X
โซล่าเซลล์ เขื่อนสิรินธร

กำเนิดจุดเช็คอินแห่งใหม่ “โซลาร์ลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร”

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และตั้งอยู่ทางตะวันออกสุด ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย และเป็นจังหวัดแรกที่เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าเยี่ยมชมมากมาย เช่น อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จุดชมวิวแม่น้ำสองสี น้ำตกแสงจันทร์ วัดพระธาตุหนองบัว เป็นต้น
เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

และสถานที่ ๆ จะแนะนำอีกแห่งหนึ่ง คือ เขื่อนสิรินธร อ.สิรินธร เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่สร้างขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าและด้านชลประทาน  ซึ่งในอนาคต จะเกิดจุดเช็คอินแหล่งท่องเที่ยวใหม่ คือ “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร” หรือโครงการ “Hydro-floating Solar Hybrid”

จุดวางโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ

โครงการฯ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ให้  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำตามเขื่อนต่าง ๆ ของกฟผ. มีกำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ (MW) และนำร่องแห่งแรก ณ  เขื่อนสิรินธร กฟผ. ลักษณะของโครงการ คือ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ เหนืออ่างเก็บน้ำ แทนการติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งจะเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์

ลักษณะการทำงานของระบบ Hydro-floating Solar Hybrid คือ การผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน ระหว่าง “พลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ” และ “พลังงานน้ำ” โดยอาศัยการควบคุมด้วยระบบบริหารจัดการพลังงาน Energy Management System (EMS) เชื่อมต่อกับระบบของ กฟผ. จุดเด่นของโครงการนี้ คือ เพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มเสถียรภาพมากขึ้น

โดยช่วงกลางวัน จะเน้นการผลิตไฟฟ้าจากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ส่วนในช่วงกลางคืน จะผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนแทน ช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าทั้งกลางวันและกลางคืน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak)

ข้อดีของโครงการฯ นี้ นอกจากความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า ได้แก่ น้ำ แสงอาทิตย์  ร่วมกับทรัพยากรที่มีอยู่เดิมของ กฟผ. เช่น พื้นที่อ่างเก็บน้ำ สายส่ง ทำให้ต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าต่ำลงด้วย  ที่สำคัญ การผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่น ลอยน้ำ ดีกว่าการผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนพื้นดินประมาณ 8-10% เพราะสามารถระบายความร้อนได้ดีกว่า

สำหรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่นำมาติดตั้งโครงการฯ นี้ เป็นชนิด Double glass เหมาะสมกับการนำมาใช้ในบริเวณที่มีความชื้นสูง มีคุณสมบัติป้องกันความชื้นจากใต้น้ำ เข้าสู่แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้อายุการใช้งานนานกว่าแผงทั่วไป  ส่วนทุ่นลอยน้ำใช้วัสดุน้ำหนักเบา ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม จึงกล่าวได้ว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนสิรินธร เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเริ่มโครงการฯ กฟผ.ต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมาย มีการให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการฯ แก่ผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบเขื่อนสิรินธร และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ มากำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไปโดมน้อย มาร์เก็ต

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา เขื่อนสิรินธรดำเนินงานมาครบ 48 ปี นอกจากเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าให้คนใน จ.อุบลราชธานี และพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนรอบเขื่อน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน มีการสร้างอาชีพเสริมรายได้ให้แก่ชุมชน การดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง เพราะในอนาคต เขื่อนสิรินธรจะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของประเทศ เกิดสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนรอบเขื่อน เป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ของดีประจำอำเภอสิรินธร เช่น ปลาซิวแก้ว สบู่ แชมพู ผ้ากาบบัว ฯลฯ มาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว ที่แวะเวียนมาเยี่ยมชมความสวยงาม ร่มรื่น ณ เขื่อนสิรินธร กฟผ. จ.อุบลราชธานี

ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ ข่าว

สนับสนุนข่าว : กฟผ.ศูย์จำหน่ายสินค้าโอท็อป

ผ้าทอพื้นเมือง ของดีประจำ อ.สิรินธร 

แชมพู สบู่ ของดีประจำ อ.สิรินธร 

ปลาซิวแก้ว ของดีประจำ อ.สิรินธร 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สุชัย เจริญมุขยนันท

สุชัย เจริญมุขยนันท

นิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลักสูตรโปรดิวเซอร์ เนชั่น วิทยากรพิราบน้อย โครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุ มูลนิธิหมอชาวบ้าน วิทยุเนชั่น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยประจำจงอุบลราชธานี ผู้จัดการศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลราชธานี ปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้อำนวยการทีวีชุมชนอุบลราชธานี E : [email protected] F : ทีวีชุมชนอุบลราชธานี T : 0818786440 LINE : SUCHAINEWS