X

นราธิวาส-ปลดล็อค “ไฟใต้” ผู้นำศาสนา-ใช้หลักธรรมชี้นำเยาวชน

ชป.กิจการพลเรือน “ตร.นธ.93” ร่วม “ทสปช.เมือง” พบปะโต๊ะอิหม่าม “มัสยิดดารุสซาลาม” ยัน! ใช้คำสอนอัลเลาะห์-ละหมาด 5 เวลา ขัดเกลาเยาวชนใต้
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 15 ต.ค.67 พ.ต.อ.ทศม ม่วงเกษม ผบ.ฉก.ตร.นราธิวาส 93 และ พ.ต.ต.หญิง จิลลาวัณย์ เบ็ญมุสตาส หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน หน่วยเฉพาะกิจตำรวจนราธิวาส 93 มอบหมายให้ ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน หน่วยเฉพาะกิจตำรวจนราธิวาส 93 (ชป.กร.ฉก.ตร.นธ.93) พร้อมด้วย ชุดไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) เดินทางลงพื้นที่ เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนผู้นำศาสนาในพื้นที่ บ้านยารอ ม.1 ต.บางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาส

โดยชุดปฏิบัติการฯ ได้เดินทางไปยังบ้านพักของนายซูกรี หะยีอิบรอเฮง โต๊ะอีหม่ามประจำมัสยิดดารุสซาลาม ต.บางปอ ก่อนพูดคุยและสอบถามถึงปัญหาต่างๆ ของชุมชนและใกล้เคียง ซึ่งแทบจะทุกชุมชน, หมู่บ้าน จะมีกลุ่มเสี่ยงต่อการที่จะถูกชักจูงไปกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งได้แจ้งให้โต๊ะอีหม่ามบอกกล่าวไปยังชาวบ้านให้เฝ้าสังเกตคนแปลกหน้าที่อาจจะเข้ามาหลบซ่อนในหมู่บ้าน เพื่อเป็นการป้องกันเหตุร้าย


ทั้งนี้ นายซูกรี หะยีอิบรอเฮง โต๊ะอีหม่ามประจำมัสยิดดารุสซาลาม ต.บางปอ ระบุว่า เยาวชนที่หมู่บ้านนี้ และเชื่อว่าในทุกชุมชน ผู้นำศาสนามีบทบาทสำคัญต่อการชี้นำแก่ชาวบ้านและกลุ่มเยาวชน ต้องใช้หลักธรรมคำสอนขององค์อัลเลาะห์ ศาสดาของมุสลิมทั่วโลก ขัดเกลาจิตใจเพื่อให้ยึดมั่นในหลักคำสอนที่ไม่ถูกบิดเบือน


“มัสยิดแห่งนี้ มีกลุ่มชาวบ้านประมาณ 40 คน ที่จะมาร่วมประกอบศาสนกิจครบ 5 เวลาในทุกๆวัน และจะมีการบรรยายธรรมทุกคืนของวันพฤหัสบดีและทุกวันอาทิตย์ โดยจะมีโต๊ะอิหม่ามจากมัสยิดใกล้เคียง เข้ามาบรรยายธรรม ซึ่งในวันที่มีการบรรยายธรรม กลุ่มชาวบ้านและเยาวชนในหมู่บ้านแห่งนี้ประมาณ 60 – 70 คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยายธรรม ส่วนทุกๆวันศุกร์ จะร่วมกันละหมาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านจากหมู่บ้านใกล้เคียงจะเข้าร่วมประกอบศาสนกิจด้วยกันที่นี่อีกจำนวนหนึ่ง”


ทั้งนี้ จะสังเกตได้ว่า “อิหม่าม” จะมีบทบาทในทุกกิจกรรมทางสังคมของชุมชน เพราะชาวมุสลิมจะถือเอา “อิสลาม” เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ด้วยหลักคิด วิถีปฏิบัติต่าง ๆ ทางศาสนาจึงแทรกอยู่ในทุกกิจกรรมของชาวมุสลิม ถือเป็น“ผู้ชี้นำ” คำสอน ชี้แนะหลักศาสนาอิสลาม รวมทั้งนำความเจริญมาสู่มัสยิดและในชุมชนนั้นๆ เป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธาในการประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผู้นำศาสนาจะชักจูง หรือแนะนำชาวบ้านและเยาวชนด้วยแนวทางของอัลเลาะห์ แต่ที่สุดแล้วยังคงเชื่อว่า ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเป็นสำคัญ ในพื้นที่ จชต.ต้องอาศัยผู้นำศาสนาให้ร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่และพี่น้องประชาชนปลายด้ามขวานไทย สู่เป้าหมายคือ “ความสันติสุข”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน