นราธิวาส-“ปภ.นราธิวาส” ออกโรงแจง! หลังสื่อเป็นกระบอกเสียงแทนชาวบ้าน กรณีเงินเยียวยาน้ำท่วมไม่เป็นธรรม ยัน! จ่ายตามข้อมูลที่ท้องถิ่นส่งมาแล้ว 50 ล้าน ในระยะเวลา 3 เดือนตามกรอบกระทรวงการคลัง ขณะที่ อีก 42 ล้าน จ่ายด้านเกษตร สาธารณูปโภค ประมง ปศุสัตว์ ส่วนหญิงพิการ ตรวจสอบไม่มีรายชื่อ!!!
ภายหลังกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ 2 อำเภอของ จ.นราธิวาส คือ ต.ลำภู อ.เมืองนราธิวาส และอีก 2 ตำบลของ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส รวมตัวกันร้องผ่านสื่อช่วยนำเสนอข่าว กรณีผู้ประสบอุทกภัยทั้งที่ตำบลลำภู และอีก 2 ตำบลของ อ.ระแงะ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐในการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมหนักในรอบ 50 ปี เมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค.66 ที่ผ่านมา เนื่องจากบางคนรายชื่อตกหล่น ทั้งๆที่เจ้าหน้าที่ลงสำรวจแล้ว 2 รอบ รวมทั้งหญิงพิการรายหนึ่งได้เพียงแต่ 100 บาท จนชาวบ้านสิ้นหวัง หลายรายถึงกับร้องไห้เพราะไม่มีบ้านอยู่
ล่าสุด วันนี้ (19 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายวสันต์ ไชยทวีวงศ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส (ปภ.นราธิวาส) ที่ได้ชี้แจงผ่านทางโทรศัพท์มือถือว่า จาก สถานการณ์อุทกภัยของ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 23-25 ธ.ค.66 เนื่องจากมีฝนตกหนักทั้ง 13 อำเภอ ทำให้เกิดอุทกภัยครอบคลุมทั้งจังหวัด โดยเฉพาะอำเภอที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำสุไหงโก-ลก แม่น้ำบางนราและแม่น้ำสายบุรี ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 13 อำเภอ 77 ตำาบล 588 หมู่บ้าน 62 ชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบ 91,085 ครัวเรือน 352,773 คน มีผู้เสียชีวิต 14 รายและสูญหาย 1 ราย
โดยจังหวัดนราธิวาสได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติและเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์วิธีการที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งในการจ่ายเงินทดรองฯตามระเบียบ ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพและความเป็นอยู่ของประชาชน หรือเป็นการซ่อมแซมให้คืนสู่สภาพ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยไม่สามารถใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างหรือสาธารณูปโภคที่ถาวรหรือก่อสร้างใหม่ได้ ซึ่งการช่วยเหลือตามระเบียบดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่เกิดภัยพิบัติ
สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณี ฉุกเฉิน พ.ศ.2563 ในการดำรงชีพ ระบุดังนี้
1. ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยพิบัติเป็นเจ้าของ ที่เสียหายเท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 49,500 บาท
2.ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเบื้องต้น กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังเท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละไม่เกิน 3,800 บาท
3.ค่าเครื่องนุ่งห่มที่เสียหายไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก หรือมีความจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีพ รายละไม่เกิน 1,100 บาท
4. ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพหรือเงินทุนสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติที่เป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวของผู้ประสบภัยพิบัติ เท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท
ส่วนเงินช่วยเหลือกรณีผู้บาดเจ็บ ดังนี้
1.กรณีบาดเจ็บสาหัสที่ต้องรักษาในสถานพยาบาลติดต่อกัน 3 วันขึ้นไป จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จำนวน 4,000 บาท
2.กรณีบาดเจ็บถึงขั้นพิการไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น จำนวน 13,300 บาท
3.กรณีภัยพิบัติที่เป็นสาธารณภัยขนาดใหญ่หรือรุนแรงเป็นที่สะเทือนขวัญของประชาชนทั่วไป ให้จ่ายเงิน หรือสิ่งของปลอบขวัญผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่รักษาตัวในสถานพยาบาล รายละไม่เกิน 2,300 บาท
4.ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท ทั้งนี้กรณีผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นผู้หารายได้เลี้ยงดูครอบครัว ให้พิจารณาช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ครอบครัวละไม่เกิน 29,700 บาท
5.ค่าเครื่องครัวและอุปกรณ์ในการประกอบอาหารที่สูญหายหรือได้รับความเสียหายจนไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 3,500 บาท
6.ค่าเครื่องนอนที่สูญหายหรือเสียหาย ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก หรือมีความจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีพ กรณีไม่มีเครื่องนอนในการดำรงชีพขณะเกิดภัย เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 1,000 บาท
“ที่ผ่านมาจังหวัดได้ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเป็นประธาน มีการตรวจสอบและกลั่นกรองการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านต่างๆ ตามที่คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอได้สำรวจความเสียหายจากภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ที่รับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด รวมถึงพิจารณาช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยประชุมไปแล้ว 10 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 50,408,030 บาท และขณะนี้การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวได้สิ้นสุดแล้วตามกรอบของกระทรวงการคลัง” ปภ.นราธิวาสกล่าว
นายวสันต์ ไชยทวีวงศ์ ปภ.นราธิวาส ยังกล่าวอีกว่า “ประชาชนอาจจะไม่เข้าใจว่า ทำไมได้ไม่เท่ากัน ต้องบอกว่ามันคือเงินทดรองราชการที่จ่ายไป 50 ล้าน ส่วนด้านอื่นก็จะมีเกษตร ประมง แต่สิ่งสำคัญที่บอกว่าหมดเวลาในการช่วยเหลือ นี่คือระเบียบกระทรวงการคลัง เค้ากำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่า การช่วยเหลือต้องไม่เกินสามเดือน แต่ก็ขยายเวลาได้ ซึ่งเราขยายเวลาไปให้ 1 ครั้งแล้ว ทุกอย่างเข้ากระบวนการคือพอน้ำท่วมเสร็จ ก็ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นลงพื้นที่สำรวจหมดเลย แล้วก็ส่งกลับมาเข้ากระบวนการแต่กระบวนการข้างล่าง จะเป็นยังไง ผมไม่ก้าวก่ายดีกว่า ผมไม่อยากพูดอะไร เวลาพูดไปจะกระทบหน่วยงานอื่น มันเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่ส่งข้อมูลมาเพราะเค้ารู้จักทุกบ้าน คณะกรรมการอำเภอมี 9 คน คณะกรรมการจังหวัดมี 15 คน เราก็ดูหลักฐานตามขั้นตอนที่เข้ามาคือเงิน 50 ล้าน จ่ายให้ผู้ประสบอุทกภัย ส่วนด้านอื่นๆ เช่น การเกษตร สาธารณูปโภค ประมง ปศุสัตว์และอื่นๆ จ่ายไป 42 ล้าน รวมเป็น 92 ล้าน แล้วเงินส่วนที่เหลือต้องส่งคืนคลังหมด เพราะมันมีขั้นตอนขยายเวลา และมันอยู่ในระบบ จะนำไปใช้อีกไม่ได้ เพราะ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ขั้นตอนของกรมบัญชีกลางว่าเรื่องอุทกภัยต้องเร่งด่วน ต้องรีบทำให้เสร็จโดยเร็ว ณ วันนี้ เกือบ 5 เดือนแล้ว เราพยายามเร่งสำรวจทุกอย่าง เงินที่เหลือเมื่อระยะเวลาสิ้นสุดมันก็จบเลย บางบ้านบางหลัง เค้าไม่เห็นความเสียหาย เค้าก็ไม่กล้า เอกสารนี้ส่งถึงกรมบัญชีกลางและกรมป้องกันฯ เอกสารนี้ไม่ได้จบที่ผม มันจะส่งต่อ จะเป็นการใช้เงินทดรองที่จะต้องผ่านการตรวจสอบ ส่วนกรณีหญิงพิการ ตรวจสอบแล้วไม่มีรายชื่อเลย แล้วจะได้เงิน 100 ได้ไง เคสนี้คือทำให้รัฐเสียหายมาก ในที่ประชุมหลายครั้ง ไม่เคยผ่านสายตาเลยนะว่าจ่ายไป 100 บาท”
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ผู้สื่อข่าวได้มาตั้งแต่ช่วงที่เกิดอุทกภัยเมื่อปลายปี 66 ที่ผ่านมา พบว่า หลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี (ณ เวลานั้น) ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติ จำนวน 100 ล้านบาท อีกทั้งทางจังหวัดนราธิวาสมีงบฉุกเฉินกรณีภัยพิบัติอีก 20 ล้านบาท รวมเป็น 120 ล้านบาท ซึ่งทางนายวสันต์ ไชยทวีวงศ์ ปภ.นราธิวาส ระบุว่า ได้ใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 50 ล้านบาท และอีก 42 ล้านบาท นำไปช่วยเหลือด้านเกษตร ปศุสัตว์ ประมงและระบบสาธารณูปโภค ส่วนเงินที่เหลือต้องนำส่งคืนกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: