มหาสารคาม – เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกกล้วยอินทรีย์ ยึดเศรษฐกิจพอเพียงลดต้นทุนผลิต พร้อมจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนผลิตและแปรรูปกล้วย สร้างรายได้งาม
“กล้วย” เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้แทบทั้งต้นสามารถนำไปแปรรูปได้หลายอย่าง โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า ไม่ว่าจะเป็นผล ใบ หยวกกล้วย และปลีกล้วย นับเป็นพืชที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ตามหมู่บ้านเกือบทุกหลังคาเรือนจะปลูกกล้วยไว้กินเอง หากปลูกเป็นแปลงก็สามารถทำเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างงดงาม เช่นเดียวกับที่เกษตรกรตำบลนาโพธิ์ อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม ที่นอกจากจะปลูกกล้วยน้ำว้าไว้กินเองแล้ว ยังปลูกกล้วยน้ำว้าไว้ขาย สร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัว
ที่หมู่ 1 บ้านนาโพธิ์ ต.นาโพธิ์ อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม เกษตรกรรวมกลุ่มกันปลูกกล้วยด้วยวิถีธรรมชาติ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช เน้นความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่ใช้สารเคมี และไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกกล้วยอินทรีย์ โดยจะใช้มูลโคหรือปุ๋ยคอกที่ผ่านกระบวนการหมักผสมกับดินร่วนและวัสดุธรรมชาติ ใส่รองก้นหลุมก่อนปลูกกล้วย เทคนิคการปลูกเกษตรกรจะขุดหลุมให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น ขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาขึ้นโคนหรือโคนลอยช้าลง สามารถอยู่ได้นานถึง 4-5 ปี แล้วจึงรื้อปลูกใหม่เนื่องจากระบบรากของกล้วยน้ำว้านั้นจะหากินในรัศมีไม่เกิน 50 เซนติเมตร ทำให้รากสามารถหากินได้มากขึ้น กว่าวิธีการขุดแบบเดิมของเกษตรกรที่ขุดหลุมพอดีกับเหง้า อีกทั้งการใส่ปุ๋ยคอก ทำให้รากชอนลงด้านล่างเพื่อหาอาหาร ทำให้อาการรากลอยช้าลง แทนที่จะเป็น 1-2 ปี เกษตรกรต้องรื้อปลูกใหม่จนทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ส่วนวิธีการกำจัดวัชพืชในแปลงจะใช้วิธีไถพรวนทดแทนวิธีการใช้สารเคมี สำหรับการปลูกให้มีผลผลิตเก็บเกี่ยวตลอดทั้งปี เกษตรกรจะปลูกห่างกัน 1 เดือน และในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูก 200 ต้นขึ้นไป กล้วยเป็นพืชที่มีใบยาว ต้องปลูกให้มีระยะห่างไม่ให้ใบเกยกันเพื่อให้ใบรับแสงแดด และ มีพื้นที่แตกหน่อ
ข่าวน่าสนใจ:
นายสำราญ ชาดง คณะกรรมการฝ่ายการตลาด วิสาหกิจชุมชนผลิตและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 130 ราย ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนกล้วยน้ำว้าแปลงใหญ่เริ่มการปลูกวิถีธรรมชาติไปสู่การปลูกกล้วยอินทรีย์ ควบคู่กับการขับเคลื่อนการเลี้ยงโคอินทรีย์ และข้าวอินทรีย์ ส่วนการขายนอกจากจะขายผลสุกแล้ว กลุ่มยังมีเครือข่ายที่แปรรูปกล้วยเป็นกล้วยฉาบ และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งสมาชิกมีความพร้อมที่จะปลูกกล้วยทดแทนพืชไร่อื่น ๆ ที่มีปัญหาการตลาด
ขณะที่นางสาวอีศะวีร์พร โอฬารรัชฤ ผู้ประสานงานวิสาหกิจชุมชนผลิตและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรกร กล่าวว่า ได้เข้ามาให้การสนับสนุนกลุ่มโดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ จากหลายหน่วยงาน รวมถึงสภาเกษตรกร รวมถึงเครือข่ายที่นำกล้วยไปแปรรูปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามอยากจะให้ภาครัฐเข้ามาหนุนเสริมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการปลูกกล้วยแปลงใหญ่ ช่วยเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกกล้วยเพื่อลดปัญหาเรื่องโรคและแมลงที่อาจจะเกิดขึ้น
ด้าน นายอินทร เค้าแคน เกษตรกรบ้านหนองบัว ตำบลกุดรัง อำเภอกุดรัง หนึ่งในสมาชิกที่ได้ร่วมกับสมาชิกปลูกกล้วยน้ำว้าที่บ้านนาโพธิ์ ตำบลนาโพธิ์ เล่าว่า ได้ลงมือปลูกกล้วยน้ำว้าในพื้นที่ 10 ไร่ทดแทนพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมานานกว่า 20 ปี ที่มักประสบปัญหาเรื่องราคาและผลผลิตต่ำ 10 ไร่ได้ผลผลิตไม่ถึง 2 ตัน อีกทั้งปลูกมันสำปะหลังต้องลงทุนปลูกใหม่ทุกปี ส่วนกล้วยปลูกครั้งเดียว จะอยู่ได้ 4-5 ปี เริ่มปลูกมาแล้วเกือบ 1 ปี เริ่มเก็บผลผลิตออกขายได้ โดยจะขายส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้ายกขายเป็นเครือ ๆ ละ 50-60 บาท หรือหวีละ 15 บาท ส่วนปลีจะขายอยู่ที่ปลีละ 5 บาท ใบราคากิโลกรัมละ 10 บาท และหน่อกล้วยหน่อละ 30 บาท แม้ผลผลิตกล้วยทั้ง 10 ไร่จะยังไม่ออกผลเต็มที่ แต่ก็ยังทำให้มีรายได้ต่อเดือนละ 5,000 บาท
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: