นราธิวาส-รถไฟสายใต้ขึ้น-ล่องปล่อยแล้ว 10 ขบวน สถานีตันหยงมัสเข้มมาตรการโควิด-19 ด้าน ปชช.ใช้บริการน้อยมาก
ภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) ได้มีมาตรการผ่อนคลายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเดินขบวนรถทางไกลและขบวนรถชานเมืองข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในช่วงเวลาเคอร์ฟิวได้ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยเริ่มเปิดให้บริการในวันนี้ (11 มิ.ย.63) โดยบรรยากาศที่สถานีรถไฟตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งขบวนรถไฟขบวนแรกที่เทียบท่าชานชาลาในช่วงเวลา 07.14 น.ของวันนี้คือขบวนรถไฟขบวนที่ 448 ต้นทางสถานีสุราษฎร์ธานีปลายทางสุไหงโก-ลก ส่วนขบวนที่สองเป็นขบวนที่ 453 ต้นทางสถานียะลาปลายทางสถานีสุไหงโก-ลก พบว่ามีผู้ใช้บริการทั้งบนขบวนรถไฟและรออยู่ที่สถานีตันหยงมัสจำนวนน้อยมาก คาดว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ติดตามทางโซเชียลยังไม่ทราบถึงมาตรการผ่อนคลายให้เปิดเดินรถไฟได้ตามปรกติ
ทางด้านนายมูฮัมหมัด ดือเลาะ รักษาการหัวหน้านายสถานีรถไฟตันหยงมัส เปิดเผยว่า ตามที่ ศบค.ได้ผ่อนคลายการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด และให้ยานพาหนะ ผู้โดยสาร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะที่เป็นการขนส่งคนหรือสินค้าระหว่างจังหวัดที่เริ่มออกเดินทางจากจังหวัดต้นทาง ก่อนเวลา 23.00 น. และถึงจังหวัดปลายทางหลังเวลา 03.00น.ของวันรุ่งขึ้นสามารถเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในช่วงเวลาห้ามออกนอกเคหะสถานได้ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ในส่วนของสถานีรถไฟตันหยงมัสนั้นได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือในช่วงของการปล่อยขบวนรถไฟขาขึ้น-ขาล่องไว้แล้ว ซึ่งปรกติก่อนช่วงโควิดระบาด จะมีประชาชนมาใช้บริการรถไฟในการเดินทางเป็นจำนวนมากทั้งระยะสั้นและระยะไกล แต่พอโควิดระบาดทุกขบวนต้องงด ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ในวันนี้เริ่มผ่อนคลายแล้ว โดยการรถไฟฯได้ประกาศเปิดเดินขบวนรถโดยสารทางไกล ขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดาและขบวนรถท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยสายใต้ทั้งขาขึ้นและล่องปรกติมีทั้งหมด 14 ขบวน แต่ในวันนี้ให้เดินรถได้จำนวน 10 ขบวน ส่วนขบวนที่ยังชะลอไว้ทั้งขาขึ้นและขาล่องคือขบวนรถไฟขบวนที่ 171 วิ่งต้นทางกรุงเทพฯปลายทางสุไหงโก-ลก และขบวนที่ 172 ต้นทางสุไหงโก-ลกปลายทางกรุงเทพฯ ส่วนมาตรการป้องกันโควิดนั้น เราจัดให้มีช่องทางเข้า-ออกสถานีเพียงช่องทางเดียว ผ่านจุดล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทั้งบริเวณสถานีและบนขบวนรถ เน้นย้ำการรักษาระยะห่างในการนั่งสลับกัน ซึ่งปรกติแล้วแต่ละโบกี้จะมี 78 ที่นั่ง ขณะนี้เมื่อนั่งสลับห่างกันจะเหลือเพียง 40 ที่นั่งต่อ 1 โบกี้ และเรางดจำหน่ายอาหารบนขบวนรถ หากผู้โดยสารที่เดินทางไกลเกินกว่า 3 ชั่วโมงต้องเตรียมอาหารไปเอง
สำหรับมาตรการในการป้องกันความเสี่ยงจากโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขนั้น ทางด้านนานพิชิต รัตนวงศ์ สาธารณสุขอำเภอระแงะ เปิดเผยว่า ได้เน้นย้ำให้พนักงานทุกคนใส่หน้ากากอนามัย สวมถุงมือยางและ Face shield ตลอดเวลาที่ให้บริการ ส่วนผู้จะซื้อตั๋วต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือด้วยเจล และที่สำคัญรักษาระยะห่างทางสังคม สำหรับผู้ที่มาซื้อตั๋วหากมีโทรศัพท์ให้สแกนแอปพลิเคชั่นไทยชนะที่ติดตั้งไว้ที่สถานีและบนขบวนรถเป็นรายตู้และโบกี้ เพื่อใช้ควบคุมการเข้าออกของผู้โดยสารที่มาใช้บริการผ่าน Check-in และ Check-out เพื่อไว้ใช้ติดตามตัวกรณีเกิดการแพร่ระบาดของโควิดบนขบวนรถไฟขบวนนั้นๆ แต่หากผู้โดยสารไม่มีโทรศัพท์ต้องกรอกแบบฟอร์ม ต.8 ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่ประเมินความเสี่ยงของตัวบุคคล รวมทั้งกรอกแบบฟอร์มคำร้องขอซื้อตั๋ว มีการตรวจวัดอุณหภุมิ หากเกิน 37.5 องศา ไม่อนุญาตให้ซื้อตั๋ว อีกทั้งจัดให้มีแอลกอฮอล์เจลบริการทั้งบริเวณสถานีและบนขบวนรถ ที่สำคัญที่สุดคือเน้นย้ำในการรักษาระยะห่าง Social Distancing ให้มีจุดนั่งสลับกันทั้งที่สถานีและขบวนรถไฟอีกด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: