สัมมนาภาคตะวันออก ‘อย่าด่วนเชื่อ-ไม่ชินชา-ร่วมตรวจสอบหาความจริง’ หลักคิดสู้ปัญหาข่าวลวง
15 ส.ค. 2565 สาขาสื่อสารองค์กร ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับ โคแฟค (ประเทศไทย) จัดงานสัมมนา เรื่อง “ข่าวลวงกับการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก” ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี พร้อมกับถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กเพจ “CC BUU X Cofact”
รศ.ดร.สุชาดา พงศ์กิตติวิบูลย์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะประธานโครงการข่าวลวงกับการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวว่า สืบเนื่องจาก โคแฟค (ประเทศไทย) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พัฒนาศูนย์ข้อมูลตรวจสอบข่าวลวง ในพื้นที่ จ.ชลบุรี และ จ.ตราด ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาทักษะตรวจสอบข้อมูลให้กับคนรุ่นใหม่และเครือข่ายภาคพลเมือง เพื่อเพิ่มอาสาสมัครในการตรวจสอบข่าวลวงที่เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ ให้มากขึ้น รวมถึงจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการตรวจสอบข่าวลวงกับภาคีเครือข่าย
“ศูนย์ข่าวลวงภาคตะวันออกเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในวันนี้ จะเป็นรากฐานสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมในการตรวจสอบข่าวลวงในสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป” รศ.ดร.สุชาดา กล่าว
ข่าวน่าสนใจ:
ดร.สุชาดา รัตนวาณิชย์พันธ์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ข่าวลวงหรือข่าวปลอม เมื่อได้ยินแล้วก็สร้างความสับสน แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือมีผลกระทบต่อทัศนคติ ความเชื่อ และสร้างความเข้าใจที่บิดเบือนในเรื่องต่างๆ เช่น เคยมีการแชร์ข่าวกันว่า แถบสีท้ายหลอกยาสีฟันสามารถบอกได้ว่ายาสีฟันยี่ห้อนั้นผลิตจากวัตถุดิบอะไร โดยหากเป็นสีเขียวคือวัตถุดิบธรรมชาติ แต่หากเป็นสีดำคือสารเคมี ข่าวนี้มีผลกระทบด้านสุขภาพ อาจทำให้ผุ้บริโภคเลิกใช้ยาสีฟันยี่ห้อที่มีแถบสีดำ ทั้งที่อาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีก็ได้ ส่งผลให้ผู้ผลิตยาสีฟันอีกยี่ห้อหนึ่งได้ประโยชน์ ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม
“ถ้าเรามีทัศนคติที่ถูกต้อง ก็คือก่อนที่เราจะเชื่อฟังสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของข่าวปัจจุบัน ถ้ามีการกรอง มีการหยุดคิด ก็จะเป็นการช่วยมากๆ” คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.บูรพา กล่าว
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) ปาฐกถาในหัวข้อ “สถานการณ์ข่าวลวงและการตรวจสอบข่าวลวงในสังคมไทย” โดยกล่าวว่า ข่าวลวงมีปรากฏมากมาย ตั้งแต่เรื่องนำข้าวสุกไปแช่ตู้เย็นแล้วจะส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือด มะนาวโซดารักษามะเร็ง มาจนถึงเรื่องของกัญชาและวัคซีน ไปจนถึงในแต่ละพื้นที่ที่มีการต่อสู้กันในเชิงความคิดและข้อมูล
จึงจำเป็นต้องค้นหา “ความจริงร่วม” ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารจะนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังกัน การรู้ข้อเท็จจริงก็จะทำให้เข้าใจกันมากขึ้น หรือหลีกเลี่ยงอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยแนวคิดของโคแฟค (Cofact) หรือ Collaborative Fact-checking คือการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนร่วมค้นหาความจริง โดยมีนวัตกรรมทั้งเว็บไซต์ cofact.org และ Line Chatbot @cofact เป็นเครื่องมือสืบค้นข่าว แต่มากไปกว่านั้นคือการสร้างพื้นที่พูดคุย นำข้อเท็จจริงมาตีแผ่ จนหาความจริงร่วมที่ยอมรับกันได้
ทั้งนี้ ต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริง ความคิดเห็นและความรู้สึก โดยหลายคนยึดเอาความคิดเห็นและความรู้สึกเป็นสัจธรรม เมื่อพบใครที่คิดไม่เหมือนตนเองก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่น่าโกรธกัน เพราะความคิดเห็นและความรู้สึกเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ห้ามกันไมได้และไม่ได้มีข้อยุติอย่างข้อเท็จจริง เช่น วัคซีน แม้จะมีแพทย์บอกว่าฉีดได้ แต่การที่ใครจะไม่เชื่อและไม่ฉีดพราะกลัวก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่หากกลัวแล้วเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดก็ต้องตักเตือนกัน
เมื่อมองไปในระดับโลก รายงานในปีนี้ของ Edelman Trust Barometer ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 36,000 คน ใน 28 ประเทศ พบผู้คนให้ความเชื่อถือสื่อมวลชนและรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบางส่วนของสื่อและรัฐบาลก็ได้ประโยชน์จากข้อมูลบิดเบือน ไม่ว่าด้านการเมืองหรือธุรกิจ ขณะที่สังคมก็ติดอยู่ในวังวนของความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เช่น ล่าสุดกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นความท้าทายของสื่อมวลชนที่ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าภาพหรือวีดีโอที่ถูกส่งต่อกันเป็นภาพจริงในเวลาจริงที่เกิดสงครามนั้นจริงๆ หรือเปล่า
แต่นอกจากจะให้กำลังใจและสนับสนุนบทบาทของสื่อมวลชนในการฟื้นความเชื่อมั่นของสังคมแล้ว ในยุคนี้แต่ละคนก็ต้องปรับตัวให้เป็นพลเมืองดิจิทัล เพราะนับตั้งแต่ลืมตาตื่นจนถึงก่อนนอน ต่างคนต่างก็ใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างสมาร์ทโฟนที่แทบจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตกันแทบจะตลอดเวลา ทำให้ข้อมูลข่าวสารไหลบ่าเข้าสู่สมองและความคิดแทบจะตลอดเวลาเช่นกัน ลำพังจะหวังบทบาทสื่อ นักวิชาการหรือพ่อแม่ผู้ปกครองก็คงไม่เพียงพอ ทุกคนจึงต้องเริ่มที่ตนเอง “เช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์” หรือหากจะให้ดีกว่านั้นคือกลายเป็นผู้ตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลที่ถูกแชร์กันอย่างผิดๆ ในสังคม
ไม่เพียงแต่การแชร์ข่าวลวงที่ส่งผลกระทบ ยังมีเรื่องของ “มิจฉาชีพออนไลน์” ที่คนยุคนี้ต้องรู้เท่าทัน เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือการหลอกให้รัก (Romance Scam) ที่ผู้ตกเป็นเหยื่อจะเสียเงินเสียทองกันมากมาย เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกันทุกวันจนหน่วยงานภาครัฐดำเนินการไม่ไหวหรือไล่ปราบปรามไม่ทัน และที่ซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้นคือความขัดแย้งทางการเมือง ศาสนา สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งยากในการค้นหาความจริง เพราะเป็นเรื่องราวที่แฝงด้วยชุดความคิดหรืออุดมการณ์ เช่น แนวคิดด้านการพัฒนา
ซึ่งประเด็นทำนองนี้มักปนเปมาพร้อมกันเสมอทั้งข้อเท็จจริง ความคิดเห็นและความรู้สึก แม้กระทั่งสิ่งที่ดูเหมือนจริงในวันนี้ วันหน้าอาจจะไม่จริงก็ได้ จากหลากหลายปัจจัย เช่น มีการปล่อยข่าวโยนหินถามทางออกมาก่อนแล้วค่อยตามแก้ข่าวทีหลัง หรือแม้แต่เป็นข่าวจริงแต่ผู้เกี่ยวข้องปฏิเสธเพราะกลัวได้รับผลกระทบ วิธีการแสวงหาความจริงจึงไม่อาจทำได้เพียงไปสอบถามนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการแล้วจบ แต่ต้องมาเปิดใจคุยกันด้วยเหตุผล และมีความเห็นใจซึ่งกันและกัน
“เราจัดเรื่องความขัดแย้ง ข่าวลวงด้านศาสนา ก็จะมีพี่น้องมุสลิม เขาก็จะรู้สึกทุกข์ใจมาก เพราะทุกวันจะมีข่าวลือในไลน์ ทำให้คนเกลียดกลัวมุสลิม ที่เรียกว่า Islamophobia อย่างไม่มีข้อเท็จจริงเลย แล้วคนก็เชื่อ แล้วมันทำให้คนที่เป็นมุสลิมเขาก็ทุกข์ใจไปด้วย อันนี้ก็จะเป็นเรื่องที่เราก็ต้องฝึกการเห็นอกเห็นใจกัน ไม่ตัดสิน ไม่พิพากษาไปก่อน ในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาแล้วมันอาจจะไม่ตรงกับความคิดของเรา หรืออาจตรงกับอคติของเรา เราก็ต้องลดการตัดสินตรงนี้ แล้วพยายามเปิดใจกว้างๆ ให้มากที่สุด” สุภิญญา กล่าว
ยังมีการเสวนา เรื่อง “ข่าวลวงกับพื้นที่ภาคตะวันออก” โดยมี ผศ.ดร.ตวงทอง สรประเสริฐ อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีวิทยากร 3 ท่าน ประกอบด้วย จักรกฤษณ์ แววคล้ายหงส์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชามติตราด จ.ตราด และยังเป็นผู้สื่อข่าวภูมิภาคให้กับสื่อมวลชนส่วนกลางหลายสำนัก กล่าวว่า ในอดีตที่มีเพียงสื่อดั้งเดิม (โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์) ซึ่งรวมๆ แล้วไม่กี่สำนัก ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่นั้นสามารถตรวจสอบและแยกแยะข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้นทางได้ไม่ยาก
แต่เมื่อเข้าสู่ยุคออนไลน์ มีผู้เล่นในวงการข้อมูลข่าวสารมากขึ้นจากทั่วโลก อีกทั้งสื่อสังคมออนไลน์ยังมีหลายแพลตฟอร์ม การตรวจสอบข้อเท็จจริงจากต้นทางจึงทำได้ยาก ขณะเดียวกัน ยังมีข้อความน่าสงสัย เช่ร าอ้างว่าจะให้เงินไปเล่นการพนันออนไลน์ก่อน หรือบอกว่าได้รับเงินกู้จำนวนเท่านั้นเท่านี้ หรือช่วงทรมแดนด้านตะวันออกถูกปิด ก็ยังมีการชักชวนให้ข้ามแดนไปทำงานในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้หลายคนหลงเชื่อ กระทั่งตำรวจต้องตามไปช่วยเหลือกลับมา หรือแม้แต่เรื่องมีการแชร์ภาพคนอยู่เพิงพักสภาพทรุดโทรม ทำเอาส่วนราชการลงพื้นที่กันใหญ่โต แต่ท้ายที่สุดตรวจสอบแล้ว จริงๆ ผู้ที่อยู่ในเพิงนั้นมีบ้านอย่ด้านหลัง เป็นต้น
“อย่างเรื่องฝีดาษลิง จู่ๆ ก็บอกฝีดาษลิงเกิดขึ้นที่ จ.ตราด มีนักท่องเที่ยวจากฝรั่งเศสเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์แล้วก็เข้ามาที่โรงแรม จะให้เขาตรวจปรากฏเขาไม่ยอม แล้วน่าจะเป็นคนในโรงพยาบาลที่ไปบอกนักข่าว นักข่าวก็บบอกว่าระวังนะฝีดาษลิงเกิดขึ้นที่ จ.ตราด เป็นรายที่ 4 รายที่ 5 ปรากฏว่าก็เกิดฮือฮา เรายังไม่เอาข่าวลง เช้ามาผมสัมภาษณ์นายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั้ง 2 โรงพยาบาล แล้วก็สัมภาษณ์นายแพทย์รองสาธารณสุข
เขาก็บอกว่ามันก็แค่สงสัย คือ 1.สงสัย 2.เข้าข่าย 3.เป็น ระดับมันอย่างนี้ แต่นักข่าวไปเขียนไว้หมดแล้ว เราก็สามารถได้ข้อเท็จจริง แต่รอจนกระทั่งนายแพทย์โอภาส (โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค) แถลงออกมา คนนี้ไมได้เป็นฝีดาษลิง แต่ข่าวมันออกไปแล้ว” จักรกฤษณ์ กล่าว
ดร.ปาจารีย์ ปุรินทวรกุล อาจารย์สาขาสื่อสารองค์กร ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า เมื่อให้โจทย์นักศึกษาไปค้นหาข่าวลวง พบว่า เรื่องสุขภาพเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งเรื่องโควิด-19 และข่าวลวงอื่นๆ ทีเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น กินหรือทำสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วจะสวยมีรูปร่างดี ส่วนข่าวที่เกี่ยวกับภาคตะวันออก เช่น การปนเปื้อนของอาหารทะเลจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วใน จ.ระยอง นอกจากนั้นยังมีเรื่องอื่นๆ อาทิ ความปลอดภัยในการลงทุนเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)
แต่ความท้าทายสำคัญคือ เมื่อเป็นการตรวจสอบก็ต้องไปให้ถึงต้นทาง (ข้อมูลปฐมภูมิ) ซึ่งก็มีข้อจำกัดเพราะไม่ใช่สื่อมวลชนจึงไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวได้โดยง่าย ถึงกระนั้น บทเรียนที่ได้คือการฝึกกระบวนการคิด เช่น เมื่อเสนอเข้ามาก็จะมีคำถามจากอาจารย์ว่าเรื่องนี้เชื่อหรือไม่เชื่อเพราะอะไร เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ใครคือแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ รวมถึงอาจยังมีแหล่งข่าวที่ให้คำตอบได้มากกว่า 1 แหล่ง อาทิ เรื่องอาหารทะเลปนเปื้อน เนื่องจากเหตุน้ำมันรั่วใน จ.ระยอง แน่นอนว่ายากเกินไปที่จะเข้าถึงแหล่งข่าวต้นทาง
แต่ด้วยความที่ไม่ได้เพิ่งเกิดเหตุการณ์นี้ในพื้นที่เป็นครั้งแรก อย่างน้อยก็มีฐานข้อมูลเดิมให้สืบค้นในระดับหนึ่ง หรือหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ อย่างน้อยให้ถามแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านก็ได้ ไม่ต้องถึงขั้นโฆษกหน่วยงาน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคนมักจะอยู่กับข่าวลวงแบบเคยชินไม่รู้สึกอะไร กระทั่งเจอผลกระทบกับตนเอง เช่น มีญาติผู้ใหญ่ไปทำตามข่าวลวงแล้วเสียชีวิต แต่ก็ยังจะเป็นผลกระทบส่วนบุคคล คนอื่นๆ ในสังคมไม่ได้รู้สึกอะไรด้วย
“ความท้าทายเรื่องข่าวลวงมันยังจะอยู่กับเราตลอดไป เพียงแต่ ณ ตอนนี้ หลายๆ ภาคส่วนในสังคมได้พยายามกันเต็มที่แล้ว คนเล็กคนน้อย ประชาชนทั่วไปต้องทำอย่างไร ในขณะเดียวกันก็มีสื่อมวลชนช่วยเช็คให้ มีรัฐบาลที่ตั้งองค์กรต่างๆ ขึ้น ฟังก์ชั่นบ้างไม่ฟังก์ชั่นบ้างแต่ก็พยายามทำ ฉะนั้นก็คือไม่เชื่อแล้วก็ไม่ชิน อย่าไปชินกับมัน แล้วก็ขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ อย่างน้อยก็ปลูกฝังกระบวนการคิด หรืออย่าคิดว่าธรรมด ไม่เป็นไร ปล่อยมันไป ก็จะช่วยให้เราอยู่กับข่าวลวงได้เท่าทันมากขึ้น” ดร.ปาจารีย์ กล่าว
บุปผาทิพย์ แช่มนิล ตัวแทนกลุ่มรักษ์เขาชะเมา จ.ระยอง กล่าวว่า จากที่เคยสอบถามผู้คนหลากหลายในพื้นที่ เช่น แม่บ้าน แม่ค้าในชุมชน นักพัฒนารุ่นใหม่ นักพัฒนาอาวุโส ฯลฯ เกี่ยวกับข่าวลวงในมุมมองของแต่ละคน ทุกคนเคยมีประสบการณ์พบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (ไม่ว่าสุดท้ายจะหลงเชื่อโอนเงินไปให้หรือไมก็ตาม) สะท้อนให้เห็นว่าข่าวลวงนั้นเข้าถึงระดับบุคคลแล้ว
ขณะเดียวกัน เมื่อไปถามคนทำงานด้านสุขภาพ ก็พบความเห็นทำนองเดียวกันว่า “ไลน์ของผู้สูงอายุเป็นพื้นที่อันตรายด้านข่าวลวงมากที่สุด” เพราเป็นทั้งข่าวที่ส่งมาโดยไม่มีการตรวจสอบ และกลุ่มเป้าหมานก็น่าเป็นห่วง หรือในส่วนประเด็นทางการเมือง เป็นที่น่าสังเกตว่าโพลล์บางสำนักที่ถามประเด็นประชาชนอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี มีการเลือกคำถามในเชิงชี้นำ แบบนี้จะเข้าข่ายเป็นข่าวลวงได้หรือไม่
ส่วนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออก นับตั้งแต่การขุดพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ นำไปสู่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษตั้งแต่ Eastern Seaboard มาจนถึง EEC สิ่งที่พบคือการปะทะกันของชุดความคิดหรือความเชื่อ 2 แนวทาง ระหว่างฝ่ายสนับสนุนโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเชื่อว่าจะนำพาไปสู่ความมั่งคั่ง กับฝ่ายคัดค้านที่มองว่าการพัฒนาแบบนี้มีแต่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน
หรือความเชื่ออื่นๆ เช่น เมื่อมีช้างป่าเข้ามารบกวนวิถีชีวิตของมนุษย์ ก็มีผู้ที่เชื่อว่าให้สร้างกำแพงคอนกรีตสูง 4 เมตรกั้นแนวระหว่างพื้นที่ของช้างกับมนุษย์แล้วจะแก้ปัญหาได้ เรื่องนี้ก็น่าตรวจสอบว่ามันใช้ได้จริงหรือ หรือแนวคิดการเปลี่ยนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้เป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกผลไม้ เนื่องจากภาคตะวันออกถูกขนานนามเป็นดินแดนแห่งผลไม้ แต่ก็มีคำถามว่าโครงการนี้คุ้มค่าตามที่เชื่อกันหรือไม่ หรือสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนใครกันแน่ระหว่างเกษตรกรกับนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
“ประเด็นใหญ่ๆ ในส่วนของภาคตะวันออกทุกคนควรจะได้รับรู้ และในขณะเดียยวกันยังบอกว่า ไม่ได้ยืนยันว่านี่คือความจริง แต่ยังรอการตรวจสอบอยู่ เพาะฉะนั้นมันจะใช่ข่าวลวงหรือไม่ยังต้องอาศัยน้องๆ แล้วเราก็พูดแบบไม่ได้ผลักภาระให้ใคร เพราะส่วนของประชาสังคมภาคตะวันออกก็พยายามตรวจสอบตรงนี้เช่นเดียวกัน ฉะนั้นเราจะตรวจสอบเรื่องราวที่เกิดขึ้น ของการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกไปพร้อม กัน” บุปผาทิพย์ กล่าว
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
อ้างอิง
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/all/02/177142/ (กรมควบคุมโรค เผยขณะนี้ยังพบผู้ป่วยในไทย 4 ราย ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสผลตรวจเป็นลบ – สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 8 ส.ค. 2565)
CR : COFACT THAILAND
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: