ม.อุบลฯ ร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำร่องโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอำนาจเจริญ เปิดโครงการ “กองบุญข้าวปันสุข” กินบ่บก จกบ่เบิด
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ และชาวบ้านหนองทับม้า หมู่ 11
ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอำนาจเจริญ สนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ลงพื้นที่เปิดโครงการนำร่องแก้ปัญหาความยากจน “กองบุญข้าวปันสุข” โดยมี นายธนูสินธ์ ไชยสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานพิธีเปิดและร่วมพิธีสู่ขวัญข้าว ร่วมเสวนา หัวข้อ “กองบุญข้าวปันสุข : กินบ่บก จกบ่เบิด”
มีผู้ร่วมการเสวนาประกอบด้วย นายธนูสินธ์ ไชยสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นายนิกร ทองจิตร นายอำเภอเสนางคนิคม รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ และหัวหน้าโครงการฯ รองศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ผู้บริหารโครงการฯ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายวานิชย์ บุตรี ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ
และ นายสายัณห์ ทองหล่อ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้แทนชาวบ้าน บ้านหนองทับม้า ม.11 ต.เสนางคนิคม ดำเนินรายการโดย นายธวัช มณีผ่อง อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ และนักวิจัยโครงการฯ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จากนั้น ผู้เข้าร่วมงานร่วมแรงร่วมใจทำบุญเลี้ยงพระ และช่วยกันขนข้าวขึ้นฉาง ณ ศาลาประชาคมบ้านหนองทับม้า หมู่ 11 ตำบลเสนางคนิคม อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สำหรับวัตถุประสงค์ในการลงพื้นที่วิจัยบ้านหนองทับม้า หมู่ 11 ครั้งนี้ เพื่อสำรวจข้อมูลคนจนระดับครัวเรือนในจังหวัดอำนาจเจริญ ติดตาม วิเคราะห์ข้อมูลคนจนระดับครัวเรือนและจัดแยกหมวดหมู่คนจนตามตัวชี้วัด 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนการเงิน ทุนทรัพยากรธรรมชาติ และทุนทางสังคม
มหาวิทยาลัยได้สำรวจข้อมูลคนจนจังหวัดอำนาจเจริญเรียบร้อยแล้วและได้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจน ชื่อ “กองบุญข้าวปันสุข” ขึ้น ณ บ้านหนองทับม้า หมู่ 11 ตำบลเสนางคนิคม อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ
เนื่องจากโครงการนี้ดำเนินการวิจัยภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ส่วนราชการในจังหวัด ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานระดับชาติทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดผ่านการใช้กลไกการทำงานแบบมีส่วนร่วม (Participatory approach) จึงมีโอกาสในการผลักดันให้มีการนำข้อมูลและข้อเสนอจากโครงการไปใช้ในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจน และจัดทำเป็นโครงการพัฒนาระดับพื้นที่ได้
การผลักดันให้มีการนำ Business model ที่ได้มาจากบทเรียนการทำโครงการนำร่องที่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของพื้นที่ โดยใช้ทีมทำงานที่สร้างขึ้นเป็นแกนในการขับเคลื่อน เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ อันจะนำไปสู่การขยายผลต่อไป ตลอดจนการเผยแพร่เรื่องราวการทำงานของโครงการ และแนวทางการพัฒนาคนจน ตลอดจนเรื่องราวซึ่งสะท้อนแก่นแท้ของปัญหาและสาเหตุของคนจนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนัก สร้างการรับรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมให้แก่ชุมชน สังคม เพื่อสร้างให้เกิดแรงผลักดันการทำงานผ่านกลไกกระแสสังคมต่อไป
——————————————-
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: