อุบลฯรับฟังความเห็นน้ำท่วม 65 ได้รับผลกระทบ 21 อำเภอ กว่า 6 หมื่นครัวเรือน
ประชาชนไม่เห็นด้วยกับโครงการผันน้ำ ชี้ใช้งบเยอะผลกระทบมาก
สทนช.แจงแก้มลิงรับน้ำได้ไม่มาก ต้องใช้หลายทางช่วยกัน ชลประทานยันโครงการผันน้ำช่วยเกษตรกร ช่วยเศรษฐกิจ ไม่น้อย รอศึกษาเสร็จจะสอบถามประชาชน
ข่าวน่าสนใจ:
18 พฤศจิกายน 2565 จังหวัดอุบลราชธานีจัดเสวนารับฟังความคิดเห็น น้ำท่วมเมืองอุบลฯ ปี 2565
โดยนายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจ.อุบลราชธานี ได้กล่าวเปิดงานว่า
จากเหตุการณ์อุทกภัยปี 2565 จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม 21 อำเภอ 61,245 ครัวเรือน 108,253 คน จำแนกเป็นด้านการดำรงชีพ 13 อำเภอ 78,640 คน ถนน 157 สาย สะพาน 11 แห่ง
วัดที่พักสงฆ์ 82 แห่ง รพ.สต.7 แห่ง โรงเรียน 60 แห่ง อพยพ 35,231 คน จุดอพยพ 117 จุด
พื้นที่การเกษตร 20 อำเภอ เสียหาย 368,825.75 ไร่ พื้นที่ประมง 15 อำเภอ เสียหาย 1,610.95 ไร่ 9,232 ตรใฃม. ปศุสัตว์ 14 อำเภอ 712,355 ตัว อพยพสัตว์ 56,952 ตัว
ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคม มูลนิธิ ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชน อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทั้งด้านการบริหารจัดการน้ำ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ การวางแนวกั้นน้ำ การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย การขนย้ายข้าวของ การจัดตั้งจุดพักพิงชั่วคราว บริการสาธารณสุข การแจกจ่ายถุงยังชีพ อาหารปรุงสุก การดูแลความปลอดภัย บริการรับส่งประชาชน จนถึงการทำความสะอาด ขนย้ายของกลับ และการฟื้นฟูเยี่ยวยา
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งการแจ้งเตือน การบริหารจัดการน้ำ การป้องกัน การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย การจัดทำแผนแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องถอดบทเรียน และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน มาปรับแผนแก้ไขปัญหา การดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน
ฉวี วงศ์ประสิทธิพร ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้อธิบายถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขน้ำท่วมอุบลฯ ปีนี้มีปริมาณน้ำประมาณ 6 ล้านกว่าลบ.ม.ต่อวินาที
ได้แจกแจงแก้มลิงต่าง ๆ ทั่วอุบลฯจะสามารถกระจายน้ำออกไปได้ 370 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที
การสร้างคลองลัดน้ำต่าง ๆ จากการคำนวณน้ำปี 62 จะตัดยิดน้ำได้ประมาณ 78% แต่ถ้าเป็นแบบปีนี้ 65 ก็คงไม่ถึง 78%
สำหรับเงินงบประมาณต้องศึกษาดูก่อน คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 100 ล้าน – พันล้านบาท
เศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ที่ 7 อุบลราชธานี
ชี้ต้องเข้าใจก่อนว่า อุบลราชธานี เป็นเมืองปลายน้ำ ต้องรับน้ำจากแม่น้ำมูลตั้งแต่โคราช แม่น้ำชีตั้งแต่ขอนแก่น ยังไม่รับลำน้ำสาขาต่าง ๆ
แม่น้ำมูลที่เชิงสะพานเสรีประชาธิปไตย สามารถรับน้ำได้ 2,300 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่น้ำมาปีนี้ ประมาณ 6,000 ล้านลบ.ม.วินาที ถ้าน้ำมาระดับนี้ อย่างไรก็ไม่พ้นที่น้ำจะท่วม
สำหรับโครงการตัดยอดน้ำที่กรมชลประทานศึกษา ตัดยอดน้ำลำห้วยขะยูง เขื่อนหัวนา ไปลงท้ายแก่งสะพือ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ช่วยบรรเทาน้ำท่วมพื้นที่เกษตร 5 อำเภอ 8,821 ไร่ ช่วยเหลือเศรษฐกิจ 3 พันกว่าล้าน
กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา ถ้าเสร็จแล้วก็ต้องมาประชาพิจารณ์ถามพี่น้องประชาชนอีกครั้ง
ภพ ภูสมปอง โยธาธิการและผังเมือง จ.อุบลราชธานี ได้นำเสนอโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งและโครงการพัฒนาเมือง บริเวณเทศบาลนครอุบลฯและโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวารินชำราบ อ.พิบูลมังสาหาร ต.แจระแม ต.ปทุม อ.เมือง รวม 8 โครงการ ประมาณ 1,140 ล้านบาท
สำหรับประชาชนที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นสรุปประเด็นพอสังเขปได้ดังนี้
1.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการผันน้ำของกรมชลประทาน ชี้ใช้งบประมาณเยอะ กระทบชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม อยากให้พิจารณา การเก็บน้ำเล็ก ๆ แต่กระจายไปทั่วทุกตำบล
หรือด้วยวิธีอื่นที่มีผลกระทบน้อยมากกว่า
2.มีข้อเสนอจากประธานหอการค้าจ.อุบลราชธานี ให้สร้างสะพานข้ามเส้นทางข้ามอุบลฯ-วารินชำราบ ทางหลวงหมายเลข 24 เพราะเมื่อประชาชนสัญจรไม่ได้ มีผลกระทบมากมาย
ไม่เฉพาะเศรษฐกิจ แต่ด้านจิตใจ เวลาที่สูญเสียไป ความปลอดภัยของการส่งต่อผู้ป่วยหนัก
3.การแจ้งเตือนภัยที่คลาดเคลื่อน ส่งผลกระทบมหาศาล เมื่อทางการประกาศว่าจะท่วมไม่เท่าปี 62 ทำให้ชาวบ้านขนของไว้ในระดับปี 62 เมื่อน้ำมามากกว่านั้น ขนย้ายไม่ทัน ข้าวของเสียหายเป็นจำนวนมาก แทบสิ้นเนื้อประดาตัว
4.มีข้อเสนอให้ขยายเขื่อนปากมูลให้มีทางระบายน้ำเพิ่มมากขึ้น แต่ทางผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ว่าไม่ได้ทำให้ดีขึ้นมากนัก
5.เสนอให้เปิดเขื่อนปากมูลตลอด จะเห็นการกัดเซาะ ทำให้การระบายน้ำตามธรรมชาติดีขึ้น
6.ให้ราชการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
7.ควรพัฒนาโหนดเตือนภัยภาคประชาชนขึ้นมาอย่างจริงจัง เป็นองค์กรภาคประชาชน
8.พัฒนา CCTV ในจุดน้ำท่วมให้เห็นชัดเจนในหลายจุดมากขึ้น
9.ควรพิจารณาเปิดคลองแถวพนมไพร คลองเหนือธาตุน้อย ให้เป็นที่เก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น
10.มีการขุดลอดคูคลอง แหล่งน้ำ ทำธาคารน้ำใต้ดิน
11.ให้คิดเรื่องการอยู่กับน้ำให้ได้อย่างมีความสุข เพราะน้ำอาจท่วมติดต่อกันถี่ขึ้น
12.หอเตือนภัย ซ.พโลชัย 5 ติดตั้งมายังไม่เคยเตือนภัย เปิดแต่เพลงชาติ เสียงบประมาณ
13.จังหวัดควรสรุปสาเหตุน้ำท่วมหนักปีนี้มาจากสาเหตุอะไร ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคืออะไร
14.การทำประชาพิจารณ์ของภาครัฐ ควรเชิญประชาชนมาร่วมตัดสินใจด้วย ไม่ใช่เพียงกำนันผู้ใหญ่บ้าน
15.หน่วยงานต่าง ๆ เช่น สทนช. กรมชลประทาน กรมโยธาธิการฯ ไม่บูรณาการกัน ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างวางแผน หน่วยงานมองด้านเดียวไม่ครอบคลุมทั้งระบบ ไม่เชื่อมโยง มองตัวน้ำ มองโครงสร้าง ไม่เห็นคน วิถีผู้คน
ทั้งนี้ทางประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี จะได้รวบรวมคำถามและความเห็นจากทุกเพจ รวบรวมและนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เพื่อดำเนินการต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: