นราธิวาส-ผอ.ชลประทานที่ 17 ยัน! พร้อมรับมืออุทกภัยขณะที่เฝ้าระวังลุ่มน้ำบางนราและโก-ลก
วันนี้ (18 พ.ย.2564) เวลา 13.30 น.ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 ซึ่งดูแลรับผิดชอบลุ่มน้ำในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 4 ลุ่มน้ำประกอบด้วย ลุ่มน้ำโก-ลก ลุ่มน้ำบางนรา ลุ่มน้ำสายบุรี ลุ่มน้ำปัตตานี รวมถึงพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดงและป่าพรุบาเจาะ-ไม้แก่น กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมของลุ่มน้ำว่า จากการที่มีฝนตกหนักในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาตใต้ มีจำนวนฝนตกมากขึ้น ส่วนในพื้นที่ จ.นราธิวาส มีฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอยี่งอและอำเภอระแงะ ส่วนลุ่มน้ำสายหลักในลุ่มน้ำโก-ลก ลุ่มน้ำบางนรา ลุ่มน้ำสายบุรี และลุ่มน้ำปัตตานี ซึ่งลุ่มน้ำสายบุรี และลุ่มน้ำปัตตานี ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนลุ่มน้ำบางนรา ในพื้นที่ตันหยงมัส อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ขณะที่ทางชลประทานจังหวัดก็ได้มีการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะที่ลุ่มน้ำโก-ลก ล่าสุดปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น และอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังเช่นกัน ซึ่งมีการประเมินสถานการณ์ว่า หากน้ำที่ไหลมาจากอำเภอแว้งและอำเภอสุไหงปาดี อาจจะทำให้ระดับน้ำในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อยู่ในขั้นแตะตลิ่ง แต่ยังไม่เข้าท่วมในพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากในเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก มีการติดตั้งสร้างคันกั้นน้ำตลอดแนว ผนวกกับระดับน้ำล่าสุด จึงคาดว่าระดับน้ำจะยังไม่สามารถล้นตลิ่งเข้ามาท่วมในชุมชนได้เหมือนปีที่ผ่าน ๆ มา
สำหรับแผนรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ เนื่องจากเข้าสู่หน้าฝนในช่วงนี้ ทางกรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 17 ได้มีการเตรียมการมาตั้งแต่เดือนกรกฏาคม ที่ผ่านมา ในเรื่องความพร้อมของอาคารชลประทานทุกแห่ง ให้พร้อมใช้งาน การกำหนดพื้นที่เสี่ยง การกำหนดกำลังคนที่รับผิดชอบ การจัดสรรเครื่องมือเพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ โดยปัจจุบันมีการขุดลอก คูคลองอย่างต่อเนื่อง การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ (HYDROFLO) ไปแล้ว 6 แห่ง จากแผน 24 แห่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นในพื้นที่อำเภอเมือง บริเวณคลองยะกัง ซึ่งจะช่วยเหลือครอบคลุมในเขตศูนย์ราชการจังหวัดนราธิวาส และเทศบาลเมืองนราธิวาส และส่วนที่น้ำแบ่ง พื้นที่อำเภอตากใบ มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 เครื่อง เพื่อสำรองไว้ใช้งาน กรณีเกิดอุทกภัยในพื้นที่ ก็จะสามารถเดินเครื่องผลักดันน้ำเพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยต่อไป ส่วนจุดอื่นๆอีก 4 แห่ง เช่นที่ คลองลาน ก็มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ (HYDROFLO) จำนวน 5 เครื่อง และที่ฟาร์มบ้านรอตันบาตู จำนวน 2 เครื่อง และที่ปิเหล็ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บ้านโคกสะตอ
“สถานการณ์ปัจจุบันมีการพร่องน้ำในลุ่มน้ำสายหลักในเขตชลประทานให้เหลือ 50 % ของลำน้ำ และหากมีฝนตกลงมาก็จะสามารถเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ ในส่วนอุปกรณ์เสริม เช่น เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ซึ่งมีการตรวจสอบการเดินเครื่องทุกแห่ง และสามารถใช้งานได้ทุกแห่ง” ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 17 กล่าว
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: