X
รับมือน้ำท่วม

นักวิชาการอุบลฯ ชวนทุกภาคส่วน ตั้งวงคุย พร้อมรับมือน้ำท่วม 64 เน้นบูรณาการมีส่วนร่วม เพื่อการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

อุบลราชธานี – อุบลฯ เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม 64 เน้นบูรณาการข้อมูลแบบส่วนร่วม เพื่อการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

อุบลราชธานี-เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีเสวนารูปแบบออนไลน์ “ท่วมไหมอุบลราชธานี? จะเตรียมความพร้อมและการรับมืออย่างไร?” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนบทเรียนเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมาของจังหวัดอุบลราชธานี เตรียมความพร้อมก้าวไปข้างหน้าและลดผลกระทบความเสียหายอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัย “การศึกษาเรื่องเล่าและประสบการณ์เกี่ยวกับผลกระทบอุทกภัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมสู่ความสามารถในการรับมือภัยพิบัติอย่างยั่งยืนในจังหวัดอุบลราชธานี”

โดยโครงการวิจัยฯดังกล่าวเป็นการศึกษาเรื่องเล่าและประสบการณ์จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาชน ซึ่งจะนำข้อมูลทั้งหมดมาออกแบบและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดการภัยพิบัติน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีอย่างยั่งยืน

ซึ่งเวทีเสวนานี้มีตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้า จังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี,สำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี, สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดอุบลราชธานี, เทศบาลนครอุบลราชธานี, เทศบาลเมืองวารินชำราบ, สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล่าว่า จากการทำงานในโครงการวิจัยฯเป็นระยะเวลา 2 ปี เสียงสะท้อนสำคัญที่พบในภาคประชาชน คือความเสียหาย การสูญเสียอาชีพ การไม่มีรายได้ และการเยียวยาไม่เป็นธรรม โดยสิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ ความเครียด ความกังวล ที่หลายหน่วยงานมองข้ามผ่าน โดยภาครัฐเองควรหันมาให้ควาสำคัญกับปัญหานี้อย่างจริงจัง เริ่มจาการปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างทันถ่วงที

ด้าน นางรัชนี คมขำ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกินเพล สะท้อนปัญหาเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2562 ว่า ขณะนั้นน้ำมาไวและเร็วการอพยพคนและสิ่งของเป็นไปได้อย่างยากลำบาก อีกทั้งยังขาดทรัพยากรคนและเครื่องมือในการขนย้ายสิ่งของทำให้ทรัพย์สินบางส่วนของประชาชนได้รับความเสียหาย โดยจากบทเรียนที่ผ่านมาชุมชนต้องการให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาทั้งก่อนและหลังน้ำท่วม พร้อมสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาการย้ายสิ่งของ ตั้งศูนย์อพยพและให้ความรู้กับชาวบ้านในชุมชนเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ

ซึ่ง อาจารย์ธวัช มณีผ่อง นักวิจัยโครงการวิจัยฯ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายหน่วยงานมองปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่ใหญ่ไม่สามารถแก้ไขได้และต้องใช้งบประมาณสูง โดยส่วนตัวเสนอว่า  1.ควรสร้างนวัตกรรมการเผชิญเหตุร่วมกันพร้อมวิเคราะห์ปัญหาให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม  2.ออกแบบโมเดลจังหวัด สร้างศูนย์รวมทรัพยากร รวมข้อมูลข่าวสาร รวมการสื่อสาร โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมร่วมกัน

ถัดมา ผศ.สุเชาวน์ มีหนองหว้า กรรมการและเลขานุการศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้า จังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เผยว่า จากปีที่ผ่านมาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมเริ่มขยายวงกว้างเป็นพื้นที่ใหม่มากขึ้น ซึ่งชาวจังหวัดอุบลฯควรต้องหันมาตระหนักถึงปัญหาน้ำท่วมอย่างจริง ทั้งในด้านการเตือนภัยและด้านการทบทวนบทเรียนจากเหตุการณ์ในอดีต ทั้งนี้จากการสังเกตในช่วงที่ผ่านมาเห็นได้ว่าหน่วยงานภาครัฐยังขาดการทบทวนบทเรียน ส่วนการแก้ไขปัญหาไม่ควรรวมอำนาจไว้ที่เมืองหลวงเพียงอย่างเดียว ควรกระจายอำนาจและรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน ตั้งรับให้ทันยุคทันสมัยโดยเฉพาะด้านการเตือนภัย

ด้าน เศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี สรุปสถานการณ์น้ำจังหวัดอุบลราชธานีปี 2564 ว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในจังหวัดอุบลฯมีอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 13 แห่ง มีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 81ล้านลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็น 62% จากข้อมูลพบว่าอ่างเก็บน้ำยังสามารถรับน้ำได้อีกพอสมควร โดยจากการคาดการณ์คิดว่าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 น้ำในอ่างของจังหวัดอุบลราชธานีน่าจะมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 77-80% ส่วนสถานการณ์ในลำน้ำชีและลำน้ำมูลปัจจุบันมีปริมาณน้ำ ทั้งหมด 40-50% ของลำน้ำ

ทั้งนี้สำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาอุทกภัยปี 2564 ไว้ 3 มาตรการ 1) กำหนดพื้นที่ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก/พื้นที่เกษตรเสี่ยงน้ำท่วม 2) กำหนดคน กำหนดคนรับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบรวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ 3) จัดสรรทรัพยากร เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลและเครื่องมือต่างๆให้พอเพียงต่อพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมาตรการเตรียมความพร้อมทั้งหมดของสำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี มีการวางแผนเตรียมการสำหรับอุทกภัยในอนาคตเป็นอย่างดี ขอให้ประชาชนอย่างตระหนกแต่ให้ตระหนักมีสติกับสถานการณ์

ส่วนด้านการเตรียมความพร้อมของเทศบาลเมืองวารินชำราบซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก หัวหน้าฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลเมืองวารินชำราบ เปิดเผยว่า จากในเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2562 เทศบาลเมืองวารินชำราบ ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของเรื่องการสื่อสารกับภาคประชาชน โดยปัจจุบันได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารออนไลน์เพื่อกระจายข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทันเหตุการณ์ ซึ่งการทำงานจะสอดคล้องร่วมกับทางหน่วยงานของจังหวัด

และถัดมา วิรุณภัสร์ ฐิติภัสร์ศุกเดช หัวหน้าฝ่ายแผนงานและงบประมาณคุมคุ้มงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครอุบลราชธานี ได้เปิดเผยแผนเตรียมความพร้อมว่า เทศบาลนครอุบลราชธานีได้มีจัดทำแผนเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมเตรียมทรัพยากรทาง ด้านบุคคล ด้านอุปกรณ์ (รถสุขาเคลื่อนที่, เรือท้องแบน, เต้นท์จุดอพยพ) และด้านการร้องทุกข์ โดยเปิดระบบออนไลน์เพื่อช่วยเหลือประชาชน หากเกิดภัยพิบัติคาดจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ 100% แต่ส่วนที่เทศบาลฯกำลังกังวลใจอยู่ในขณะนี้คือเรื่องของโรคระบาด COVID-19 ที่กำลังเร่งวางแผนและฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ทันถ่วงที

ด้าน ว่าที่ร้อยตรีเรวัฒน์ สุนทรสถาพร หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากเสียงสะท้อนของหลายหน่วยงานพบว่าการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งการจัดทำแผนทุกภาคส่วนต้องหันหน้าคุยกันแลกเปลี่ยนข้อมูล อาทิ เรื่องการจัดการพื้นที่อพยพ การบริหารน้ำ การสื่อสาร การประชาสัมพันธ์และการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ให้เป็นระบบสอดคล้องกันเริ่มตั้งแต่หน่วยงานท้องถิ่น อำเภอและจังหวัด ทั้งนี้เพื่อจะได้ทำให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างปลอดภัยทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็น ก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังเกิดภัยพิบัติ

สาทิศ เมธาสิทธิ์ สุขสำเร็จ ผู้ผลิตสารคดีอิสระ เสนอความเห็นว่า การเปิดช่องทางน้ำให้น้ำแผ่ไปตามธรรมชาติไม่ยกตัวสูงขึ้น จะเป็นผลดีในช่วงน้ำหลากมากกว่าการปิดกั้น ยกตัวอย่าง Erchong Floodway เป็นช่องทางควบคุมน้ำท่วมใหญ่ของแม่น้ำ Tamsui ใน New Taipei ประเทศไต้หวัน ถึงน้ำท่วมไม่ได้มาทุกปี ทุกวัน แต่มาแต่ละครั้ง สร้างความเสียหายให้กับเมืองใหญ่อย่างมหาศาล การสร้างพื้นที่รับน้ำ เปิดช่องทางน้ำ ไม่บีบให้น้ำยกตัว เน้นให้น้ำแผ่ขยาย ได้ผลที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปิดท้ายว่า 1) การจัดการน้ำท่วมแบบบูรณาจะต้องเกิดขึ้นจริงให้ได้ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นแบบรูปธรรมหรือการปฏิบัติ เน้นภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคเอกชน เข้าไปมีส่วนร่วมกับจังหวัด  2) บูรณาการสื่อสารและข้อมูล เพราะปัจจุบันทุกหน่วยงานมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์แต่ขาดการบูรณาแบบมีส่วนร่วม ซึ่งในทางปฏิบัติสามารถเกิดขึ้นได้จริงหากทุกภาคส่วนให้ความสำคัญอย่างจริงจัง

ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์  เรียบเรียง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สุชัย เจริญมุขยนันท

สุชัย เจริญมุขยนันท

นิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลักสูตรโปรดิวเซอร์ เนชั่น วิทยากรพิราบน้อย โครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุ มูลนิธิหมอชาวบ้าน วิทยุเนชั่น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยประจำจงอุบลราชธานี ผู้จัดการศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลราชธานี ปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้อำนวยการทีวีชุมชนอุบลราชธานี E : [email protected] F : ทีวีชุมชนอุบลราชธานี T : 0818786440 LINE : SUCHAINEWS