นราธิวาส-ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส และ ศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนใต้ (ศบ.สต.) เป็นเจ้าภาพจัดประชุมมหกรรมวันสำคัญวันวิตามินเอ “มองโลกสดใส ใส่ใจวิตามินเอ
วันที่ 29 มกราคม 2563 ณ ห้องประชุมภักดีบดินทร์ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ นายแพทย์เจษฎา ฉายคุณรัฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12เป็นประธานเปิดงานมหกรรมวันสำคัญ วันวิตามินเอ “มองโลกสดใส ใส่ใจวิตามินเอ”เขตสุขภาพที่ 12โดยมีนายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส กล่าวต้อนรับ นายแพทย์บุญแสง บุญอำนวยกิจ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา กล่าวรายงาน ซึ่งมี ผู้บริหารสาธารณสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. เข้าร่วมในพิธีเปิด
ตามที่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา และศูนย์อนามัยที่12 ยะลา ร่วมกันสำรวจความชุกภาวะขาดวิตามินเอ ในพื้นที่4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการระบาดและเสียชีวิตจากโรคหัดในปี 2562พบว่า มีความชุกของภาวะขาดวิตามินเอ ร้อยละ 29.36 ถือเป็นพื้นที่ขาดวิตามินเอระดับรุนแรง ข้อมูลจากการสำรวจยังพบอีกว่า เด็กมีการเจริญเติบโตสูงดีสมส่วนเพียงร้อยละ50.46 เด็กมีภาวะทุพโภชนาการ คือ เตี้ย ร้อยละ 22.94 เด็กผอมร้อยละ 8.72 เด็กน้ำหนักน้อย ร้อยละ22.02 เด็กที่มีภาวะขาดวิตามิน เอ และทุพโภชนาการ จะมีอาการทางผิวหนัง ทางตา มีผลทางสมอง และการเรียนรู้
นายแพทย์เจษฎา ฉายคุณรัฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12กล่าวเพิ่มเติมว่า วิตามินเอ เป็นสารอาหารสำคัญ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อสุขภาพ โดยมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโต และการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุต่าง ๆ รวมทั้งระบบภูมิคุ้มกันโรค ช่วยในการมองเห็น กระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค วิตามินเอมีมากใน ไข่ นมสด ตับสัตว์ ผักผลไม้ ที่มีสีเขียวเข้ม และสี แดง สีส้ม ที่มีและหาง่ายในพื้นที่ ภาคใต้ เช่น ผักบุ้ง แครอท ฟักทองมะละกอสุก มะม่วงสุก ผักกูด ตำลึง ผักหวานบ้าน ใบยอ ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า เป็นต้น การป้องกัน และการแก้ปัญหาการขาดวิตามินเอ จำเป็นต้องเสริมวิตามินเอให้แก่เด็ก 6 เดือน ถึง 5 ปี ในพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินเอ และ พื้นที่เด็กมีภาวะทุพโภชนาการ วิตามินเออยู่ใน รูปแคปซูลเล็ก ๆ บรรจุแคปซูลละ 25,000IUปริมาณวิตามินเอที่ต้องจ่ายให้กลุ่มอายุคือ เด็ก 6 เดือนถึง 1 ปี จำนวน 100,000IU (หรือ 4 แคปซูล) 1ครั้ง และ เด็กที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป ถึง 5 ปี จำนวน 200,000IU (หรือ 8 แคปซูล) ปีละ 2 ครั้ง นอกจากการเสริมวิตามินแล้ว ควรส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีวิตามินเอสูง ดูแลภาวะโภชนาการ ตั้งแต่ตั้งครรภ์ การตรวจครรภ์ตามนัดทุกครั้ง หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร ควรกินอาหารครบทุกกลุ่ม ส่วนในเด็กปฐมวัยในช่วง 6 เดือนแรก ควรกินนมแม่อย่างเดียวและกินอาหารตามวัยจนมีอายุ 5 ปี
นายแพทย์เจษฎา ได้กล่าวต่อไปอีกว่า เขตสุขภาพที่ 12 มีความมุ่งมั่นให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัย “ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กเติบใหญ่มีคุณภาพ ” โดยมีแผนการส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก และสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อ วิตามินเอ ให้สถานบริการ4 จังหวัดชายแดนใต้ การจัดงานมหกรรมวันสำคัญวันวิตามินเอ “มองโลกสดใส ใส่ใจวิตามินเอ ” ในครั้งนี้ถือเป็นการจัดประชุมที่สำคัญ เพื่อให้สร้างกระแสให้เครือข่ายสุขภาพเห็นความสำคัญร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อไม่ให้เด็กปฐมวัยขาดวิตามินเอ ภายในงานมีทั้งการบรรยายวิชาการ ความสำคัญและการป้องกัน การขาดวิตามินเอ บูธความรู้ สาธิตการปรุงอาหารที่อุดมด้วยวิตามินเอ ตลอดจน บูธเล่นสร้าง ชาติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้นำความรู้ แนวทางปฏิบัติไปปรับใช้ในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ มีสุขภาพดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ข่าวน่าสนใจ:
- ผู้กำกับ สภ.บางเสาธง เชิญตัวคู่กรณีทั้งสองฝ่ายพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่รถชนกันแล้วมีอ้างรู้จักตำรวจ
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
- รวบสาวใหญ่ซิ่งมอไซค์ขนยาบ้า 516,000 เม็ด
- ตรัง แม่ค้าร้านดังถูกหลอก อ้างเป็นเลขานายกฯสั่งข้าวกล่องช่วยน้ำท่วมสูญเงิน 3 พัน
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: