นราธิวาส-สสจ.นราฯ แจง 2 ปมดราม่าทางโซเชี่ยล ยันไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนเคสล่าสุดไม่มีการปกปิดไทม์ไลน์ ด้านภรรยาผู้ติดเชื้อโควิด-19 วอนสังคมเข้าใจ
นายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานทางการแพทย์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid-19 (ศบค.Covid-19 ) จังหวัดนราธิวาส และคณะทำงานศูนย์บริหารราชการในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (EOC.จังหวัดนราธิวาส) ได้ชี้แจงประเด็นที่เป็นกระแสสังคมในโลกโซเชี่ยลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสว่า ตามที่ปรากฏข่าวลือว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เสียชีวิตขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ขอยืนยันว่าขณะนี้ผู้ป่วยรายดังกล่าวยังไม่เสียชีวิต และผู้ป่วยหนักรายนี้ ซึ่งเป็นชาวอำเภอเมืองนราธิวาสได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้วจำนวน 3 ครั้ง และทุกครั้งมีผลเป็นลบ ซึ่งนั่นหมายถึงผู้ป่วยรายนี้ไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งไม่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แต่ที่ยังไม่สามารถจำหน่ายกลับบ้านได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการป่วยหนักจากโรคประจำตัวคือเส้นเลือดในสมองอุดตัน ต้องเข้ารับการรักษาในห้อง ICU ของโรงพยาบาล ดังนั้นจึงขอยืนยันว่าข่าวการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ของผู้ป่วยรายดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ส่วนประเด็นที่มีการพูดถึงผู้ป่วยรายที่ 35 และครอบครัว โดยกล่าวหาว่า ปกปิดข้อมูลการเดินทาง (timeline) กับเจ้าหน้าที่ จนทำให้ต้องกักตัวแพทย์และพยาบาลรวมกว่า 60 คนนั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ คือผู้ป่วยได้เข้ามาตรวจอาการครั้งแรกช่วงเดือนมีนาคม 2563 หลังกลับมาจากการชุมนุมศาสนา ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แต่ในครั้งนั้นผลการตรวจมีผลเป็นลบ ไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ก็ได้กักตัวตามกระบวนการด้านสาธารณสุขจนครบตามกำหนด ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563ได้เข้ามาตรวจรักษาอาการป่วย โดยจากการตรวจสอบบุคคลดังกล่าวมีอาการไข้ และหอบ มีฝ้าเล็กๆในปอด จึงมีการซักประวัติและนำสิ่งส่งตรวจไปตรวจหาไวรัสโควิด-19 ซึ่งเมื่อมีผลเป็นบวกจึงส่งไปรักษาอาการที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมทั้งตรวจหาเชื้อบุคคลในครอบครัว คือภรรยาและลูกจำนวน 7คนรวมทั้งบุคคลใกล้ชิดพร้อมทั้งให้มีการกักตัวทุกคน โดยกลุ่มนี้มีผลเป็นลบไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ที่ผ่านมาผู้ป่วยและครอบครัวได้ให้ข้อมูลประวัติการเดินทางและรายละเอียดการร่วมกิจกรรมต่างๆกับเจ้าหน้าที่โดยไม่มีการปกปิดข้อมูลใดๆทั้งสิ้น ซึ่งฝ่ายภรรยาได้ติดต่อมาเพื่อขอให้สังคมเข้าใจและเห็นใจครอบครัวของตนเองด้วย
ส่วนการกักตัวของแพทย์และพยาบาลประจำโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ได้มีการกักตัวทั้งหมด 26 คน ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการทางการแพทย์ที่จะให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงกักตัวตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม โดยดำเนินการตามมาตรการนี้มาตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มิใช่เพิ่งมีการกักตัวเพราะมีผู้ป่วยรายนี้แต่อย่างใด
ด้านนายแพทย์อินทร์ จันแดง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ยืนยันว่าการกักตัวบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสุไหงโก-ลกครั้งนี้ไม่กระทบกับการให้บริการของโรงพยาบาลเนื่องจากมีบุคลากรที่พร้อมในการปฏิบัติงานรวมกว่า 800 คน การกักตัวแพทย์และพยาบาลจำนวน 26 คนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งโรงพยาบาลสุไหงโก-ลกมีแผนในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลทางการแพทย์ชัดเจนจึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากการที่ส่วนหนึ่งต้องถูกกักตัวจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และในทุกๆครั้งที่มีการตรวจหาเชื้อจากกลุ่มเสี่ยงไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ตามล่าสุดได้มีหนังสือในราชการด่วนที่สุด ที่ นธ00181/236 ลงนามโดยนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ลงวันที่ 5 พ.ค.2563 แจ้งมติคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส มีมติเห็นชอบให้ทำการปิด (lockdown) ตำบลแว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปโดยให้ทางจังหวัดนราธิวาสดำเนินการตามในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ข่าวน่าสนใจ:
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: