อุบลราชธานี-อว.ชูผลงาน ม.อุบลฯ เครื่อง UBU-UVC เป็น 1 ใน 11 ผลงานและนวัตกรรมเด่น “ตอบรับชีวิตวิถีใหม่” ภาวะวิกฤต Covid-19
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานแถลงสรุปผลงานเด่น ปี 2563 และแผนยุทธศาสตร์ปี 2564 พร้อมมอบรางวัลผลงานและนวัตกรรมเด่นตอบรับชีวิตวิถีใหม่และการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤต Covid-19 ในรอบปีที่ผ่านมา โดย ผลงานนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เครื่อง UBU-UVC: Smart Germicidal Irradiation Machine และการดำเนินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็น 1 ใน 11 ผลงานและนวัตกรรมเด่นตอบรับชีวิตวิถีใหม่และการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤต Covid-19 รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานมอบ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และบริการวิชาการ และ ดร.อนิรุธ สืบสิงห์ ตัวแทนคณะผู้ประดิษฐ์ เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยเข้ารับรางวัลและร่วมนำเสนอผลการดำเนินงาน ณ โรงแรมเรอเนสซองส์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี กล่าวว่า ผลงานเครื่อง UBU-UVC: Smart Germicidal Irradiation Machine และการดำเนินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผลิตขึ้นภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารศาสตร์ ผู้ประกอบการ และบริษัทภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเป็นเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่มีศักยภาพสูง ในการกำจัดหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งเชื้อไวรัส Covid -19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของเครื่องและระบบการทำงาน ประกอบด้วยหลอดยูวีซี (UVC) ขนาดรวม 320 วัตต์ พร้อมระบบควบคุมด้วยเทคโนโลยี Internet of Things ผ่าน Smartphone สามารถความคุมการเปิด-ปิดเครื่อง และตั้งเวลาการทำงานระยะไกลได้ด้วยการเชื่อมต่อผ่านทางระบบ Bluetooth โดยเครื่องนี้จะใช้หลอดไฟฟ้าชนิด UVC ที่สามารถสร้างรังสีอัลตราไวโอเล็ต มีความยาวคลื่นที่ 253.7 นาโนเมตร ซึ่งเป็นช่วงแสง UVC มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหรือเชื้อโรคต่างๆ โดยที่ความยาวคลื่นนี้จะสามารถทำลายโครงสร้างดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างไวรัส, แบคทีเรีย, เชื้อราและเชื้อโรคชนิดต่างๆ หยุดยั้งประสิทธิภาพในการแพร่พันธุ์และฆ่าพาหะเหล่านี้ สามารถทำงานครอบคลุมพื้นที่ขนาด 14 – 25 ตารางเมตร ระยะเวลาที่ใช้ฆ่าเชื้อขึ้นอยู่กับระยะห่างจากผิวหลอด UVC ด้านนอกไปยังพื้นผิวที่แสงตกกระทบ จากการคำนวณพบว่าภายในรัศมี 2-3 เมตร จะใช้เวลาในการฆ่าเชื้อ 15-30 นาที
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการผลิตและมอบเครื่อง UBU-UVC : Smart Germicidal Irradiation Machine ให้กับโรงพยาบาล หน่วยงานราชการ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อาทิ โรงพยาบาลวารินชำราบ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ และศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น พร้อมขยายสู่พื้นที่ทั่วอีสานต่อไป จากผลการดำเนินงาน นวัตกรรมดังกล่าวได้ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสต่างๆ รวมทั้งไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดแก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลซี่งเป็นหน่วยหลักในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน นับว่านวัตกรรม UBU-UVC เป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาสถานการณ์และสามารถช่วยรับมือกับการระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีตั้งศูนย์ประสานงานเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีอธิการบดีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ โดยจัดให้มีนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการใช้ชีวิตวิถีใหม่ อาทิ Application บันทึกรายชื่อมหาวิทยาลัย เครื่องปั๊มเจลล์ล้างมืออัตโนมัติ การผลิตเจลล์ล้างมือ การสนับสนุนพื้นที่เพื่อเป็นสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organizational Quarantine) และการให้บริการตรวจคัดกรองและวิเคราะห์ผลโดยห้องปฏิบัติการ
หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจให้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผลิตแล้วนำไปบริจาคแก่หน่วยงานด้านสาธารณสุข สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.อนิรุธ สืบสิงห์ ผช.ผอ.โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โทรศัพท์ 09-7992-9428 หรือที่อีเมล [email protected]
เพลิน วิชัยวงศ์ งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี / ข่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: