นราธิวาส-ศูนย์วิทย์นราฯจัดกิจกรรมมหกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ (Science Week INNOTECH 2022) กระตุ้นเยาวชนต้องเรียนรู้โลกแห่งอนาคต ความรู้ที่หลากหลายไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในโรงเรียน
วันนี้ (18 สิงหาคม 2565 ) ที่อาคารดาราศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส ตำบลลำภู อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ดร.อาสลัน หิเล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ (Science Week INNOTECH 2022) ภายใต้โครงการศูนย์วิทย์ ก้าวใหม่ ก้าวแห่งคุณภาพ science@home โดยมี ดร.สุชาติ ถาวระ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส คณะกรรมการผู้ตัดสิน บุคลากรทางการศึกษา คณะครู ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงกัน
สำหรับกิจกรรมมหกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ (Science Week INNOTECH 2022) เป็นกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนทุกสังกัด ได้แสดงทักษะความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็น”พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” โดยกิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2565 มีผู้เข้าร่วมแข่งขันรวม 2 วัน จาก 2 กิจกรรมกว่า 200 คน เป็นนักเรียน เยาวชน และประชาชนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ข่าวน่าสนใจ:
โดยมีกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ ( Narasci Arduino Robotics Challenge) ซึ่งเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติที่ควบคุมด้วย Arduino Board แบ่งประเภทการแข่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เดินตามเส้น บัตับระยะไกลด้วย Blutooth HC-06 โดยจัดแข่ง 2 ระดับ ประกอบด้วย ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และกิจกรรมการแข่งขัน ROV E-SPORT ซึ่งเป็นการแข่งขันเกมที่ได้รับการอนุญาตให้จัดขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากบริษัท การีนา (ออนไลน์) ประเทศไทย จำกัด โดยจัดการแข่งขันขึ้น 3 ระดับได้แก่ 1. ระดับประถมศึกษา 2. ระดับ มัธยมศึกษา และ 3. ระดับทั่วไป ทำการแข่งขัน 2 รอบได้แก่ รอบคัดเลือกและรอบชิงชนะเลิศโดยมี ผู้สนใจสมัครเข้าร่วม จำนวน 17 ทีม รวมครูผู้ควบคุมทีมแล้ว จำนวนกว่า 100 คน นอกจากนี้ยังมีการเปิดพื้นที่ให้บริการนิทรรศการต่าง ๆ ได้แก่ นิทรรศการดาราศาสตร์ นิทรรศการ Puzzling things นิทรรศการ สสส.นิทรรศการรายอกีตอ และ นิทรรศการเรื่องราวกระจูด ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส
ด้านดร.อาสลัน หิเล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราช นครินทร์ กล่าวว่า คงต้องยอมรับว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะพัฒนาทักษะของผู้เรียนให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือนำวิทยาศาสตร์สู่การจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล เพื่อให้ผู้เรียนสามารถจัดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นสำคัญ ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบัน อีกทั้งยัง เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถและศักยภาพด้านเทคโนโลยี ดิจิทัลและนวัตกรรมทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รับประสบการณ์การเรียนรู้อย่างแท้จริงและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: