คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ดินทับช้อนเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ซึ่งจังหวัดตั้งขึ้น 19 คน ลงมติเอกฉันท์ชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน ทำกินมาก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
โดยมีหลักฐานเป็นร่องรอยการทำกินและหลักเขตในอดีต และยังพบการประกาศแนวเขตอุทยานผาแต้ม ยังล้ำไปครอบคลุมเกาะดอนกุ่ม ตั้งอยู่กลางแม่น้ำโขงของ ประเทศเพื่อนบ้าน จากนี้ กก.จะนำหลักฐานและมติส่งให้จังหวัดมีคำสั่งต่อไป
จากกรณีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ชาวบ้านกุ่ม บ้านตามุย และบ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ได้รวมตัวประท้วง กรณีมีชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม แจ้งความดำเนินคดีฐานบุกรุกจำนวน 6 ราย พร้อมเรียกร้องให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชาวบ้านทำกินมาก่อนมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเป็นการบุกรุกตามที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มกล่าวอ้าง
ซึ่งต่อมานายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผวจ.ได้แต่งตั้งคณะทำงานจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ป่าไม้ ที่ดิน เจ้าหน้าที่แผนที่ทหาร และตัวแทนชาวบ้านเข้าพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยมีการเดินสำรวจแนวเขต พร้อมจัดทำแผนที่ลงจุดพิกัด เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการลงมติของคณะทำงาน
และหลังการเดินสำรวจครอบคลุมทั้งพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาท คณะทำงานได้มีการประชุมกัน โดยนายปรีดา ชนะพลชัย รักษาราชการแทนนายอำเภอโขงเจียม เป็นประธานการประชุมพิจารณาหลักฐานที่ได้ร่วมกันจัดทำมาทั้งหมด
โดยจากการเดินสำรวจของเจ้าหน้าที่พบเสาหลักอุทยานแห่งชาติ ที่ได้ทำการกั้นแนวที่ดินทำกินของชาวบ้านกับเขตอุทยานปี 2534 ในเขตบ้านกุ่มจำนวน 15 ต้น และมีป้ายสังกะสีติดตามต้นไม้และสีที่แต้มไว้ตามก้อนหินและลานหิน เพื่อแสดงแนวเขตการครอบครองที่ทำกินของชาวบ้านกับแนวเขตอุทยานแห่งชาติ
และที่บ้านตามุย จะมีการแบ่งเขตจากทางเดินและลานหินด้านล่างเป็นที่ทำกินของชาวบ้าน ส่วนบ้านท่าล้ง พบร่องรอยการทำกินของชาวบ้าน
ด้วยหลักฐานที่ปรากฏทั้งหมด คณะสำรวจมีความเห็นตรงกันว่า ชาวบ้านมีการทำกินมาก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เพราะมีการแบ่งแนวเขตชัดเจนจากตีนเขาทางทิศเหนือขึ้นไปเป็นเขตอุทยาน และจากตีนเขาลงมาถึงแม่น้ำโขง เป็นที่ทำกินของชาวบ้าน
แต่จากประกาศของกฤษฎีกาใช้แบ่งเขตในปี 2534 กลับมีการผนวกเอาพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่มีปัญหากับอุทยานแห่งชาติผาแต้มในขณะนี้ เป็นเขตอุทยาน และจากการตรวจสอบยังพบว่า การลากเส้นแบ่งตามที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มจัดทำในอดีต ยังล้ำเข้าไปถึงร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะดอนกุ่ม ของประเทศเพื่อนบ้านเข้าเป็นของอุทยานแห่งชาติผาแต้มด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงข้อผิดพลาดในการจัดทำแนวเขตใช้ประกาศลงในกฤษฎีกาในครั้งนั้นด้วย
หลังมีการแสดงหลักฐานที่คณะกรรมการได้สำรวจ คณะกรรมการที่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ อาทิ ป่าไม้ ที่ดิน เจ้าหน้าที่แผนที่ทหาร รวมทั้งตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ 19 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง คือ นายนครินทร์ สุทัตโต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งคณะกรรมการมีความเห็นว่า มีร่องรอยการอยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้านก่อนจะมีการประกาศเป็นเขตอุทยาน ปี 2534 และจะได้ส่งมติของคณะทำงานรวมทั้งหลักฐานให้จังหวัดดำเนินการ
นายปรีดา ชนะพลชัย รักษาราชการแทนนายอำเภอโขงเจียม กล่าวว่า หลังการลงพื้นที่สำรวจของคณะกรรมการกรณีอุทยานแห่งชาติผาแต้มพิพาทกับชาวบ้านเรื่องของที่ดินทำกิน ก็พบหลักฐานร่องรอยการทำกินที่เชื่อว่าราษฏรทำกินมาก่อนจะมีการประกาศเป็นเขตอุทยาน จึงยึดเอาแนวเขตที่คณะทำงานเดินสำรวจ เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้คณะทำงานในระดับจังหวัดได้ตรวจดูว่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรต่อไป
ขณะนายธีระเกียรติ แก้วใส ผู้ใหญ่บ้านท่าล้ง ซึ่งมีลูกบ้านถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานบุกรุกที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม กล่าวว่า จะนำเอาหลักฐานของคณะทำงานที่มาสำรวจและได้ชี้ว่า ชาวบ้านได้เข้าทำกินก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานมอบให้กับพนักงานสอบสวน สภ.โขงเจียม เพื่อใช้ประกอบในสำนวนการสอบสวน และเป็นช่องทางใช้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้ด้วย
ข่าวโดย : เกียรติรัตน์ชัยสกุลวงศ์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: