ส.ส.อุบลฯกับการรับมือข่าวลวง
ข่าวลือ ข่าวลวง ยังมีในสังคมไทย ทุกฝ่ายต้องตั้งรับ เพราะทำความเสียหาย ทำให้อดีต ส.ส.บางคนอดเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะข่าวปล่อย นักวิชาการเสนอการจะแสดงความเห็น ควรใช้ชื่อจริงแทนนามแฝง ช่วยลดความเท็จ ได้ความจริง
ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษา COFACT ประเทศไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา สื่อออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาท จนเกิดการพลิกผลการเลือกตั้ง จากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง ช่วงการเลือกตั้ง รวมทั้งหลังเลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน จึงเห็นความสำคัญในการตรวจสอบข่าวสาร ดังนั้นข่าวสารที่เกิดขึ้น ความจริงอาจเปลี่ยนไปตามเวลาที่ได้เปลี่ยนไป ซึ่งจะถือเป็นเรื่องลวงหรือเปล่า การสื่อสารทางการเมืองถือเป็นความผูกพัน และผู้ทำงานทางการเมืองประสบปัญหากับข้อมูลลวงมากน้อยอย่างไร ทั้งเรื่องส่วนตัวและผลงานอย่างไร
ด้านนายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.เพื่อไทยกล่าวถึงกรณีข่าวลวงเกิดจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเกิดจากคนที่ต้องการสร้างข่าวลวง โดยยกตัวอย่างคนพูดใน 10 บรรทัด แต่หยิบยกเอาแค่บรรทัดเดียวมาใช้ประโยชน์ จึงเป็นเรื่องอันตราย ซึ่งเกิดขึ้นตามสื่อต่างๆ บางเรื่องตรวจสอบได้ บางเรื่องตรวจสอบไม่ได้
สิ่งที่น่ากลัวของข่าวลวงคือ สามารถแปลเปลี่ยนเป็นความเกลียดชัง ถ้าการเมืองมีการแบ่งขั้วหรือไม่เข้าใจกัน พี่น้องประชาชนที่เสพข่าวแล้วไม่ทันกับเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเยอะ ต้องฝาก COFACT และกระทรวงดีอี พวกสื่อเฟกนิวส์ ดูไม่ได้ทั้งหมดมันกลายเป็นปัญหา
“จึงขอฝากคนที่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง ต้องมองสองมุม มีการตรวจสอบ เพราะตนมีทั้งคนชมและคนด่า” ถ้าเป็นคนมีประสบการณ์ ก็จะเข้าใจเรื่องที่มีความเห็นต่างกันได้ อย่าต้องไปทะเลาะกัน ต้องฟังร่วมกันและคิดร่วมกัน แล้วช่วยกันแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น
พรรคเพื่อไทยโดนหนัก จะแก้การถูกด่าคงไม่ได้ ต้องแก้ด้วยข้อเท็จจริงที่บอกให้ทราบ อย่าไปดีใจหรือตกใจกับคำชมและคำด่ามากไป
ด้านนางสาวแนนบุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.ภูมิใจไทย กล่าวถึงข่าวลวงว่า ช่วงน้ำท่วมปีที่ผ่านมา ระหว่างไปเยี่ยมชาวบ้าน มีการเอาเรื่องต่างๆมาผสมกัน ทำให้อารมณ์ของชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมดูหนักขึ้น ชาวบ้านมาเจอตนก็มีอาการไม่พอใจ บอกให้ไปจัดการกับเขื่อนปากมูล น้ำท่วมหนักขนาดนี้ ทำไมเปิดประตูเขื่อนปากมูลแค่ 8 บาน
ตนต้องชี้แจงไปว่า ประตูเขื่อนปากมูล มันมีแค่ 8 บาน ไม่ได้มีเยอะเป็น 20 บาน และแต่ละบานมีแต่ใหญ่ๆ แต่ป้าชาวบ้านก็ยังไม่เชื่อ บอกได้ยินมาเขื่อนมีประตูมากกว่า 20 บาน แต่เปิดแค่ 8 บาน ซึ่งทั้งหมู่บ้านเชื่อแบบนี้กันเกือบทั้งหมด ไม่รู้ว่าใครไปสื่อสารไว้แบบนี้ สิ่งนี้ทำให้อารมณ์ชาวบ้านมันแรงขึ้น โชคดีที่มีภาพเขื่อนอยู่ในมือถือ ก็เลยเปิดให้ลุงป้าน้าอาดูความจริง ทำให้มีความรู้สึกเรื่องบางเรื่องที่เกี่ยวกับหน่วยงานราชการ จะให้ทำงานเชิงรุกและไปแก้ข่าวทุกข่าวคงไม่ได้
และช่วงหลังเนื้อหาข่าวกับการฟาดหัวข่าวของสำนักข่าวจะไม่ตรงกัน เหมือนกับไปสร้างอารมณ์ดราม่าให้คนอ่านข่าว โดยเฉพาะในสื่อโซเชียลที่ชอบเอาข่าวมาสรุปให้คนติดตามแบบง่ายๆ ทำให้คนติดตามดูเยอะ คนที่ดูข่าวทุกวันนี้ จะดูข่าวด้วยอารมณ์ ส่วนการดูด้วยการวิเคราะห์มีน้อย
ส่วนตัวเคยโดนข่าวลวงว่า ไม่ใช่เป็นลูกของคุณพ่อ ก็รู้สึกตลก เพราะถ้าเดินไปด้วยกัน 3 คน คนก็จะบอกว่าตนมีหน้าเหมือนคุณพ่อมากกว่าคุณแม่ ตอนนี้การเสพสื่อสติเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
นายวสวรรธน์ พวงพรศรี พรรคเพื่อไทยรวมพลัง กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า การหาเสียงสื่อโซเชียลมีอิทธิพลค่อนข้างมาก สำหรับเรื่องเฟกนิวส์น่าจะโดนมาเกือบทุกคน ก็ต้องทำใจ เพราะการทำงานการเมือง ต้องทำใจยอมรับ และต้องเช็คก่อนจะเชื่อ ล่าสุดกรณีดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท พรรคเพื่อไทยที่เป็นเจ้าของเรื่องต้องออกมารณรงค์ชี้แจงว่าเป็นข่าวลวงข่าวปลอมอย่าหลงเชื่อ ยังไม่มีการให้ลงชื่อในช่วงนี้ ต้องเสพข่าวอย่างมีสติ
นายนพภา พันธุ์เพ็ง สื่อมวลชนอิสระกล่าวว่า พรรคการเมืองมักจะเจอข่าวลวง ที่มีการแชร์ต่อกันไป โดยบางคนคิดว่าข่าวที่แชร์ไปเป็นข่าวจริง หรือบางคนรู้เป็นข่าวลวง แต่ก็แชร์ต่อ เพราะรู้สึกสะใจ ดังนั้นคนที่รับข่าวลวงจะมีวิธีรับมือข่าวลวงได้อย่างไร ก็ดูกฎหมายที่มีอยู่นำมาใช้ได้จริงหรือไม่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยอมความกันไม่ได้ และมีอัตราโทษทั้งปรับทั้งจำ
ล่าสุดก็มีกฎหมายเกี่ยวกับนำภาพไปใช้ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของภาพก่อน แต่สังคมไทยไม่เอาจริง เพราะไม่ต้องการค้าความ ทำให้ข่าวลือข่าวลวงยังเกิดขึ้น ประกอบกับขบวนการ IO มีทั้งของรัฐและของพรรคการเมือง มีการทำเป็นขบวนการให้เกิดเป็นกระแส
ยกตัวอย่างกรณีเขื่อนปากมูลที่บอกมีประตูแค่ 8 บาน ทำให้บริษัทเอกชนบางแห่งมีการดูแลเรื่องข่าวลวงโดยตรง เช่น บริษัทนกแอร์ จะคอยสแกนข่าวที่มีการพาดพิงถึงบริษัทด้านลบ บริษัทก็จะชี้แจงทันที ไม่ใช่การตอบโต้ เป็นการอธิบายให้เข้าใจข้อเท็จจริง ต่อไปพรรคการเมืองก็คิดต้องทำแบบนี้เช่นกัน
ยกตัวอย่างมีการปล่อยข่าวว่า ส.ส.คนหนึ่งในอดีต ซึ่งมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีการปล่อยข่าวลวงออกมา ทำให้ ส.ส.ท่านนี้เสียโอกาส แม้จะมีการฟ้องร้องสื่อที่นำเสนอข่าวนี้ แต่ก็ได้เสียชื่อเสียงและเสียโอกาสที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว
“ดังนั้นเรื่องปล่อยข่าวลือข่าวลวงมีมานาน เพื่อจะดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม กว่าจะผ่านกระบวนการฟ้องร้อง ต้องใช้เวลา 4-5 ปี แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว” อยากเสนอให้ผู้ให้บริการทั้งเฟสบุค ยูทูป ที่จะแสดงความเห็น ต้องใช้ชื่อจริง จะลดปัญหาการกล่าวให้ร้ายกันอย่างลอยๆลงได้ เพราะการใช้ชื่อจริงจะลดความก้าวร้าวและนำเสนอแต่ความจริง
ชมรายการเต็ม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: