X

นราธิวาส-ม.นราฯ>>มุ่งขจัดความยากจนในพื้นที่!!!

นราธิวาส-ม.นราฯ ถกร่วมการปฏิบัติให้ขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกัน ขจัดความยากจนให้หลุดพ้น

เมื่อเวลา 13.45 น.วันที่ 10 สิงหาคม 2566 ที่ห้องประชุม ดร.จงรัก พลาศัย ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส นายปรีชา นวลน้อย รอง ผวจ.นราธิวาส เป็นประธานเปิดการประชุมเตรียมความพร้อม และรับฟังแนวทางการพัฒนาในระดับจังหวัด โดยมี ดร.อโศก พลบำรุง รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ, ผศ.ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ,รศ.ดร.วสันต์ พลาศัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้บริหารทั้ง 4 มหาวิทยาลัย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม


โดยปี 2564 มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ดำเนินโครงการวิจัยต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำใน จ.นราธิวาส ร่วมกับภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด อำเภอ และชุมชน นำร่องใน 3 อำเภอ คือ อ.เมืองนราธิวาส อ.สุคิริน และ อ.สุไหงปาดี มุ่งเน้นการการสอบทานข้อมูลและการส่งต่อความช่วยเหลือ รวมถึงการออกแบบนวัตกรรมจากทุน 5 ด้าน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนใน จ.นราธิวาสได้อย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ความสำเร็จจากการดำเนินโครงการของแต่ละพื้นที่ใน 3 อำเภอที่ผ่านมา โดยเฉพาะอำเภอสุไหงปาดี ทำให้ในปี 2565 นำไปสู่การช่วยเหลือส่งต่อนวัตกรรมแก้จนที่สอดคล้องกับบริบทของคนจนในพื้นที่เป้าหมาย


ทั้งนี้ได้แบ่งตามทักษะอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ 3 กลุ่มหลักคือกลุ่มแปรรูป กลุ่มเกษตรกรรม และแพลทฟอร์มสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งสามารถส่งต่อความช่วยเหลือตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ และในปี 2565 ที่ผ่านมา คณะทำงานได้ค้นพบเอกลักษณ์ของพื้นที่ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ได้ คือ น้ำผึ้งชันโรงมรกต ซึ่งนอกจากสีที่แตกต่างจากสีของน้ำผึ้งชันโรงทั่วไปที่เป็นสีเหลืองใสแล้ว ยังพบว่าน้ำผึ้งชันโรงมรกตมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญมากถึง 200 กว่าชนิด โดยเฉพาะสารในกลุ่มสารต้านมะเร็งและสารยับยั้งการเกิดอัลไซเมอร์


นายปรีชา นวลน้อย รอง ผวจ.นราธิวาส กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ ซึ่งการแก้ปัญหาคนจนให้หลุดพ้นจากความยากจนได้นั้น ต้องนำกระบวนการ 4 หลัก คือ 1.การค้นหา การสอบทานข้อมูล และสำรวจทุนครัวเรือนคนจน 2.การพัฒนาระบบส่งต่อความช่วยเหลือไปยังภาคีเครือข่าย 3.การออกแบบนวัตกรรมแก้จนที่สอดคล้องกับบริบทของคนจนในพื้นที่เป้าหมาย 4.การทำข้อเสนอเชิงนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนายุทธศาสตร์ของจังหวัด การประชุมในครั้งนี้ จึงนับเป็นการร่วมพูดคุยเพื่อรับฟังแนวทาง และนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ เพื่อให้ขับเคลื่อนงานไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดการพัฒนายุทธศาสตร์ในการทำงานต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน