ถอดบทเรียน‘อิสลามโมโฟเบีย’วงเสวนาชี้‘เข้าใจ-เข้าถึง’เรียนรู้ความแตกต่าง-ช่วยเหลือไม่แบ่งแยก ลดอคติได้
13 ส.ค. 2565 ที่สถาบันเรียนรู้อิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ ต.ท่าวังตาล อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีการจัดงานเสวนาค้นหาความจริง “แก้ไขข่าวลวง อิสลามโมโฟเบียในสังคมไทย” ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กเพจ “ศูนย์ประสานงานเครือข่ายมุสลิมเชียงใหม่” และ “Cofact โคแฟค” ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. โดยประมาณ
ชุมพล ศรีสมบัติ เครือข่ายสื่อมุสลิมเชียงใหม่ กล่าวว่า เคยมีการสำรวจพบคนไทยร้อยละ 40 เชื่อข้อมูลข่าวลวงที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ซึ่งสะท้อนความไม่สัมพันธ์กันระรหว่างความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับความสามารถในการกลั่นกรองของผู้รับข้อมูลข่าวสาร ขอเป็นเพียงเรื่องที่เห็นแล้วถูกใจก็พร้อมที่จะส่งต่อโดยไม่ได้คิดว่าข้อมูลข่าวสารนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ทั้งนี้ ในศาสนาอิสลามมีคำสอนว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย หากคนชั่วนำข่าวใดๆ มาแจ้งแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสอบสวนให้แน่ชัด หาไม่แล้วเจ้าก็จะก่อกรรมแก่พวกใดพวกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว แล้วพวกเจ้าจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไป” จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เท่าทัน
“สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข่าวเท็จ-ข่าวลวงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งเจตนาและไม่เจตนา ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าสร้างความเสียหาย และบางครั้งอาจถึงขั้นเป็นภัย ก่ออันตรายต่อสังคม การโพสต์ แชร์ คอมเมนต์ ก็เหมือนกับคำพูด ซึ่งทุกการกระทำจะถูกบันทึกไว้และถูกสอบสวน อันนี้ในทางอิสลาม การพูด การกระทำ ในความเชื่อของมุสลิมจะต้องถูกบันทึกและสอบสวน ทุกคนต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองได้พูด ได้กระทำ” ชุมพล กล่าว
ชาญชัย ศรีสมบัติ ผู้อำนวยการสถาบันเรียนรู้อิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาอิสลามโมโฟเบีย (Islamophobia) หรือการเกลียดหรือกลัวอิสลาม ที่ผ่านมาคนรุ่นก่อนๆ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ไมได้มีความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างกัน ในทางตรงข้ามกลับรู้สึกว่ายังเป็นเนื้อเดียวกัน กล่าวคือเป็น “มุสลิมล้านนา” ด้านหนึ่งมีอัตลักษณ์แบบศาสนาอิสลาม แต่อีกด้านก็มีอัตลักษณ์แบบล้านนา อันเป็นวัฒนธรรมในกลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือของไทย
แต่ในเวลาต่อมากลับมีคนเข้าใจไปว่ามุสลิมเป็นคนอื่นที่เข้ามาอยู่ในเชียงใหม่หรือจังหวัดภาคเหนือ เช่น เข้าใจว่ามาจากทางภาคใต้ ทั้งที่ผู้นับถือศาสนาอิสลามจริงๆ แล้วกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจากการดำเนินงานของสถาบันเรียนรู้อิสลาม พบว่า “ความรู้-ความเข้าใจ” ในความเชื่อที่แตกต่าง เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเกลียดหรือกลัวอิสลาม โดยหลายคนที่มีโอกาสเข้ามาเรียน ได้เล่าว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอิสลามนั้นแตกต่างจากที่เคยได้ยินมา
ทั้งนี้ จากที่เคยสอบถามคนที่เข้ามาเรียน พบว่า 3 เรื่องแรกที่คนทั่วไปมักนึกถึงศาสนาอิสลาม ได้แก่ อันดับ 1 ไม่รับประทานเนื้อหมู อันดับ 2 มีภรรยาได้ 4 คน และอันดับ 3 ผู้ก่อการร้าย ดังนั้นการรับมือความรู้สึกเกลียดหรือกลัวอิสลาม จึงต้องมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ดังตัวอย่างของคำว่า “จีฮัด (Jihad)” ซึ่งทางโลกตะวันตกอย่างยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้ยินคำของอิสลามคำนี้แล้วมักคิดว่าหมายถึงการเฆ่าฟันกัน
“คำว่าจีฮัดในศาสนาอิสลาม มันไมได้หมายถึงว่าคุณต้องไปเข่นฆ่าใครแล้วคุณจะได้เข้าสรวงสวรรค์ด้วยการหลั่งเลือด แล้วคำอธิบายว่าแท้จริงสวรรค์นั้นอยู่ภายใต้คมดาบ มุสลิมนั้นเผยแพร่ด้วยคมหอกและคมดาบ เราลองมาถามกันดูจริงๆ ในประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดคืออินโดนีเซีย ถามว่าการเข้ามาของมุสลิมในอินโดนีเซียนั้นมันเกิดจากสงคราม มันมีการหลั่งเลือดไปกี่คน? ไม่มี!
มุสลิมเข้ามาในจีน ถามว่ามุสลิมยกกองทัพมากี่หมื่นกี่แสนคน ถึงจะทำให้ศาสนาอิสลามเข้ามาสู่ประเทศจีนและเส้นทางสายไหมทั้งหมด? ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เราเองจำเป็นจะต้องให้ความรู้-ความเข้าใจตรงนี้ มันจึงเป็นสิ่งที่เราเอาจะต้องให้ความรู้อย่างถูกต้องกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม” ชาญชัย กล่าว
วันอิดริส ปะดุกา นักวิชาการศาสนาอิสลาม เล่าว่า ตนใช้ชีวิตอยู่ใน จ.สตูล แม้จะเป็นจังหวัดที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นประชากรส่วนใหญ่ แต่ในบางอำเภอก็มีประชากรที่นับถือศาสนาพุทธอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ศาสนิกชนทั้ง 2 ศาสนาก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติไม่เกิดความขัดแย้ง ดังนั้นเรื่องของอิสลามโมโฟเบีย จะเป็นข่าวที่ได้ยินจากพื้นที่อื่นๆ มากกว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในปากีสถานเป็นเวลา 6 ปี พบว่า แม้ปากีสถานจะเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็พบความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นได้ทั่วไป
กล่าวคือ ปากีสถานมีประชากรจากหลายชาติพันธุ์ และมีการแบ่งเป็นรัฐตามกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น รัฐปัญจาบ รัฐบาลูจิสถาน รัฐของชาวปาทาน รัฐของชาวซิน เป็นต้น รัฐเหล่านี้มักขัดแย้งกันทั้งด้านอัตลักษณ์และผลประโยชน์ อีกทั้งมีการเลือกปฏิบัติ อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์บาลุจ แม้จะเป็นมุสลิมแต่ก็ถูกปฏิบัติราวกับเป็นพลเมืองชั้น 2 ขณะเดียวกันความขัดแย้งยังนำไปสู่ความรุนแรงทั้งการวางเพลิงและลอบสังหาร นอกจากนั้น ปากีสถานในฐานะประเทศมุสลิม ยังขัดแย้งกับอินเดียซึ่งเป็นประเทศฮินดู
อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ โดยหากศึกษาประวัติศาสตร์จะเห็นว่า อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องขัดผลประโยชน์ ท้ายที่สุดมักนำไปสู่ความเกลียดชังและความรุนแรง ในกรณีของอิสลาม จะเห็นได้ชัดในช่วงสงครามครูเสด ซึ่งในขณะที่ศาสนาคริสต์ในทวีปยุโรปมีการแบ่งเป็นตะวันออก (คอนสแตนติโนเปิล) กับตะวันตก (โรม) เพราะขัดแย้งกันในเชิงอัตลักษณ์ว่าใครคือชาวคริสต์ที่แท้จริง และยังเริ่มมีการเกิดขึ้นของแนวคิดปฏิรูปศาสนา (โปรเตสแตนท์) ศาสนาอิสลามกลับเริ่มขยายตัวในพื้นที่ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือและยุโรปใต้
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ชาวยุโรปมองศาสนาอิสลามเป็นภัยคุกคาม บรรดาผุ้นำศาสนาจึงเริ่มแนวคิดระดมคนในยุโรปในนามของชาวคริสต์ขึ้นต่อสู้กับชาวมุสลิม มีการสร้างข่าวปั่นกระแสขึ้นเพื่อสร้างความกลัวและความเกลียดชาวมุสลิม เช่น สร้างภาพว่าชาวอาหรับเป็นกลุ่มชนที่โหดร้ายเกินกว่าความเป็นจริงไปมาก และตอกย้ำว่าชาวมุสลิมทุกคนคือชาวอาหรับ ทั้งที่จริงๆ แล้วผู้นับถือศาสนาอิสลามมาจากประชากรหลายกลุ่ม นอกจากชาวอาหรับ ยังมีชาวเปอร์เซีย ชาวเติร์ก เป็นต้น ซึ่งการสร้างข่าวแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับกระแสเกลียดหรือกลัวอิสลามในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ควรสร้างความเข้าใจระหว่างกันทั้งชาวมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่ง “คนไทยที่ไม่ใช่มุสลิมต้องปรับคัวและศึกษา โดยเข้าใจว่าชาวมุสลิมอยู่ในประวัคิศาสตร์ไทยมานานแล้ว” เช่น ตั้งแต่สมัยสุโขทัยก็มีคำว่า “ปสาน” มาจากคำว่า “บาซาร์ (Bazaar)” ในภาษาเปอร์เซีย ยิ่งในสมัยอยุธยา ก็มีชาวมุสลิมเข้ามารับราชการเป็นใหญ่เป็นโต หรือใน จ.เชียงใหม่ เท่าที่พบหลักฐานก็มีมุสลิมจีนเข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่ 150 ปีก่อน ซึ่งจริงๆ ก็อาจจะนานกว่านั้น
โดย “ในขณะที่ชาวมุสลิมรู้จักวัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธ แต่ชาวพุทธกลับไม่คอยรู้จักวัฒนธรรมประเพณีของชาวมุสลิม” ในทางกลับกัน “ชาวมุสลิมเองก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติที่ถูกต้อง และสื่อสารอย่างรู้กาลเทศะ” เรื่องใดพูดกับคนต่างศาสนาได้ เรื่องใดควรพูดเฉพาะกับคนศาสนาเดียวกัน และการเรียกร้องในบางประเด็นควรดูบริบทความเหมาะสมด้วยเพราะไม่ใช่ชนส่วนใหญ่
“อิสลามไม่ใช่ศาสนาของเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง ซึ่งต่างจากบางศาสนา เช่น ศาสนาซิกข์ เกือบ 100% ก็เป็นชาวปัญจาบหมด ศาสนายิวก็อาจจะเป็นชาวยิว เป็นอิสราเอลไป แต่อิสลามมีคนจากหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัฒนธรรมที่มาน้อมรับหลักธรรมของอัลเลาะห์ ซึ่งเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่มนุษย์มีพื้นฐานมาจากอะไรก็จะนำความเชื่อหรือแนวทางปฏิบัติ หรือวิธีคิด (Mindset) ของตัวเองเข้ามาปะปนกับหลักการทางศาสนา
ถ้าเราดูมุสลิมที่มาจากเอเชียกลาง เขาจะมีแนวทางปฏิบัติแบบหนึ่ง มุสลิมในตะวันออกกลาง ชาวอาหรับก็จะมองโลกอีกแบบหนึ่ง อย่างเราทำกิจกรรม พี่น้องอาหรับมาที่นี่ บางอย่างเขาก็คิดไม่เหมือนกับเรา ไม่เข้าใจเหมือนกับเราว่าทำไมมุสลิมที่นี่ทำแบบนี้แบบนั้น ในขณะเดียวกัน มุสลิมเราก็มองว่าทำไมมุสลิมของเขาทำแบบนั้น ทีนี้พอคนต่างศาสนิกมองคนเขาจะมองเหมารวมหมด โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เดินทาง ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนที่อื่นหลากหลาย” วันอิดริส กล่าว
ปวิณ แสงซอน สถาปนิกมุสลิม กล่าวถึงส่วนที่ประกอบกันเป็นกระแสเกลียดหรือกลัวอิสลาม ว่า ประกอบด้วย “ผู้ส่งสาร” หรือผู้เผยแพร่ส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ซึ่งแบ่งได้ 3 ประเภท คือ 1.ตั้งใจสร้างความเกลียดชัง กลุ่มนี้มีทั้งที่เป็นบุคคลและองค์กร มีกระบวนการผลิตและเผยแพร่เนื้อหาเป็นระบบทั้งทางตรงและทางอ้อม 2.ไม่ได้ตั้งใจแต่นิสัยเป็นเหตุสังเกตได้ หมายถึง ชาวมุสลิมเองก็ไมได้เข้าใจการปฏิบัติตนในแต่ละบทบาทในสังคมตามหลักศาสนา ทำให้คนต่างศาสนาที่พบเห็นมองอิสลามในแง่ลบ
และ 3.คิดดีแต่ผีเข้า หมายถึงผู้ที่ไม่รู้เท่าทันอารมณ์ตนเองและกาลเทศะ เช่น ประเด็นใดเป็นเรื่องส่วนตัว-ส่วนรวม เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบมาก-น้อยต่อสังคม ประเด็นที่สื่อสารในที่สาธารณะได้กับประเด็นที่ควรพูดคุยกันเฉพาะในห้องเรียน กับ “ผู้เสพข่าว” ก็แบ่งได้ 3 ประเภทเช่นกัน คือ 1.หาข้อเท็จจริง ได้ข่าวอะไรมาก็พยายามค้นหาที่มาที่ไป เกิดการปะติดปะต่อเรื่องราวนำไปสู่ทัศนคติของคนคนนั้น 2.จินจนาการสำคัญกว่าความรู้ ไม่มีเหตุผลใดๆ เพราะอยู่กับจินตนาการล้วนๆ และ 3.มีคำตอบในใจแล้ว ต่อให้ฟังข่าวก็ยังคงตัดสินตามที่คิดไว้อยู่ดี
ทั้งนี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากข้อมูลข่าวสารที่สร้างความเข้าใจผิดหรือเกลียดชัง มักเป็นคนทั่วไปหรือคนที่มีสถานะอ่อนด้อยในสังคม เช่น คนจน คนยากไร้ ลูกจ้าง มากกว่าคนที่มีชื่อเสียงหรือตำแหน่งในสังคมเพราะคนกลุ่มหลังนี้ยังได้รับความเกรงใจอยู่บ้าง ซึ่งการแก้ปัญหาต้องแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม เพราะใช้วิธีการไม่เหมือนกัน คือ 1.ใช่/ไม่ใช่ เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง กับ 2.ชอบ/ไม่ชอบ เป็นเรื่องของความรู้สึก
“กลุ่มไหนความรู้ก็ไปเคลียร์เขา เขาต้องการข้อเท็จจริง แล้วกลุ่มไหนที่เป็นความรู้สึก ไม่ใช่เกี่ยวกับใช่/ไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องชอบ/ไม่ชอบ มันชัดเจน ชอบ/ไม่ชอบนี่ความรู้สึก แต่ใช่/ไม่ใช่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ฉะนั้นกลุ่มนี้ผมว่ามันต้องโฟกัสเข้ามายังการจำแนก 1-2-3 ผู้ส่งสารมีกี่ประเภท ถ้าเราโฟกัสจะนำไปสู่กระบวนการรับมือบนข้อเท็จจริงว่าเรากำลังรับมือกับความรู้หรือความรู้สึก แยกกลุ่มออกมาแล้วเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรับมือด้วยความรู้ ตัวเราต้องรับมือบนความรู้ก่อน รู้ว่าอะไรจำเป็นต้องทำ อะไรด่วน อะไรสำคัญ โฟกัสให้ตรงกัน
แยกสิ่งที่จำเป็นต้องทำกับควรทำออกจากกันให้ชัดเจน อะไรต้องไม่ทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ อยู่กับสถานการณ์ให้เหมาะสม แยกให้ออก รู้เท่าทันข้อเท็จจริง สถานการณ์ กลุ่มเป้าหมาย รู้ตรงนี้แล้วมันก็เกิดกลยุทธ์ขึ้นมา พอเราเข้าถึงข้อเท็จจริง เข้าถึงข้อมูลชัดเจน จะเกิดกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ ถ้าในส่วนบริหารจัดการเรียกว่า 4W1H โฟกัสไปเลย เคสนี้ต้องใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ให้ชัดเจน อันนี้คือกระบวนการของกลยุทธ์ แล้วส่งสิ่งเหล่านี้ออกไปเป็นงานศิลปะ ก็คืออย่างจรรยามารยาทที่งดงาม” ปวิณ กล่าว
สุจินดา คำจร นักวิชาการชาวพุทธผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับชุมชนมุสลิม กล่าวว่า ความรู้สึกเกลียดหรือกลัวอิสลามมีมาก่อนเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งเป็นเหตุก่อการร้ายอาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544 แต่เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้เกิดการผลิตซ้ำขึ้น “เมื่อติดตามข่าวสารจะพบว่าสื่อพยายามประโคมข่าวความรุนแรง และขณะเดียวกันความเข้าใจของคนทั่วไปต่อมุสลิมก็มักเป็นแบบเหมารวม” เช่น ในระดับโลก จะติดว่ามุสลิมคือชาวอาหรับตะวันออกกลาง หรือในประเทศไทย จะคิดว่ามุสลิมคือชาวมลายูในภาคใต้
ซึ่งเมื่อศึกษาแล้วจะพบว่าความจริงไมได้เป็นช่นนั้น อย่างกรณีประเทศไทย แม้มุสลิมเชื้อสายมลายูจะเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ก็ยังมีมุสลิมกลุ่มอื่นๆ อาทิ ในภาคเหนือ มีทั้งกลุ่มเอเชียใต้ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้อีกหลายกลุ่ม เช่น ปาทาน เบงกาลี โบรา สุไลมานี ปัญจาบี ฮินดูสตานี จูเลีย หรือกลุ่มมุสลิมเชื้อสายจีน ก็ยังมีกลุ่มย่อยตามการเข้ามา เช่น กลุ่มพ่อค้าที่มากับกองคาราวาน กลุ่มที่เข้ามาหลังการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน และยังมีกลุ่มอื่นที่มาหลังจากนั้นอีก
จากข้อค้นพบข้างต้นทำให้คิดได้ว่า “เมื่อรับข้อมูลข่าวสารต้องตั้งคำถามก่อน” ว่ามันเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า “ยิ่งสงสัยยิ่งต้องค้นหาข้อมูลแล้วจะเห็นภาพมากขึ้น” พื้นที่ทางวิชาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างกรณีของตนเอง การที่เปิดใจยอมรับก็มาจากการศึกษาค้นคว้า แต่หากรีบเชื่อหรือด่วนสุด ก็จะเห็นแต่ภาพเหมารวมอย่างที่เกิดขึ้น “เข้าใจ-เข้าถึง” การมีวัฒนธรรมที่แตกต่างไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเรื่องที่ผิด การเรียนรู้จะทำให้อยู่ร่วมกันได้
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสำคัญของทักษะการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) กล่าวคือ ก่อนหน้านี้เคยมีข่าว จ.เชียงใหม่ มีมัสยิดมากถึง 200 แห่ง เรื่องนี้สำหรับคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามได้ยินแล้วคงตกใจ แต่หากเชื่อในทันทีโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงก็จะเป็นการผลิตซ้ำ ซึ่งการตรวจสอบสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การรับข่าวจากหลายช่องทาง โดยเฉพาะแหล่งข่าวจากทางออนไลน์ยิ่งต้องระมัดระวังเพราะอาจไมได้กลั่นกรองอย่างเพียงพอ แต่อีกด้านหนึ่ง หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องนั้นๆ ก็สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องได้เช่นกัน
“เรามี กอจ. (คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด) สามารถดูข้อมูลจากหน่วยงานนั้นได้ มัสยิดจริงๆ มันมีเท่าไร หรือถ้าขึ้นไปอีกก็จะเป็นระดับ กอท. (คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย) อันนี้ก็จะมีการจดทะเบียนเอาไว้ แน่นอนว่าถ้ามีข่าวเชียงใหม่มีมัสยิดเกือบ 200 มัสยิด เอาเข้าจริงถ้าเราเช็คข่าวไปเราจะพบว่าไม่เป็นความจริง เพราะข้อมูลอย่างของ กอจ. ก็จะแจ้งมาเลยว่ามีทั้งหมด 17 มัสยิด แบ่งเป็นจดทะเบียนแล้ว 14 แล้วอีก 3 คือยังไมได้จด ตรงนี้ก็จะเห็นแล้วว่ามันเป็นตัวเลขที่โอเวอร์ หรือว่าเกินความจริงไป” สุจินดา กล่าว
อันธิกา (ยามีละห์) เสมสรร ประธานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ความเห็นว่า “องค์กรของชาวมุสลิมเองก็ต้องปรับวิธีคิดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่ใช่มุสลิมด้วย” เช่น ใน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเกิดน้ำท่วมเป็นระยะๆ องค์กรของชาวมุสลิมที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติ มักถามเสมอว่ามีชุมชนมุสลิมได้รับผลกระทบมาก-น้อยเพียงใด และอยู่ตรงไหนบ้าง อยากให้เปลี่ยนเป็นคำถามว่า พื้นที่นี้มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบอยู่ตรงไหนบ้าง โดยไม่ต้องแบ่งแยกว่าผู้ได้รับผลกระทบนับถือศาสนาใด
เพราะการช่วยเหลือโดยแบ่งแยกศาสนา คนภายนอกที่มองเข้ามาก็จะเห็นการเลือกปฏิบัติ เช่น ไปพูดกันว่าพวกแขกก็ช่วยแต่แขก ดังนั้นหากไม่ใช่แขกก็ไม่ต้องไปสนใจเพราะอย่างไรก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เป็นต้น ซึ่งจุดเล็กๆ นี้ก็อาจไปเพิ่มความไม่พอใจในความคิดของคนที่ไม่ใช่มุสลิมได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตนพยายามประสานให้เกิดภาพดังกล่าวขึ้น อาทิ ชาวมุสลิมไปช่วยวัดพุทธที่ถูกน้ำท่วมและหน่วยงานของรัฐเข้าไม่ถึง แม้จะต้องคอยอธิบายกับองค์กรมุสลิมที่เข้ามาช่วยเหลืออยู่บ่อยครั้งก็ตาม เพราะภาพเหล่านี้สามารถลดความรู้สึกเกลียดหรือกลัวมุสลิมลงได้
“เราอาจจะทำได้ไม่ทั้งหมดที่จะทำให้คนมุสลิมทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยสามารถที่จะมีมุมมองแนวคิดเดียวกัน แต่คิดว่าองค์กรที่เป็นภาคประชาสังคม องค์กรต่างๆ จะเป็นตัวที่จะสื่อสาร ที่จะทำให้ช่วยลดความเกลียดกลัวลงได้เยอะที่สุด แทนที่เราจะไปบอกว่าอิสลามเป็นอย่างนี้นะ ทำไมเราไม่ใช้การปฏิบัติแล้วบอกว่านี่คือการช่วยเหลือ อิสลามให้เราช่วยเหลือ อิสลามให้เราเป็นผู้ให้ อิสลามให้เราเป็นผู้บริจาค แล้วเราก็ไมได้เลือกผู้รับบริจาค นอกจากอันนั้นเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ ที่กำหนดว่าผู้รับต้องเป็นพวกนี้
อันนี้เราเลือกที่จะปฏิบัติได้ว่าเราจะปฏิบัติอย่างไร แต่ทำไมเราถึงเลือกปฏิบัติเฉพาะที่เป็นพวกเรา อันนี้เป็นประเด็นที่คิดว่าทำอย่างไรให้เรารับมือ แล้วกลุ่มที่เป็นผู้รับจากเรา กลุ่มที่ไม่ใช่มุสลิม กลุ่มนี้เชื่อว่าเขาจะเป็นคนที่จะสื่อสาร ไปแก้ข่าวที่มันผิดๆ ให้เราเอง” อันธิกา กล่าว
ในช่วงท้าย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวปิดการเสวนา ว่า โจทย์ที่ใหญ่ว่าการพูดคุยกันในครั้งนี้ คือเรื่องของความผิดปกติของข้อมูลข่าวสาร (Information Disorder) ทั้งหมดของประเทศไทยที่มากับความท้าทายของเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งข่าวลวง-ข่าวลือมีมานานแล้ว แต่ยุคนี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและการแก้ไขข่าวบางครั้งก็ตามไม่ทัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องช่วยกัน คือการเปลี่ยนจากผู้แพร่กระจาย (Spreader) เป็นผู้ตรวจสอบ (Corrector) โดยเฉพาะคนที่มีชื่อเสียงในสังคม ต้องไม่เป็นผู้กระจายข่าวลวงเสียเอง
“เราต้องค่อยๆ สร้างและเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่ เป็น New Normal (วิถีปฏิบัติใหม่) จากเห็นอะไรก็แชร์ ก็ต้องยับยั้งชั่งใจ เปลี่ยนมาเป็น Corrector ไม่ใช่ Spreader คือแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการทำบทบาทของพลเมืองที่ Active (กระตือรือร้น) ขึ้นอีก ชัวร์ก่อนแชร์อันนี้เป็นพื้นฐาน คือเช็คข้อมูลก่อน แล้วถ้าให้ดีกว่านั้น ถ้าเห็นว่ามันไม่ถูกต้องก็ช่วยกันแก้ไขด้วย เว็บไซต์โคแฟคก็เป็นพื้นที่นวัตกรรมหนึ่งที่เราทุกคนสามารถช่วยกันแก้ไขข้อมูล และช่วยกันเผยแพร่ต่อได้” สุภิญญา กล่าว
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
หมายเหตุ : ข่าวเรื่องผลสำรวจพบคนไทยร้อยละ 40 หลงเชื่อข่าวลวงในสื่อสังคมออนไลน์ มีที่มาจากรายงานของสื่อบางสำนัก รายงานในเดือน ต.ค. 2560 อ้างแหล่งข้อมูลผลสำรวจของ กันตาร์ ทีเอ็นเอส (Kantar TNS) บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลกที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษ
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business/777247 (ผู้บริโภคไทยวางใจ“คอนเทนท์-แบรนด์”ช่องทางออนไลน์ : กรุงเทพธุรกิจ 16 ต.ค. 2560)
https://www.brandbuffet.in.th/2017/10/kantartns-research-connected-life/ (ใจดี โลกสวย เชื่อคนง่าย!!! คนไทย 40% เชื่อข่าวปลอมบนโซเชียลสูงสุดในภูมิภาค : Brandbuffet 18 ต.ค. 2560)
Cr : COFACT ประเทศไทย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: