โรงเรียนขุหลุ อำเภอตระการพืชผล ชวนนักเรียนกินผัก ผลไม้ แทนอาหารกึ่งสำเร็จรูป เพื่อลดภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน และสร้างค่านิยมการกินที่ถูกต้อง
อุบลราชธานี : นางสมจิตร สุขศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 1 ขุหลุประชาวิทยาคาร อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ได้เปิดเผยถึงภาวะโภชนาการของนักเรียนในโรงเรียนว่า ซึ่งผู้ปกครองในชุมชนบ้านขุหลุ อำเภอตระการพืชผล ที่แท้เป็นชุมชนต่างอำเภอ แต่ผู้ปกครองต่างเร่งรีบออกไปทำงาน ไม่มีเวลาประกอบอาหารและเอาใจใส่ในเรื่องการบริโภคอาหารของบุตรหลาน จึงหันไปพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปง่ายๆ เช่น มาม่า ไก่ทอด หมูทอด ฯลฯ ซึ่งไม่ต้องใช้เวลามากในการปรุงและง่ายต่อการรับประทาน จนสร้างความเคยชิน ติดเป็นนิสัยให้แก่นักเรียน เกิดค่านิยมชอบรับประทานมาม่า ขนมกรุกรอบ น้ำอดลม และน้ำหวานแต่งรส แต่งสี แต่งกลิ่น แทนอาหารหลัก ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กมีภาวะโภชนาการเกินเกณฑ์ที่กำหนด
การเฝ้าระวังติดตามภาวะโภชนาการนักเรียนของโรงเรียนเทศบาล 1 ขุหลุประชาวิทยาคาร ซึ่งเปิดสอนระดับอนุบาลถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งสิ้น 217 คน ในทุกไตรมาส พบว่า โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งหมด 30 คน คิดเป็นร้อยละ 16 ของนักเรียนทั้งหมด และจากการสังเกตของคณะครูในโรงเรียนถึงการรับประทานอาหารกลางวันของนักเรียน ปรากฏว่า นักเรียนชั้น ป.4-6 ชอบรับประทานผักร้อยละ 70 นักเรียนชั้น ป.2 -3 ชอบรับประทานผักร้อยละ 50 นักเรียนชั้นอนุบาล – ชั้น ป.1 ชอบรับประทานผักร้อยละ 40 ตามลำดับ สำหรับพฤติกรรมการรับประทานผลไม้ของนักเรียนในโรงเรียน พบว่า เดิมโรงเรียนจัดผลไม้เพื่อให้นักเรียนรับประทานคู่กับมือกลางวัน แต่พบว่าร้อยละ 30 ของเด็กนักเรียน จะเก็บผลไม้ไว้ทานในช่วงบ่ายแทน นักเรียนให้เหตุผลที่ไม่ทานหลังรับประทานอาหารกลางวันว่า ยังอิ่มและไม่หิวหรืออยากทานผลไม้ทันที คณะครูจึงได้ปรึกษากันและสอบถามการตัดสินใจของนักเรียน ได้ตกลงว่าจัดเวลารับประทานผลไม้ช่วงบ่ายสองโมง หลังจากปรับเวลารับประทานผลไม้ของนักเรียนแล้ว ปรากฏว่านักเรียนรับประทานผลไม้ได้มากขึ้น ร้อยละ 80 ทุกชั้น
การเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว โรงเรียนจึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสสส. มาดำเนินงานโครงการส่งเสริมการบริโภคผัก ผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียน ร่วมกับการดำเนินงานอาหารกลางวัน ซึ่งมีงบประมาณสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลตำบลตระการพืชผล หัวละ 20 บาท/คน/วัน วันละ 4,340 บาท ตามนโยบายรัฐบาล ประกอบด้วย ข้าว อาหารคาวหวานและผลไม้โดยใช้รูปแบบจัดทำเอง ซื้ออาหารสด อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ มาประกอบอาหาร โดยมีครูและแม่ครัวจัดทำรายการเมนูเป็นสัปดาห์ เมนูอาหารของโรงเรียนส่วนมากเป็นอาหารจานเดียว เช่น ข้าวราดแกงเขียวหวาน ข้าวราดแกงกระเพรารวมมิตร ข้าวมันไก่ ข้าวผัดหลากสี สุกี้ ก๋วยจั๊บ ไข่เจียวทรงเครื่องกับส้มตำ ข้าวเหนียวไก่ทอดกับส้มตำ ส่วนเมนูผลไม้ ได้แก่ แตงโม ฝรั่ง มะม่วงสับปะรด กล้วย ฯลฯ ซึ่งโรงเรียนได้ดำเนินการอยู่แล้ว
ส่วนกิจกรรมที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการบริโภคผักผลไม้อย่างเพียงพอ ร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งผู้ปกครอง ครู นักเรียน คือการจัดประชุมชี้แจงโครงการ การอบรมให้ความรู้แก่แม่ครัว เรื่องการจัดการอาหารกลางวันที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามหลักโภชนาการ การค้นหานักเรียนต้นแบบ การส่งเสริมให้นักเรียนปลูกผักสวนครัว เพื่อสนับสนุนอาหารกลางวันด้วย เช่น การเพาะถั่วงอก การปลูกผักบุ้ง ฯลฯ เป็นต้น
“การปรับอาหารกลางวันของแม่ครัว และเพิ่มให้ในมื้ออาหารนั้นมีสัดส่วนของปริมาณผัก ผลไม้ในกระบวนการทำอาหารกลางวันถูกต้องตามหลักโภชนาการ พร้อมทั้งสร้างความรู้/ความตระหนักให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพตลอดจนลดการบริโภคน้ำหวานลง และเพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและค่านิยมด้านสุขภาพที่ดีของนักเรียนต่อไป” ผอ.โรงเรียน กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายสุรพล ภาคโพธิ์ ตัวแทนผู้ปกครองกล่าวว่า โครงการชวนนักเรียนกินผัก ผลไม้เพิ่มขึ้น เป็นโครงการที่ดี โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของผักผลไม้ปลอดสารพิษ หากนักเรียนปลูกผักกินเอง จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนมาก
ด้านนางสาวสิรินาถ เทียนคำ เจ้าหน้าที่รพ.ตระการพืชผล ทีมวิทยากรร่วมโครงการ กล่าวว่า การส่งเสริมให้นักเรียนปลูกผักกินเอง นอกจากจะช่วยลดปริมาณค่าใช้จ่ายในการซื้อผักจากข้างนอกแล้ว เด็กนักเรียนยังได้ทานผักปลอดสารพิษ และยังใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย
ข่าวโดย : ทีมสื่อสารสาธารณะอีสานสร้างสุข
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: