อุบลราชธานี-ภาครัฐควรหนุนระบบสำรองอาหารภาวะวิกฤต ส่งเสริมเกษตรกรท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและระบบกลไกที่ซับซ้อน
มูลนิธิสื่อสร้างสุข ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ภาครัฐและเอกชน โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมงานเทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรค ปี 9 “โควิด-19 เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก” เพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะที่ดี พัฒนาห่วงโซ่อาหารปลอดภัย และส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม 2564 ณ ลานแสดงกิจกรรม ชั้น 1 ห้างสรรพสินค้า สุนีย์ทาวเวอร์ อุบลราชธานี
โดยวันนี้(31 ม.ค.64) เทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรค ปี 9 ดำเนินกิจกรรมมาเป็นวันสุดท้าย ซึ่งมีกิจกรรมมากมายให้ผู้ที่สนใจได้เข้าร่วม อาทิ การประกวด organic got talent ขายให้ปัง,การประกวดเมนูอาหารสุขภาพจากแป้งมันออร์แกนิค, work shop ชวนเปลี่ยน น้ำผักผลไม้ปั่นต้านโรค และกิจกรรมเวทีเสวนาชวนเปลี่ยนในรูปแบบออนไลน์ พร้อมออกอากาศสดผ่านช่องทางออนไลน์ เพจกินสบายใจ เพจอุบลคอนเนก เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ช่อง VR Cable tv เพจสถานีข่าววีเคเบิ้ลทีวีอุบลฯ เพจอยู่ดีมีแฮง เพจ Sunee Tower เพจมูลนิธิสื่อสร้างสุข และสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี
ซึ่งในส่วนของเวทีการเสวนา“ชวนเปลี่ยน”ภาคเช้า เวลา 10.30 – 12.00 น. ได้มีการพูดถึงหัวข้อ”โควิด ปิดเมือง ไม่อดตาย” โดยได้รับเกียรติจาก อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน,จินตรา มีศรี จากสวนกินเป็นยา มาร่วมเสวนาพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองเสริมความรู้
จินตรา มีศรี จากสวนกินเป็นยา อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เล่าว่า สวนกินเป็นยา เป็นการเริ่มต้นจากการทำเกษตรบริโภคภายในครอบครัวทำแล้วมีความสุขพึ่งพาตนเองได้ จนขยับขยายเป็นธุรกิจเป็นอาชีพ ขายผักสดตามฤดูกาล แปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นขนมปัง เครื่องดื่ม ชา ซึ่งการทำเกษตรต้องใช้ทั้งเงินทุนและแรงงาน โดยทั้งนี้หากเกิดสถานการณ์ปิดเมือง เชื่อตนเองและครอบครัวจะสามารถอยู่ได้ด้วยผลผลิตในสวนไม่อดตาย
อย่างไรก็ตามการดำเนินงานของสวนกินเป็นยาก็พบปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะคนรอบข้างยังไม่มีคนเข้าใจมีแต่คนตั้งคำถามสงสัย ทั้งนี้ส่วนตัวเองพยายามสื่อสารให้คนรอบเข้าใจใช้พื้นที่ออนไลน์สื่อสารเปิดตนเองให้เป็นสาธารณะ ใช้ความสามารถความรู้แลกเปลี่ยนกับผู้ที่สนใจถึงจะไม่เชี่ยวชาญแต่สามารถถ่ายทอดปัญหาให้กับชุมชน สังคม เพื่อสร้างพัฒนาระบบอาหารปลอดภัย
นอกจากนี้ตนเองยังให้ความสำคัญกับอาหารของเด็ก เริ่มต้นจากการสร้างอาหารที่ดีให้กับลูกหลาน อาหารที่บริโภคต้องรู้แหล่งที่ไปที่มา โดยพ่อแม่ต้องตระหนักถึงสารอาหาร เพราะเด็กยังอ่านฉลากไม่ออก ต้องสร้างการเรียนรู้เรื่องอาหารให้เด็กเล็ก สร้างภูมิกันให้กับเขา ช่วยเด็กพัฒนาทักษะการบริโภคอาหาร
อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เผยว่า เมื่อเกิดวิกฤตโลกแต่ประเทศไทยไม่วิกฤต เพราะประเทศไทยส่วนหนึ่งยังมีพื้นที่ชนบทมีฐานทรัพยากรอยู่มาก สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ แต่ในทางกลับกันภาคอีสานความมั่นทางอาหารเริ่มเกิดปัญหา เพราะการขยายตัวของการเลี้ยงพืชเชิงเดี่ยว มีความเสี่ยง เพิ่มความเปราะบางในระบบความมั่นทางอาหาร
ส่วนสถานการณ์การบริโภคอาหารในภาวะวิกฤตโควิดนั้นก็ทำให้เห็นภาพว่า คนกลุ่มเปราะบางไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้ เพราะในปัจจุบันคนไทยมีอาชีพขายแรงงานแลกเงิน เมื่อกิจการถูกสั่งปิดไม่มีการจ้างงาน ประชาชนไม่มีเงินไม่มีรายได้ ไม่สามารถเข้าไม่ถึงอาหารได้
ทั้งนี้ การเชื่อมโยงอาหารกับคนจนเมือง ต้องเริ่มสร้างระบบอาหารในภาวะวิกฤต เริ่มสำรองอาหารในระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ประเทศไทยต้องหันมาตระหนักกับความมั่นคงทางอาหาร ระดับชุมชนต้องหันมาให้ความสำคัญ อย่าหลงระเริงกับการเลี้ยงพืชเชิงเดี่ยว เพื่อการค้าพาณิชย์
ด้านคำว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง ” เป็นวลีที่แสดงสัจธรรมที่แท้จริง ภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลงระบบสำรองอาหารใหม่ รัฐต้องแจกจ่ายอาหารให้คนไม่มีรายได้ ส่งเสริมการบริโภคอาหารในท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำ โดยในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ประเทศไทยเกิดความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งความเหลื่อมล้ำมาจากกลไกของภาครัฐ ระบบราชการ มาตรฐานซับซ้อน การผลิต การขนส่ง ไม่ยุติธรรม การผลิตกระจุกอยู่ไม่กี่บริษัทเป็นปัญหากับประชาชน
กลไกของรัฐ จะต้องถูกตั้งคำถามและถูกวิพากษ์วิจารณ์ ประชาชนคนเล็กคนน้อยก็ต้องพยายามสู้อยู่สายพานใหญ่ของระบบอาหาร อาหารจากระบบอาหารสายพานใหญ่ที่มีความเหลื่อมล้ำมีความไม่ยุติธรรมส่งผลกระทบหลายอย่าง ทั้งนี้รัฐต้องสร้างให้คนท้องถิ่น สามารถเข้าระบบสายพายของอาหาร ระบบอาหารต้องอยู่ร่วมกันได้ในสังคมอย่างมีความสุข
สามารถชมย้อนหลังการเสวนา “โควิด ปิดเมือง ไม่อดตาย”
ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.
ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ เรียบเรียง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: