นราธิวาส-นายกฯ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ลงนราฯ พบปะสร้างขวัญกำลังใจผู้ประสบอุทกภัยที่ศูนย์อพยพฯ ย้ำ! ห่วงใยประชาชนที่เดือดร้อน ก่อนมอบถุงยังชีพ จำนวน 262 ถุง ขณะที่ราษฎรเดือดร้อนรวม 109,545 คน
เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 26 ธันวาคม 2566 ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งจัดเป็นศูนย์อพยพพักพิงผู้ประสบอุทกภัยของอำเภอระแงะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ หลังประชุม ครม.เสร็จสิ้น พร้อมคณะฯ ได้แก่ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ซึ่งดูแลด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผวจ.นราธิวาส, พลตรี ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า, พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผบ.พล.ร.15 / ผบ.ฉก.นราธิวาส รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
สำหรับภารกิจในการลงพื้นที่ อ.ระแงะ ในครั้งนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลา 4 วัน ปริมาณฝนสะสมสูงสุดถึง 600 กว่ามิลลิเมตร อีกทั้งน้ำป่าจากเทือกเขาไหลลงมาสมทบกับลุ่มน้ำ 3 สายหลักคือลุ่มน้ำบางนรา ลุ่มน้ำสายบุรีและลุ่มน้ำโก-ลก อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่ง ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร โรงเรียนและถนนหนทางจนกลายเป็นเมืองบาดาลในหลายพื้นที่ หนักที่สุดคือ อ.รือเสาะ และ อ.ระแงะ
ข่าวน่าสนใจ:
- นายกฯ "อิ๊ง" เปิดงานออนซอนกลองยาวชาววาปี สานตำนานเมืองวาปีปทุม 142 ปี
- DSI ร่วมบริจาคน้ำดื่มให้ท่านจุฬาราชมนตรี เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
- นครพนม น้องขวัญ นำทัพกลุ่มนครพนมร่วมใจ เปิดตัว ส.อบจ.นครพนม ทั้ง 30 เขต
- นายกฯ พบปะนักเรียนจากทั่วอีสาน ชูโครงการ "หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน" เพิ่มโอกาสชีวิต
โดยนายกฯเศรษฐา กล่าวให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยว่า ผมเป็นห่วงทุกคน น้ำมาเร็วและแรงมาก แต่ตอนนี้ฝนเริ่มหยุดตก น้ำในบางพื้นที่เริ่มลด ได้ฝากให้ฝ่ายปกครองและหน่วยงานในพื้นที่ดูแลพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนทุกพื้นที่ รวมทั้งให้ติดตามแนวโน้มสถานการณ์ มีความพร้อมในการรับมือของหน่วยงาน แนวทางการบริหารจัดการน้ำ เช่น การระบายน้ำ รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่จะแก้ไขและช่วยเหลือได้ตรงและทันสถานการณ์
จากนั้นนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีได้มอบถุงยังชีพจำนวน 262 ถุง รวมทั้งมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานแก่เกษตรกร ก่อนจะเดินทางไปยังพื้นที่ ม.1 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ เพื่อตรวจดูสภาพน้ำและถือโอกาสพบปะพี่น้องประชาชนอีกด้วย
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงบ้างแต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง หลังจากนี้จะต้องดูเรื่องระบบเตือนภัย ให้กรมอุตุนิยมวิทยาทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้นในการเตือนภัย มองว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ความไม่สงบดีขึ้นแล้ว การค้าชายแดนไทย-มาเลเซียก็ดีขึ้น เหตุการณ์อุทกภัยก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น พร้อมฝากหน่วยงานสาธารณสุขเฝ้าระวังเรื่องโรคระบาด โรคผิวหนัง ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โครงการขนาดใหญ่ จะต้องดูองค์รวมทั้งหมดว่าสามารถช่วยแก้ไขตรงไหนได้ แน่นอนว่าไม่อยากให้เกิดปัญหา เกิดแล้วเกิดอีกซ้ำซาก และมีการสูญเสียชีวิตเกิดขึ้นด้วย ฝากถึงประชาชนหากมีการเตือนภัยต้องปฏิบัติตามและยังต้องระมัดระวังต่อไป ช่วงนี้ยังไม่ปลอดภัยนัก ติดตามการเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา ทางกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กองทัพบกจะช่วยดูแลเยียวยาพี่น้องประชาชนและขอขอบคุณหน่วยงานรัฐทุกหน่วยที่ช่วยดูแลประชาชน
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำโก-ลก แนวโน้มลดลง คาดว่าถ้าไม่มีฝนตกซ้ำไม่เกิน 7 วัน น้ำจะลดเข้าสู่ภาวะปกติ ลุ่มน้ำบางนราและลุ่มน้ำสายบุรี แนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน คาดว่า 7-10 วัน เข้าสู่สภาวะปกติยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ส่วนลุ่มน้ำปัตตานี บริเวณตอนบนเขื่อนกักเก็บน้ำบางลางของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต มีน้ำอยู่ประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 85 สามารถรับน้ำได้อีกร้อยละ 15 และใช้เขื่อนปัตตานีเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในระลอกที่ 3 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส รายงาน ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น.ได้รับผลกระทบ จำนวน 13 อำเภอ, 68 ตำบล, 410 หมู่บ้าน, 28,049 ครัวเรือน, 109,545 คน, 8 ชุมชน, โรงเรียน 254 แห่ง, มัสยิด 13 แห่ง, วัด 18 แห่ง, ปศุสัตว์ (แพะ) 2 ตัว, โค 1 ตัว, ถนน 2 สาย, สะพาน 1 แห่ง, สถานที่ราชการ 5 แห่ง ประกอบด้วย อำเภอแว้ง, อำเภอสุคิริน, อำเภอจะแนะ , อำเภอระแงะ, อำเภอสุไหงปาดี, อำเภอศรีสาคร, อำเภอเจาะไอร้อง ,อำเภอยี่งอ, อำเภอรือเสาะ , อำเภอบาเจาะ, อำเภอเมืองนราธิวาส, อำเภอตากใบ และอำเภอสุไหงโก-ลก มีผู้สูญหาย 4 ราย เป็นหญิง 2 ราย ชาย 2 ราย ที่ อ.รือเสาะ ส่วนลุ่มน้ำหลัก 3 ลุ่มน้ำ คือลุ่มน้ำโก-ลก, ลุ่มน้ำบางนรา และลุ่มน้ำสายบุรี ระดับน้ำที่ล้นตลิ่ง มีแนวโน้มลดลง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: