อุบลราชธานี – สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2563
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณีกิจแทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ประจำปีการศึกษา 2563 ครั้งที่ 30 ในวันพุธ ที่ 15 ธันวาคม 2564 เวลา 12.50 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
วันนี้ เวลา 12.50 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์
ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2563 ครั้งที่ 30 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ในปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมทั้งสิ้นจำนวน 3,183 ราย ระดับปริญญาตรี จำนวน 3,081 ราย ระดับปริญญาโท จำนวน 75 ราย และระดับปริญญาเอก จำนวน 27 ราย และในโอกาสนี้ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้อนุมัติปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ประจำปี ๒๕๖4 จำนวน ๑ ราย ให้แก่ ศาสตราจารย์กิตติคุณปิยนาถ บุนนาค เป็นผู้ที่มีผลงานทางวิชาการดีเด่นในสาขาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัย ทำคุณประโยชน์อย่างยิ่งแก่มหาวิทยาลัยหรือประเทศชาติหรือนานาชาติ สมควรได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม ผลงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางอันส่งผลดีต่อการพัฒนาองค์ความรู้ขององค์กร สังคมประเทศชาติหรือนานาชาติ และอนุมัติรางวัลรัตโนบล ประจำปี ๒๕๖4 จำนวน 2 ราย ให้แก่ พระเทพวราจารย์ (ศรีพร วรวิญญู ราชิวงศ์) และ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ เป็นผู้ที่มีผลงานทางวิชาชีพที่มีคุณภาพอันเป็นที่ยอมรับของชุมชนสังคม ประเทศชาติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีคุณงามความดีที่ได้รับการยกย่องในระดับชาติหรือนานาชาติ อุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและมีความประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป เข้ารับพระราชทานในครั้งนี้ด้วย
โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า… บัณฑิตทั้งหลายคงจะทราบดีอยู่แล้วว่า ในปัจจุบันนี้ การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการดำเนินชีวิตของคนเรา. การที่วิทยาการและนวัตกรรมด้านการสื่อสารเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก ทำให้คนทั่วโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกและรวดเร็ว จนดูเสมือนว่าโลกของเราแคบลง. การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ก็สามารถทำได้ในวงกว้าง ส่งผลดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ การแพทย์ การสาธารณสุข การศึกษา เป็นต้น.
อย่างไรก็ดี เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลกระทบในทางลบก็มีมาก ดังเช่นการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดโทษ. บัณฑิตทุกคนได้รับการศึกษาอบรมมาดีแล้ว จึงต้องรู้จักใช้สติ ปัญญา และวิจารณญาณในการแยกแยะความถูกความผิด ความจริงความเท็จ ความควรไม่ควร. ข้อมูลข่าวสารใดที่น่าสงสัย ก็ยังไม่ควรเชื่อ แต่ต้องพิสูจน์หาข้อเท็จจริง. บัณฑิตต้องรู้เท่าทันการสื่อสาร และใช้การสื่อสารด้วยความประสงค์ดี ใช้ในทางสร้างสรรค์ ในทางที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ แก่ตน แก่สังคม และแก่ประเทศชาติ. หากบัณฑิตทุกคนยึดถือปฏิบัติได้ดังนี้ ก็จะเท่ากับมีส่วนช่วยจรรโลงสังคม และประเทศชาติให้มีความสุขสงบ มีความเจริญมั่นคงและยั่งยืน.
และในปีนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าฯ ถวาย “ผ้ากาบบัวจกดาว” เป็นผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ รองศาสตราจารย์สมหมาย ชินนาค อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือเรื่อง “หอมอยู่มิรู้หาย” และหนังสืองานวิจัย 4 เล่ม ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญชู ภูศรี อาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือ “ผลผลิตจากการลงพื้นที่สำรวจและจัดระบบคัมภีร์ใบลานในจังหวัดอุบลราชธานี” จำนวน 10 เล่ม ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิภาวรรณ พองพรหม อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวาย “ผ้าคลุมไหล่พิมพ์ลายใบไม้” จำนวน 1 ผืน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวาย “หมอนโฟมบีทยางพารา” จำนวน 1 ชิ้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรัญญา พิมพ์มงคล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวาย “กล้วยไม้ขวดเอื้องสายครั่งสั้น” จำนวน 1 กระเช้า และผลิตภัณฑ์จากตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี
ในการดำเนินการที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเปิดการเรียนการสอนมาแล้ว ๓1 ปี จัดการเรียนการสอนจำนวน 88 หลักสูตร มีนักศึกษารวมทั้งสิ้นจำนวน 16,465 คน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีพัธกิจในการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการและวิชาชีพ สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง บริการวิชาการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลายของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียนที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและนวัตกรรม ภายใต้ปรัชญา “มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสร้างสติและปัญญาแก่สังคมบนพื้นฐานความพอเพียง”
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ข่าว/ภาพ ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักวิทยบริการ ม.อุบลฯ
ข่าวในพระราชสำนัก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: