นราธิวาส-ชาวลำภูกว่า 1,000 ครัวเรือน ซัด! จนท.ไร้จิตสำนึก-ร้องสื่อฯ กรณีน้ำท่วมหนักรอบ 50 ปี ได้เงินเยียวยาไม่เป็นธรรม วอน “เศรษฐา” ช่วยด่วน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 15 พ.ค.67 ที่วัดลำภู ม.2 ต.ลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้มีตัวแทนชาวบ้านที่อาศัยอยู่บ้านคลองไทร ม.1 บ้านลำภู ม.2 บ้านทุ่งขนุน ม.3 บ้านโคกโก ม.4 และบ้านทุ่งงาย ม.9 ต.ลำภู จำนวนกว่า 300 คน ภายใต้การนำของนางวิชชุเวช เอียดเต็ม ได้รวมตัวกันเดินทางมาร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมกับสื่อมวลชน กรณีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 25 ถึง 28 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักในรอบ 50 ปี สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนละแวกดังกล่าวเป็นอย่างมาก
ข่าวน่าสนใจ:
- "นายกเล็กโก-ลก" สั่ง!เปิดประตูระบายน้ำ เร่งดันออกจากชุมชน
- เพชรบูรณ์-วัดแทบแตก! แรงงานเมียนมานับหมื่น แห่กราบขอพร ที่วัดพระธาตุผาซ่อนแก้วในวันสิ้นปี
- วงเมืองแสนล้านช้าง พนมไพรวิทยาคาร ครองถ้วยพระราชทาน การประกวดวงโหวด
- บุรีรัมย์ ลูกชิ้นยืนกินบุรีรัมย์ คึกคัก นักท่องเที่ยวแห่ชิม-ซื้อของฝาก ยอดขายพุ่งรับปีใหม่ 2568
โดยกลุ่มตัวแทนชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้าน ได้นำเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมทั้งภาพถ่ายในโทรศัพท์มือถือ ที่เห็นถึงความเสียหายของบ้านและทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งภาพถ่ายความเสียหายที่ได้ไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นำมาให้ผู้สื่อข่าวดู
ทั้งนี้ชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่ อบต.ลำภู ซึ่งได้ส่งไปยังเจ้าหน้าที่อำเภอ ก่อนไปสิ้นสุดที่เจ้าหน้าที่จังหวัด ที่ได้พิจารณาตามกฎเกณฑ์จ่ายเงินเยียวยาให้กับชาวบ้านแต่ละหลังคาเรือน โดยที่ผ่านมามีชาวบ้านได้รับเงินสูงสุด 52,000 บาท และต่ำสุดเพียง 720 บาทเท่านั้น ส่วนชาวบ้านอีกกว่า 800 ครัวเรือน ไม่ได้รับเงินเยียวยาแม้แต่บาทเดียว เนื่องจากมีระเบียบตายตัวว่า หากไม่มีภาพถ่ายความเสียหาย รวมทั้งภาพถ่ายความเสียหายที่ส่งให้เจ้าหน้าที่เกิดสูญหายโดยที่ไม่มีผู้รับผิดชอบ ก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยา ซึ่งในความเป็นจริง ชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัยส่วนใหญ่ไม่มีโทรศัพท์มือถือที่จะบันทึกความเสียหายได้ อีกทั้งทรัพย์สินภายในบ้านถูกกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากพัดหายไป ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่บอกว่า ขณะที่น้ำกำลังไหลทะลักเข้ามา จังหวะนั้นคือทุกคนต้องพยายามเอาตัวรอดไว้ก่อน จนไม่ได้ถ่ายภาพความเสียหายเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามชาวบ้านได้ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ถูกเมินเฉย จนชาวบ้านหมดความอดทน ต้องร้องเรียนมาทางสื่อในครั้งนี้
จากนั้นตัวแทนชาวบ้านได้นำผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบตัวอย่างการจ่ายเงินเยียวยาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่บริเวณริมถนนลำภู-โคกโก ม.2 ซึ่งเป็นจุดที่เรือยนต์ที่ใช้อพยพชาวบ้านถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวพัดจนเรืออับปาง ซึ่งบ้านหลังดังกล่าว ทางการให้เงินเยียวยาจำนวน 50,000 บาท ในขณะที่บ้านที่ปลูกสร้างติดกัน ซึ่งเป็นของนางสมศรี นวาโย เลขที่ 111 พบว่ามีซากปรักหักพังของบ้านที่ยังไม่ได้ซ่อมแซม กลับได้เงินเยียวยาเพียง 3,500 บาท ทั้งๆที่บ้านทั้งสองหลังเสียหายอย่างหนักพอๆกัน กลายเป็นประเด็นที่ชาวบ้านคลางแคลงใจว่า เจ้าหน้าที่ใช้กฎเกณฑ์อะไรตัดสิน ทำให้นางสมศรี ไม่สามารถซ่อมแซมบ้านได้จากเงินเยียวยาเพียงน้อยนิด จึงตัดสินใจย้ายไปเช่าบ้านในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาสเป็นการชั่วคราว
ด้านนางกนกวรรณ สมบูรณ์ อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 72 ม.9 ต.ลำภู กล่าวด้วยน้ำตานองหน้าว่า บ้านเสียหายหมดทุกอย่างเลยบ้านสองหลังน้ำท่วมสูงจนไม่มีที่จะอยู่ ตัวเองติดอยู่ข้างนอกเดินเข้าไปเพื่อที่จะเข้าไปช่วยลูก ถึงวันนี้ไม่ได้เงินเยียวยาสักบาทเพราะไม่มีชื่อ อยากจะรู้ว่าเขาเอาเงินไปไหนหมดเราก็ต้องใช้จ่าย ร้านค้าก็พังเสียหายจึงอยากจะฝากทางผู้ใหญ่ให้ช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาเพราะเดือดร้อนกันทุกคน เราจะเอาหลักฐานจากไหนมาในสถานการณ์นั้นแค่เอาชีวิตรอดมาได้ก็บุญแล้ว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่บอกว่าจะเอาหลักฐานเราก็ไม่มีหลักฐานอะไรเลย มีแต่ข้อมูลที่น้ำซัดพาไปหมด โดยเจ้าหน้าที่จะเอาหลักฐานเป็นภาพถ่ายหมูที่ลอยน้ำเกือบ 40 ตัว ลอยไปกับน้ำหมดเลย ประเมินความเสียหายประมาณ 600,000 ถึง 700,000 บาท ซึ่งวันนี้ตัวเองไม่เหลืออะไรเลย ต้องมาเป็นหนี้และใช้หนี้เพราะไปกู้เงินมาเลี้ยงหมู
ด้านนางวิชชุเวช เอียดเต็ม แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า ตอนนี้ประชาชนที่จังหวัดนราธิวาสเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมหนัก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประกาศภัยพิบัติ 100% แต่เราได้รับการเยียวยาได้อย่างน่าเกลียดมากไม่มีความเป็นธรรม ขัดต่อระเบียบกระทรวงการคลังที่รัฐบาลเปิดให้ช่วยเหลือชาวบ้าน อาจจะเป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการของคนที่ให้ข้อมูล และผู้ที่สำรวจข้อมูล ซึ่งยอมรับว่าผู้สำรวจข้อมูลเองก็รับฟังคำสั่งมาเป็นทอดๆว่าเอาหลักฐานแค่ไหน แต่ความเป็นจริงภาพความเสียหายให้เห็นทั่วประเทศและทั่วโลก ว่าคนในพื้นที่ประสบเหตุอย่างไรบ้าง น้ำท่วมขนาดไหนลำพังจะเอาชีวิตรอดออกมายังยากเลย ในเมื่อรัฐบาลเองต้องการให้ประชาชนหมดหนี้ ต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้องการให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข แต่วันนี้กลับตรงกันข้ามกันกับสิ่งที่ชาวบ้านได้รับ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสถานะตอนนี้แย่ลงมาก ทุกคนต้องเป็นหนี้เป็นสิน ต้องกู้เงินสหกรณ์ กู้เงินสัจจะ กู้เงินเงินกองทุน แม้กระทั่งต้องกู้เงินนอกระบบ เพื่อมาสร้างครอบครัวใหม่คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบไปอยู่ที่ไหนมา ทำไมไม่มาดูตอนที่ของเน่าเต็มบ้านเสื้อผ้าจะเอาคลุมตัวยังไม่มี แม้กระทั่งที่นอนยังไม่มีเลยเสื่อยังลอยน้ำ ซึ่งเงินเยียวยาที่มากสุดเท่าที่ได้ยินมา 52,000 บาท กับบ้านพังทั้งหลังรถยนต์กี่คัน แล้วเจ้าหน้าที่บอกว่าให้ถ่ายรูปมา สถานการณ์น้ำท่วมปลั๊กไฟน้ำเข้าโทรศัพท์หล่นหายไปกับน้ำแล้วจะเอาอะไรมาถ่าย โดยคุณจะต้องใช้สามัญสำนึกไม่ว่าผู้ใหญ่ระดับไหนก็ตาม แต่วันนี้อยากให้ผู้ใหญ่รื้อระบบคิดใหม่ทำใหม่ ใช้สามัญสำนึกให้นึกถึงหลักความเป็นจริงว่าน้ำท่วมหนักขนาดนี้ ความเสียหายหนักขนาดนี้ เขาต้องได้รับการชดเชยขนาดไหนถึงจะมีคุณภาพชีวิตอยู่ได้ โดยที่เอาอะไรมาเป็นเกณฑ์มาวัด ถึงอยากจะเรียกร้องนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ช่วยรื้อระบบหรือไม่ก็สำรวจใหม่ทั้งจังหวัดในส่วนของพื้นที่ที่มีความเสียหาย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: