มหาสารคาม – พร้อมเป็นเจ้าภาพงานประชุมวิชาการนานาชาติ เขตสุขภาพที่ 7 “ภาคีร่วมใจ เด็กไทยสุขภาพดี” ระหว่างวันที่ 15 – 17 ส.ค. 2561 พบผู้เชี่ยวชาญพัฒนาเด็กจาก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
ที่ศูนย์การค้าเสริมไทยคอมเพล็กซ์ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นายเสน่ห์ นนทะโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยนายภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม นางนิศากร นนทะโชติ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน การประชุมวิชาการนานาชาติ เขตสุขภาพที่ 7 (ครั้งที่ 3) ประจำปี 2561 “The Third International Conference on Health 2018 : All for Healthy & Smart Kids ภาคีร่วมใจ เด็กไทยสุขภาพดี” ระหว่างวันที่ 15 – 17 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมตักสิลา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุข บุคลากรทางการศึกษา บุคลากรทางวิชาการ และประชาชน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมสุขภาพป้องกัน และควบคุมโรค ตามแผนงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกกลุ่มวัย
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า กิจกรรมภายในงานดังกล่าว นอกจากจะมีการประกวดผลงานวิชาการจากทั่วประเทศ โดยการนำเสนอผลงานประเภท Poster Presentation และ Oral Presentation รวม 280 เรื่อง ยังจะได้พบกับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และมีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การสร้างเด็กเพื่ออนาคต : บทเรียนประเทศญี่ปุ่น (Prof.Masayuki Hayashi) มหาวิทยาลัยแพทย์ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น, นโยบายการพัฒนาเด็ก (Dr.JongHee,Kim) มหาวิทยาลัยปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ อีกทั้งยังได้พบกับเด็กต้นแบบ : แชมป์ The Voice Kids Thailand Season 5 (น้องแนท ศิริพงษ์ ศรีสุขา)
ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า เนื้อหาสำคัญของการจัดประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ มีการเน้นช่วงวัยเด็ก เพราะจะส่งผลถึงศักยภาพทุนมนุษย์ในช่วงวัยถัดไป ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนถึงปฐมวัย โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ เด็กเก่ง ดี มีสุข (เก่ง : ใฝ่เรียนรู้ มีทักษะ, ดี : มีวินัย, มีสุข : แข็งแรง) ซึ่งจะส่งเสริมให้เป็นคนไทย 4.0 และผลักดันไปสู่เป็น Thailand 4.0 แต่ข้อมูลจากการสำรวจระดับสติปัญญาของเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 โดยกรมสุขภาพจิตปี 2559 พบว่า ไอคิวเด็กเขตสุขภาพที่ 7 มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากภาวะขาดสารไอโอดีน และภาวะทุพโภชนาการ อันส่งผลทำให้พัฒนาการเด็กไม่สมวัย และมีรูปร่างไม่สมส่วน
สำหรับจังหวัดมหาสารคาม มีสถานประกอบการเกลือไอโอดีนถึง 45 แห่ง มากที่สุดในประเทศไทย ข้อมูลการสำรวจผู้ผลิตเกลือในจังหวัดมหาสารคาม มีจำนวน 34 แห่ง กำลังการผลิตรวม 12,840 ตันต่อปี มีการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง และในปี 2558 จังหวัดมหาสารคามได้รับการรับรองเป็นจังหวัดไอโอดีน 1 ใน 7 จังหวัดของประเทศ แต่การบริโภคภายในจังหวัดยังมีน้อย
ปัจจุบัน จังหวัดมหาสารคาม เป็นจังหวัดนำร่องที่มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานจังหวัดไอโอดีนยั่งยืนของประเทศมาตั้งแต่ปี 2559 และในปี 2561 มีการดำเนินงานจังหวัดไอโอดีนยั่งยืนต่อเนื่อง โดยประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนการดำเนินงานจังหวัดไอโอดีนยั่งยืนมุ่งสู่ เด็กตักสิลา 4.0 (Smart Kids Taksila 4.0) มุ่งเน้นการพัฒนาสติปัญญาเด็ก สร้างคนมหาสารคามให้เป็นคนที่มีคุณภาพ
นายกเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม อธิบายเกี่ยวกับ “ไอโอดีน” ว่า มีความสำคัญต่อการพัฒนาการทางสมองและการเจริญเติบโตของทารก ตั้งแต่ในครรภ์จนกระทั่งคลอด หากขาดไอโอดีนจะมีผลต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกายและทางสมอง ทำให้เกิดภาวะตัวเตี้ย ปัญญาอ่อน โดยช่วงระยะทารกแรกเกิดและเด็กปฐมวัย ถือเป็นช่วงวัยทองของการพัฒนา สติปัญญา และไอคิวของเด็กไทย จึงควรที่จะส่งเสริมให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และบุตรหลานที่เกิดมาได้รับสารไอโอดีนในปริมาณที่เหมาะสม โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับไอโอดีน 250 ไมโครกรัม/วัน เด็กแรกเกิด – 6 เดือน ปริมาณที่ร่างกายต้องการ 50 ไมโครกรัม/วัน เด็กอายุ 6 เดือน – 6 ปี ปริมาณที่ร่างกายต้องการ 50 – 90 ไมโครกรัม/วัน เป็นต้น
นอกจากการรับสารไอโดดีแล้ว การรับประทานไข่ ก็เป็นอีกทางที่จะใช้ให้บุตรหลานมีสุขภาพสมบูรณ์ ช่วยเสริมพัฒนาการของเด็ก เพราะไข่เป็นแหล่งโปรตีนสมบูรณ์ มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน มีวิตามิน แร่ธาตุหลากหลาย ที่สำคัญคือ ไข่กินง่าย ทำได้หลากหลายเมนู เช่น ไข่ต้ม ไข่ลวก ไข่เจียว ไข่ขยี้ ไข่พะโล้ ไข่ลูกเขย ไข่น้ำ และเติมในอาหารอื่นได้อีกมากมาย
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและติดตามข่าวสารได้ทาง Facebookชื่อเพจ All for Healthy & Smart Kids, สนง.สาธารณสุขจังหวัด มหาสารคาม, งานประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลมหาสารคาม, เขตสุขภาพที่ 7 และทาง www.mkho.moph.go.th
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: