X
ข่าวลวง

งานวิจัยพบ ‘ข่าวลวง’ เสี่ยงระบาดหนักใน ‘กลุ่มปิด’ 

งานวิจัยพบ ‘ข่าวลวง’ เสี่ยงระบาดหนักใน ‘กลุ่มปิด’  แนะแพลตฟอร์มหาวิธีแก้ไข-สร้างอาสาฯ ร่วมตรวจสอบ

บ่ายวันที่ 27 พ.ค. 2564 โคแฟค ประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานแถลงข่าว (ออนไลน์) “ถอดรหัสข่าวลวง: เปิดรายงานโคแฟค ที่มา ลักษณะข่าวลวงและข้อเสนอแนะ” (De-coding Disinformation: Cofact Original Report and Recommendations)

โดย นายชิตพงษ์ กิตตินราดร ผู้แทนทีมวิจัยสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาการตรวจสอบและยับยั้งข่าวลวง  ทุกฝ่ายมีความพยายามกันมาตลอด เพียงแต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าข่าวลวงเหล่านี้มีที่มาอย่างไร จะใช้วิธีการใด ทำงานร่วมกับหน่วยงานใดเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจาย

นายชิตพงษ์  ยกตัวอย่างข่าวลวงบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนขึ้นมาศึกษา และแบ่งผู้เกี่ยวข้องเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้เผยแพร่ข่าว (Spreader) และผู้แก้ไขข่าว (Corrector) ประกอบด้วย ข่าวที่เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงประเด็นอื่นๆ ด้านสุขภาพ

อาทิ 1.สมุนไพรฟ้าทะลายโจรป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ซึ่งผลการวิจัยในปัจจุบันพบแต่เพียงว่ามีฤทธิ์ในการรักษาและสร้างภูมิคุ้มกันได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ยังไม่มีข้อค้นพบด้านการป้องกันแต่อย่างใด แต่หลายคนก็ไปหาซื้อมากินไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว

การค้นหาระหว่างวันที่ 10 ก.พ. -10 พ.ค. 2564 พบข้อความเผยแพร่ข่าวลวง 180 ข้อความ และข้อความแก้ไขข่าวลวง 401 ข้อความ โดยในกลุ่มข้อความเผยแพร่ข่าวลวง เกี่ยวข้องกับการขายสินค้ามากที่สุด คือยาฟ้าทะลายโจร ถึง 121 ข้อความ

รองลงมาคือ ไม่มีความรู้หรือเข้าใจผิด 52 ข้อความ ทั้งนี้ การเผยแพร่หลายครั้งใช้ถ้อยคำอ้างถึงกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า ฟ้าทะลายโจรมีสาร “แอนโดร การ์โพร์ไลท์” มีฤทธิ์ต้านเชื้อโควิด-19 ไม่ให้เข้าสู่เซลล์ และต้านการแตกตัวของเชื้อโควิด-19 ในร่างกายได้

ซึ่งต้นตอของข่าวนี้ น่าจะมาจากคลิปวีดีโอหนึ่งในเว็บไซต์ยูทูป ที่โพสต์ไว้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ที่ขณะนั้นไวรัสโควิด-19 กำลังเริ่มระบาด โดยในคลิปมีการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาก็ไม่บอกว่าฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด โดยยังต้องทำการศึกษาต่อไป เพียงแต่ผู้โพสต์คลิปไปบิดเบือนโดยพาดหัวว่าฟ้าทะลายโจรป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ จากนั้นก็มีการส่งต่อกันโดยไม่ได้เข้าไปดูเนื้อหาในคลิปวีดีโอว่ากล่าวถึงในประเด็นใด

2.มะนาวโซดาฆ่าเชื้อโควิด-19 ค้นหาระหว่างวันที่ 12 ธ.ค. 2563-12 มี.ค. 2564 พบข้อความเผยแพร่ข่าวลวง 2 ข้อความ และข้อความแก้ไขข่าวลวง 18 ข้อความ เช่นเดียวกับมะนาวโซดารักษาโรคทะเร็ง พบข้อความเผยแพร่ข่าวลวง 3 ข้อความ และข้อความแก้ไขข่าวลวง 157 ข้อความ อย่างไรก็ตาม สันนิษฐานว่า ข้อความเผยแพร่ข่าวลวงน่าจะไปอยู่ในกลุ่มสนทนาแบบกลุ่มปิด เช่น แอปพลิเคชั่นไลน์ ทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ ต่างจากสื่อออนไลน์หรือเว็บไซต์ที่เปิดเป็นสาธารณะให้คนทั่วไปดูได้ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ยูทูป พันทิป

3.คลิปเสียงแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช ระบุว่าการดื่มยาเขียวช่วยป้องกันและรักษาโรคจากไวรัสโควิด-19 ได้ ค้นหาระหว่างวันที่ 10 ก.พ. -10 พ.ค. 2564 ไม่พบข้อความเผยแพร่ข่าวลวง แต่พบและข้อความแก้ไขข่าวลวง 39 ข้อความ สันนิษฐานว่า ข้อความเผยแพร่ข่าวลวงน่าจะไปอยู่ในกลุ่มสนทนาแบบกลุ่มปิด 4.อดีตหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของบริษัทไฟเซอร์ เตือนว่าผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ค้นหาระหว่างวันที่ 13 ก.พ.-13 พ.ค. 2564 พบข้อความเผยแพร่ข่าวลวง 33 ข้อความ และข้อความแก้ไขข่าวลวง 1 ข้อความ

อย่างไรก็ตาม ข่าวลวงเรื่องนี้พบว่าผู้ที่แชร์มักเป็นบุคคลทั่วไปที่ใช้เฟซบุ๊ก ไม่ใช่เพจหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมีผู้ติดตามจำนวนมาก ส่วนที่มานั้นมาจากเว็บไซต์แห่งหนึ่งในต่างประเทศที่มักนำเสนอข่าวลวงหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้สำนักข่าวดังกล่าวยังมีบัญชีสำหรับเผยแพร่คลิปวีดีโอบนเว็บไซต์ยูทูป แต่ในเวลาต่อมาบัญชีดังกล่าวได้ถูกยูทูประงับการใช้งานไปแล้วจากพฤติกรรมนำเสนอข่าวลวง

นายชิตพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ยังมีข่าวลวงเรื่องอื่นๆ ที่ถูกหยิบยกมาทำการศึกษา เช่น ข่าวแอปพลิเคชั่นเป๋าตังค์ สามารถใช้กู้ยืมเงินสดได้ ค้นหาระหว่างวันที่ 13 ก.พ.-13 พ.ค. 2564 ไม่พบข้อความเผยแพร่ข่าวลวง แต่พบและข้อความแก้ไขข่าวลวง 16 ข้อความ สันนิษฐานว่า ข้อความเผยแพร่ข่าวลวงน่าจะไปอยู่ในกลุ่มสนทนาแบบกลุ่มปิด อย่างไรก็ตาม มีการค้นพบเว็บไซต์ที่มีเนื้อหารวบรวมแหล่งเงินกู้ โดยใช้ข้อความทำนองเดียวกันข่าวลวงนี้ อาทิ แอปเป๋าตังค์และวิธีสมัครยืมเงิน 5,000 อนุมัติ 3 นาที หรือ กู้เงินออนไลน์ : มาตรการคนละครึ่งแอพกระเป๋าตังค์ เป็นต้น

รวมถึง ข่าวลวงเรื่องคลื่นความหนาวปกคลุมประเทศไทยทุกภาค โดยอ้างรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ค้นหาระหว่างวันที่ 15 พ.ย. 2563-16 ก.พ. 2564 ไม่พบข้อความเผยแพร่ข่าวลวง แต่พบและข้อความแก้ไขข่าวลวง 5 ข้อความ สำหรับข่าวลวงนี้ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เป็นข่าวที่ส่งต่อวนกันมาหลายปี เบื้องต้นพบว่ามีมาตั้งแต่ปี 2561 และผู้ที่ออกมาชี้แจงว่าข่าวคลื่นความหนาวไม่เป็นความจริงแทบทุกครั้งคือ กรมอุตุนิยมวิทยาเอง แต่สำหรับที่มาของข้อความเผยแพร่ข่าวลวงนั้นสืบหาไม่ได้ และคาดว่าการส่งต่อข่าวลวงนี้น่าจะไปอยู่ในกลุ่มสนทนาแบบกลุ่มปิด

นายชิตพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า บทสรุปจากการศึกษาในครั้งนี้คือ 1.สำหรับข่าวลวงที่คาดว่าเผยแพร่ในกลุ่มสนทนาแบบกลุ่มปิด เช่น ในกรณีประเทศไทยคือแอปฯ ไลน์ น่าจะมีการหารือร่วมกับทางบริษัทไลน์สาขาประเทศไทย เพื่อหาช่องทางตรวจสอบข่าวลวงบนแพลตฟอร์มดังกล่าว หรือสร้างเครือข่ายอาสาสมัครตรวจสอบข่าวลวง หากข้อความใดน่าสงสัย อาจส่งเข้ามาให้ทางโคแฟคตรวจสอบก่อนนำข้อมูลที่ถูกต้องกลับไปเผยแพร่ในกลุ่ม

2.ข่าวลวงที่พบต้นทางชัดเจน ควรประสานผู้ให้บริการแพลตฟอร์มให้ติดป้ายแจ้งเตือนหรือนำข่าวลวงนั้นออกจากระบบ และ 3.ที่ผ่านมาหน่วยงานหรือกลุ่มตรวจสอบข่าวลวง มักเลือกตรวจสอบในประเด็นที่แต่ละหน่วยงานหรือแต่ละกลุ่มสนใจ แต่ไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ความพยายามจึงไม่เกิดพลังเต็มร้อย ตรงกันข้ามหากทุกหน่วยงานเห็นตรงกันว่า ณ เวลานั้นมีข่าวลวงข่าวใดเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ต้องรีบแก้ไข แล้วเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องนั้นออกไปพร้อมกัน ก็จะเกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางและกลายเป็นกระแสได้

“จริงๆ เรื่องนี้เคยมีการศึกษาแล้วเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว (2563) ช่วงที่โควิดระบาดใหม่ๆ เราก็ไปศึกษาแบบนี้กับข่าวลวงเรื่องโควิดอยู่ประมาณ 6 เรื่อง แล้วก็พบแพทเทิร์น (Pattern-รูปแบบ) อยู่อย่างหนึ่ง ข่าวลวงเรื่องโควิดมันระบาดเป็นคลัสเตอร์ (Cluster-กลุ่มก้อน) คือระบาดเป็นระลอก แล้วแต่ละระลอกสิ้นสุดลงมักจะพบว่า จุดที่สิ้นสุดของระลอกจะมีซูเปอร์คอเร็คเตอร์ (Super Corrector-กลุ่มผู้ตรวจสอบแก้ไข) เป็นเครือข่ายต่อต้านข่าวลวง ทำงานพร้อมๆ กันโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่โพสต์พร้อมๆ กันว่าเรื่องนี้ไม่จริง ส่งผลให้การระบาดของข่าวลวงในคลัสเตอร์นั้นลดลงอย่างชัดเจน” นายชิตพงษ์ กล่าว

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค ประเทศไทย (COFACT Thailand) และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จากการทำงานของโคแฟค มาประมาณ 1 ปี พบสาเหตุของปัญหาข่าวลวงในประเทศไทย ประกอบด้วย 1.การสื่อสารในกลุ่มสนทนาแบบกลุ่มปิด เช่น ในไทยหมายถึงแอปฯ ไลน์ ส่วนต่างประเทศมักจะเป็นแอปฯ วอตส์แอปป์ ที่ไม่ได้ถูกมองเห็นเป็นสาธารณะ ต่างจากแพลตฟอร์มเปิด เช่น ทวิตเตอร์ ที่เมื่อโพสต์อะไรไปเพียงครู่เดียวก็อาจเกิดการโต้เถียงแล้ว

2.วัฒนธรรมความเกรงใจ ด้วยความที่กลุ่มสนทนาแบบกลุ่มปิดมักเป็นคนที่รู้จักกัน เช่น ครอบครัว ที่ทำงาน ผู้เผยแพร่ข้อความที่ไม่เป็นความจริง อาจเป็นพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงาน มักไม่กล้าเตือนเพราะกลัวจะโกรธกันเนื่องจากทำให้เสียหน้า คนไทยจำนวนมากจึงเลือกถนอมน้ำใจ คนที่เผยแพร่ข้อความนั้นก็ยังเข้าใจต่อไปว่านั่นเป็นเรื่องจริง และ 3.อคติ สาเหตุนี้พบได้แม้แต่ในแพลตฟอร์มเปิดที่ถึงจะมีการแก้ไขข่าวที่ไม่เป็นความจริงแล้ว แต่คนส่วนหนึ่งก็ยังเลือกเชื่อข้อมูลที่ไม่จริงนั้น

ส่วนทางแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย 1.ข้อมูลที่ออกมาจากภาครัฐต้องชัดเจนไม่คลุมเครือ และไม่เปลี่ยนไป-มา หรือหากจะเปลี่ยนก็ควรมีฐานข้อมูลกลางป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานต่างๆ ได้ หรือเรียกว่าระบบข้อมูลเปิด (Open Data) เช่น ประเด็นวัคซีนโควิด-19 ที่แต่ละคนต้องไปตามกันเองในเพจนั้นเพจนี้บ้าง ข้อมูลก็จะมีทั้งจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง หรือจริงแต่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมในเวลาต่อมา (Update) บ้าง ทำอย่างไรจึงจะมีช่องทางให้เข้าไปตรวจสอบ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความสับสน ตลอดจนข่าวลวงได้

2.สื่อมวลชนควรช่วยตรวจสอบข่าวลือต่างๆ อย่างทันท่วงที  ที่ผ่านมาหลายครั้งก็พยายามช่วยกัน แต่หลายครั้งแหล่งข้อมูลก็ยังมีความสับสน ดังนั้นแหล่งข่าวไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนต้องทำข้อมูลเข้าถึงได้โดยง่ายเพื่อใช้ในการอ้างอิง 3.ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ควรมีระบบแจ้งเตือนหรือลบข้อมูลที่พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งมีตัวอย่างแล้ว เช่น เฟซบุ๊ก ที่ในต่างประเทศพบการระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่พบว่าเป็นข่าวลวง

4.ประชาชนทั่วไปในฐานะผู้ใช้สื่อ ต้องปรับตัวให้มีนิสัยตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนส่งต่อข้อมูล (Fact Checker) ซึ่งผู้ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตสามารถทำได้ผ่านการค้นหาข้อมูล ที่มีหลายองค์กรทำงานด้านตรวจสอบข่าวลวงอยู่ในปัจจุบัน นอกจากโคแฟตแล้วก็ยังมีทีมงานชัวร์ก่อนแชร์ของ อสมท. หรือทีมงานของสำนักข่าว AFP เป็นต้น แต่หากในอนาคตมีการรวมข้อมูลการตรวจสอบข่าวลวงเหล่านี้ไว้เป็นจุดเดียวก็น่าจะดี และ 5.ต้องสร้างการเรียนรู้ทักษะความรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) อันเป็นแนวทางที่ได้รับการสนับสนุนในระดับสากล

“มีรูปตัดต่อ มีคลิปปลอม มีคลิปเสียงอะไรต่างๆ มากมาย บางทีอาจจะต้องอาศัยทักษะการเปรียบเทียบตรวจสอบไปยังต้นทางซึ่งก็ไม่ยากเกินไป แต่อาจจะต้องใส่ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถม-มัธยม เพื่อจะทำให้ประชาชนมีทักษะในการรู้เท่าทันข่าวลวงข่าวปลอม มันถึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน” น.ส.สุภิญญา กล่าว

Cofact : ข่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สุชัย เจริญมุขยนันท

สุชัย เจริญมุขยนันท

นิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลักสูตรโปรดิวเซอร์ เนชั่น วิทยากรพิราบน้อย โครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุ มูลนิธิหมอชาวบ้าน วิทยุเนชั่น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยประจำจงอุบลราชธานี ผู้จัดการศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลราชธานี ปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้อำนวยการทีวีชุมชนอุบลราชธานี E : [email protected] F : ทีวีชุมชนอุบลราชธานี T : 0818786440 LINE : SUCHAINEWS