เทศกาลกินสบายใจอุบลฯ ชวนเปลี่ยนความคิด หนุนการตลาด สร้างกลไก เกษตรอินทรีย์ อย่างยั่งยืน
ณ ห้างสรรพสินค้าสุนีย์ทาวเวอร์ จังหวัดอุบลราชธานี มูลนิธิสื่อสร้างสุข ร่วมกับเครือข่าย ภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมเทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรคปี 9 แบบ new normal ระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม 2564 ชวนผู้ผลิต ผู้บริโภค เปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อาหารปลอดภัย ด้วยเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน
โดยตลอดทั้งงานมีกิจกรรมมากมาย การเสวนาชวนเปลี่ยน live สดขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ การเวิร์คช็อปชวนเปลี่ยน ซึ่งในภาคบ่ายของเทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรคปี 9 วันที่ 29 มกราคม 2564 ได้จัดเสวนาหัวข้อ “เปลี่ยน..เกษตรอินทรีย์อุบลฯ” นำทีมโดย ดร.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ ,ดร.พิศมัย ศรีเนตร ,อาจารย์กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น,ดร.กฤตยา อุทโธ คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมแลกเปลี่ยนและชวนหาทางออกของการเปลี่ยนแปลงทางเกษตรอินทรีย์อุบลฯ
ดร.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ภายใต้การทำงานเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะตัวตลาด ตัวผู้ผลิต ตัวผู้บริโภคคือภาคส่วนที่ทำงานร่วมกัน ตนเองมองว่าอุบลยังขาดเรื่องกลไกการทำงาน การตลาด ระบบการวางแผนด้านการผลิต เพราะเมื่อมีสินค้าที่หลากหลายก็จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งนี้การเปลี่ยนสินค้าเกษตรอินทรีย์ใน จ.อุบลฯ ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การสร้างอัตลักษณ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ ให้โดดเด่นเป็นมาตรฐานเดียวกัน เชื่อมร้อยเรื่องราวให้เป็นหนึ่งสอดคล้องกับความต้องการ
ถัดมา ดร.พิศมัย ศรีเนตร หัวหน้าสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันหลายคนยังเชื่อว่าการทำเกษตรแบบเดิมทำให้ได้ผลิตผลดีที่สุด แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์คือเห็นความสำคัญของปัญหาด้านสุขภาพ ส่งผลให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตปลูกแบบธรรมชาติ ทั้งนี้การจะปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ผลิตทั่วไปนับว่าเป็นสิ่งที่ยาก เกษตรกรต้องอาศัยระยะเวลาและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ด้าน อาจารย์กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เผยว่า ผู้บริโภคอินทรีย์ใน จ.อุบล สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้บริโภคในหน่วยงาน เช่น สสจ. รพ. ที่เริ่มปรับเปลี่ยนระบบบริโภคอาหารปลอดภัยให้ผักอินทรีย์เข้าไปสู่โรงพยาบาล 2.กลุ่มผู้บริโภคทั่วไป แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ 1.ประเด็นสุขภาพ 2.ห้าง ร้านค้าร้านอาหาร
ซึ่งทั้งหมดจะมีกลไกเชื่อมโยงที่สำคัญมีอยู่ 2 ระดับ 1.กลไกการคิดการสื่อสาร เช่น หน่วยสาธารณสุขพยายามจะสื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลดีของเกษตรอินทรีย์ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ 2.กลไกส่งเสริมพฤติกรรมเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคให้เป็นรูปแบบรูปธรรมเชื่อมโยงการกิน การปลูก ใช้วิธีการสื่อสารในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งในการสื่อสารด้านเกษตรอินทรีย์ สื่อจะมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากหากรู้จักกระตุ้นผู้บริโภค 1.เปลี่ยนความคิดผู้บริโภคหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง 2.เชื่อมั่นการผลิต เชื่อมั่นตัวเกษตรกร เชื่อมั่นในผลผลิต 3.เครือข่ายของผู้บริโภค กลไกตลาดการซื้อและการขายต้องสมดุลกัน
และ ดร.กฤตยา อุทโธ หัวหน้าสาขาวิชานวัตกรรม คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ส่วนตัวตนเองมองเห็นการเติบโตของเกษตรอินทรีย์ใน 10 ปีข้างหน้า จะมีการขยับขยายในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศหรือระดับสากล แม้แต่ตัวผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาเริ่มผลิตเองและขายเอง ส่วนเรื่องของการตลาดจะเป็นเพียงการส่งเสริมและการจัดตั้ง และด้านเกษตรกรก็จะผันตัวเองเป็นผู้สร้างขยายท้องถิ่นเป็นตลาดอินทรีย์ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อสื่อเข้ามาเป็นตัวช่วยของหน่วยงาน ผลักดันเกษตรอินทรีย์ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนรุ่นใหม่
สามารถชมการเสวนาย้อนหลัง “เปลี่ยน..เกษตรอินทรีย์อุบลฯ”
ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.
ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ เรียบเรียง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: