X

นราธิวาส -“บิ๊กหนู”สั่ง !รับมือมวลน้ำ-ถอดบทเรียนท่วมรอบ 50 ปี

รองนายกฯ – มท.1 ประชุมผ่าน Webex สั่งการผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ จับตามวลน้ำทุกจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการท่วมซ้ำ


เมื่อวันที่ 15 ก.ย.67 ที่ห้องประชุมพระพิศัยสุนทรการ ศาลากลาง จ.นราธิวาส ชั้น 4 (แห่งที่ 2) ต.ลำภู อ.เมืองนราธิวาส ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผวจ.นราธิวาส เข้าประชุมร่วมกับ นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน, นายวีรพัฒน์ บุณฑริก รอง ผวจ.นราธิวาส, นายอำเภอทั้ง 13 อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Webex) จากห้องประชุม 1 ปภ.อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพฯ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะ ผบช.ปภ.ช. เป็นประธานการประชุมในวาระเร่งด่วน

ทั้งนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) ที่มีภารกิจสำคัญขณะนี้คือ การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในทุกลุ่มน้ำทั่วประเทศ หลังเกิดสถานการณ์อุทกภัยอย่างรุนแรงที่ จ.เชียงราย ขณะนี้เริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว ซึ่งมีมูลนิธิต่าง ๆ และจิตอาสา รวมทั้งทหารกองทัพบก ระดมสรรพกำลัง ยุทโธปกรณ์ เรือ อาหารและน้ำรุดเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ติดค้างอยู่ภายในบ้านและบนหลังคา รวมทั้งสุนัข ออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย ส่วน จ.หนองคาย ระดับน้ำในลำน้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนตลอดแนวกว่า 2 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย .67 ที่ผ่านมา


ทางด้าน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 13-18 ก.ย.67 ใน 48 จังหวัด ประกอบด้วย “ภาคเหนือ” คือ เชียงราย, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ตาก, พะเยา, น่าน, แพร่, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, กำแพงเพชร, พิจิตร, นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์,”ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” คือ เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษและอุบลราชธานี,”ภาคกลาง” คือ ลพบุรี, สระบุรี, กรุงเทพฯและปริมณฑล,”ภาคตะวันออก” คือ นครนายก, ปราจีนบุรี, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรีและตราด,”ภาคใต้” คือ ชุมพร, ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, สุราษฎร์ธานี, ตรังและสตูล


ในที่ประชุม รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะ ผบช.ปภ.ช. ได้มีข้อสั่งการให้ทุกจังหวัด ติดตามสถานการณ์น้ำ หากผิดสังเกตให้รายงานสถานการณ์ทันที, เตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนในที่เสี่ยงภัย และหากเกิดอุทกภัยฉับพลันต้องมีความพร้อมเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที นอกจากนี้ให้รายงานสถานการณ์อุทกภัยเป็นระยะๆ , รายงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและกรมชลประทาน



ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผวจ.นราธิวาส ชี้แจงในที่ประชุมว่า ทางจังหวัดและภาคส่วนในพื้นที่ เตรียมพร้อมตามข้อสั่งการของรองนายกฯตามที่ได้กำชับ โดยให้ ปภ.จ.นราธิวาส เตรียมการหากต้องเปิดศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจฯ และให้ออกสำรวจเส้นทางน้ำและถนน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปลายปี’66 – ต้นปี’67 นำมาถอดบทเรียน เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
มท.1 สั่งผู้ว่าทุกจังหวัดจับตามวลน้ำไหลลงที่ราบต่ำ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน