X

“พ่อเมือง” ยังไหว! ลุยถึงที่!เน้นย้ำทุกคนถ่ายรูปความเสียหายด้วย

“พ่อเมืองลุยถึงที่! นั่งรถยกสูงเข้าไปมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัย ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวฯปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง เน้นย้ำให้ทุกคนถ่ายภาพความเสียหาย เพื่อจะได้เข้าเกณฑ์รับเงินเยียวยาจากภาครัฐ

วันนี้ ( 2 ธ.ค.67 ) ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผวจ.นราธิวาส พร้อมด้วย นายสังคม เกิดก่อ ปลัด จ.นราธิวาส, นายอำเภอเจาะไอร้อง และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล รพ.สต.และโรงพยาบาลอำเภอเจาะร้อง ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัย ในพื้นที่นิคมสหกรณ์ปิเหล็ง ซึ่งใช้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว โดยพบว่าพื้นที่โดยรอบนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง บ้านเรือนประชาชนและถนนที่สัญจรไปมาภายในหมู่บ้าน ยังคงมีน้ำท่วมขังสูง ต้องใช้รถขนาดใหญ่ยกสูงของทหาร ในการเดินทางขนสิ่งของ อาหาร น้ำดื่ม ส่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมี สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส และผู้ปกครองนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง คอยดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้นำถุงความห่วงใย จากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมทั้งมอบฟางข้าวและอาหารสัตว์ ให้แก่ตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งได้นำนมกล่อง จากสำนักงานสหกรณ์ จ.นราธิวาส แจกจ่ายให้กับเด็กๆภายในศูนย์พักพิงฯ ก่อนเข้าเยี่ยมกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ ซึ่งบางรายมีโรคประจำตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง และโรคประจำตัวอื่นๆ โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล และหากพบว่าผู้ใดมีอาการผิดปกติ จะได้นำส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที

ก่อนกล่าวกับผู้ประสบภัยว่า จะเห็นได้ว่า สถานการณ์น้ำท่วมระลอกนี้ มีปริมาณน้ำมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา และอีก 2-3 วันนี้จะมีฝนตกลงมาอีกระลอก ขอให้ทุกคนยังอยู่ในศูนย์พังพิงต่อไปก่อน เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไร สำหรับพื้นที่สหกรณ์นิคมสหกรณ์ปิเหล็ง ต่อไปจะขยายให้เป็นศูนย์พักพิงอพยพฯ ที่สามารถรองรับผู้ประสบภัยได้มากขึ้น สิ่งสำคัญ หากกลับไปที่บ้านแล้ว ขอให้ทุกคนถ่ายภาพความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยของบ้านเรือน สิ่งของ เพื่อรับการเยียวยาความเสียหายจากทางราชการ และหากสงสัยให้สอบถามรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ อบต.และอำเภอฯ เพื่อให้คำแนะนำในเบื้องต้น

สำหรับที่สหกรณ์นิคมปิเหล็ง มีผู้ประสบภัยที่อพยพมาพักอาศัย จำนวน 143 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของสหกรณ์นิคมฯ โดยมีเจ้าหน้าที่นิคมฯให้การดูแล บรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัย ซึ่งสิ่งที่ขาดแคลนและมีความต้องการภายในศูนย์พักพิงคือ เสื้อผ้า นมผง นมสด ผ้าอนามัย แพมเพิสผู้ใหญ่และเด็ก รวมทั้งของใช้ที่จำเป็น หากผู้มีจิตศรัทธาประสงค์บริจาคสิ่งของต่างๆ ขอให้ประสานมาทางอำเภอเจาะไอร้อง เพื่อดำเนินการรับบริจาคฯ ส่งมอบช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งนี้ อ.เจาะไอร้อง มีพื้นที่ประสบภัย 3 ตำบล 33 หมู่บ้าน 3,325 ครัวเรือน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 11,616 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธ.ค.67)

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน