นราธิวาส-“รมว.ยุติธรรม” ลงใต้! มอบเงินเยียวยารอบสอง เหตุโกดังพลุระเบิด ระบุ! อาจต้องให้กรมสอบสวนและ ป.ป.ช.เข้ามาดูเรื่องคดี
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 14 ตุลาคม 2566 ที่โรงเรียนบ้านมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยา ภายใต้กิจกรรมคุ้มครองคน คุ้มครองสิทธิ : เพื่อสร้างวิถีชีวิตแห่งความเป็นธรรม ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมีนายสิน จินตภากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม, นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม, นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม, นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม, นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นายปรีชา นวลน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมก่อนจะมอบเงินเยียวยา
ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา กรณีโกดังพลุระเบิดในพื้นที่บ้านมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 11 ราย และบาดเจ็บจำนวน 345 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,041,888 บาท ซึ่งในรายผู้เสียชีวิตนั้น นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 และมอบเงินช่วยเหลือแล้ว 9 ราย อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงอีก 2 ราย โดยวันนี้ได้มีการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้บาดเจ็บจำนวน 345 ราย รวมเป็นเงิน 2,241,888 บาท
ทางด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า วันนี้เดินทางมาช่วยเหลือเยียวยาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายรวมถึงค่าใช้จ่ายของจำเลยในคดีอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นมาตรฐานกลาง เป็นกฎหมายที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ ดูแลผู้เสียหายที่ถือว่าเป็นเหยื่อจากการกระทำผิดอาญา ที่บัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาบางประเภท เช่น กฎหมายเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ซึ่งเหตุการณ์มูโนะ ก็เป็นกรณีที่เกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เป็นการกระทำที่เจ้าหน้าที่รัฐบกพร่องในการกวดขัน หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก อย่างน้อยที่สุดก็อยากจะให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับรู้ว่าการช่วยเหลือลักษณะนี้ยังมี เพราะหลายคนก็ไม่คาดคิดว่าทางรัฐบาลจะมาเยียวยา ซึ่งบางรายมีอาการหูอื้อแต่ก็ได้รับการเยียวยา
“ส่วนทางคดีความ ก็จะให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในพื้นที่เป็นคนทำคดี ซึ่งถ้ามองว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรมเองก็ยังมีหน่วยงานที่มาสนับสนุนและตรวจสอบ โดยให้กรมสอบสวนเข้ามาดู พลุเป็นวัตถุที่ กอ.รมน.รับรองว่ามีและขออนุญาตไม่ได้ ต้องดูกันอีกระยะหนึ่งว่ามีการดำเนินคดีถึงขั้นไหนแล้ว ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็จะต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.รับผิดชอบ แต่จะเร่งรัดให้ดำเนินการให้เร็ว ซึ่งประชาชนไม่ได้มองแค่การเยียวยาให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก โดยไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: