Digital Intelligence ให้พลเมืองดิจิทัลรับมือด้านมืดไชเบอร์ยุคนิวนอร์มอล” โดยเริ่มจาก สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (COFACT) ประเทศไทย ยกตัวอย่างด้านมืดที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเรื่องเพศสำหรับผู้ใหญ่มีผู้คนเข้าชมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 คำถามคือคลิปวีดีโอในเว็บไซต์เหล่านั้นมาจากความยินยอมของบุคคลที่ปรากฏในคลิปนั้นเอง หรือมาจากการละเมิดที่มีผู้หญิงตกเป็นเหยื่อ
รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ อดีตคณบดี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกตัวอย่างปรากฏการณ์ Echo Chamber (ห้องเสียงสะท้อน) หรือ Filter Bubble (ฟองสบู่ตัวกรอง) เนื่องจากระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งนำมาใช้บริหารจัดการสื่อออนไลน์ต่างๆ จะคัดเลือกแต่ข้อมูลที่ผู้ใช้งานแต่ละคนชอบหรือสนใจมาให้ และกันข้อมูลด้านอื่นๆ ออกไปจากความรับรู้ นานวันเข้าแต่ละคนก็จะเคยชินกับการรับข้อมูลด้านเดียวโดยไม่รู้ตัว และนำไปสู่การแบ่งแยกในสังคมอันเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล ผู้อำนวยการองค์กร Phandeeyar กล่าวถึงภาวะที่ผู้คนใช้ชีวิตกับโลกออนไลน์จนหลงลืมชีวิตในโลกจริง ทำให้สูญเสียสิ่งสำคัญไป 2 เรื่องคือ 1.การย้อนดูตนเอง (Self-Reflection) มนุษย์จำเป็นต้องมีเวลาอยู่กับตนเองบ้าง เพราะมีความสำคัญกับการทำงานของสมองซึ่งมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ แต่ทุกวันนี้แทบไม่มีเวลาให้กับตนเองเพราะว่างเมื่อใดก็มองหน้าจอโทรศัพท์มือถือตลอด กับ 2.มนุษย์สัมพันธ์ (Relationship) เช่น แม้จะมานัดรวมตัวกันในร้านกาแฟ แต่ละคนก็จะนั่งดูหน้าจอโทรศัพท์มือถือแทนที่จะพูดคุยกับคนตรงหน้า เป็นต้น
COFACT : ข่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: