มหาสารคาม – เปลี่ยนโฉม“มันแกว”พืชท้องถิ่นให้กลายเป็น “เซรั่มมันแกว” เครื่องสำอางเกรดพรีเมี่ยม ทำผิวกระจ่างใส อย่างไม่เหมือนใคร
ม.มหาสารคาม เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “เซรั่มมันแกว” เปลี่ยนโฉม“มันแกว” ผลไม้พื้นบ้าน ให้เป็นเครื่องสำอางเกรดพรีเมี่ยม จนเป็นผลิตภัณฑ์ MK Hydroboost serum ต่อยอดงานวิจัยของนักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ สกัดมันแกวเป็นเซรั่มผสานกรดไฮยาลูโรนิค 3 ชนิด เพิ่มความชุ่มชื้น ลดเลือนริ้วรอย และบำรุงผิวให้กระจ่างใส อย่างไม่เหมือนใคร
ที่อาคารบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ “เซรั่มมันแกว” MK Hydroboost serum โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วย คณะผู้วิจัยที่พัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เซรั่มมันแกว มาร่วมให้ข้อมูลพร้อมโชว์ผลิตภัณฑ์ MK serum ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าของ “มันแกว” ผลไม้พื้นบ้านขึ้นชื้อของ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม นำมาแปรรูปเป็นเครื่องสำอางเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของพืชพื้นถิ่นที่อยู่คู่ชาวจังหวัดมหาสารคามมายาวนาน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นตามไปด้วย
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.เมธิน ผดุงกิจ ผู้วิจัยและพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ฯ เปิดเผยว่า “เซรั่มมันแกว” เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ทั่วไป จุดกำเนิดมาจากความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวิชาการและความตั้งใจจริง โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มของมันแกวบรบือ พืชผลไม้พื้นถิ่นของจังหวัดมหาสารคาม เพิ่มปริมาณการใช้มันแกวให้มากขึ้นเพื่อช่วยส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกมันแกว เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ MK Hydroboost serum
โดยได้ทำการค้นคว้าข้อมูลพื้นฐานของมันแกวก่อนลงมือทำวิจัยพบว่า มันแกว มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Pachyrrhizus erosus (L.) Urban มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Yam beans นอกจากจะนำมาประกอบเป็นอาหารได้หลายชนิดแล้ว ยังพบว่าชาวพื้นเมืองของอินโดนีเซียใช้ประโยชน์จากมันแกว เพื่อป้องกันแสงแดดและช่วยทำให้ผิวขาวได้ด้วย จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าหัวมันแกวมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ดี มีฤทธิ์ป้องกันโรคกระดูกพรุน และมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งจะช่วยยับยั้งการสร้าง เมลานิน ทำให้ผิวขาวขึ้น และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ในร่างกายให้ช้าลง เมื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมี พบว่า มันแกวอุดมไปด้วยสารโพลีแซคาไรด์ และสารฟีนอลิก โดยเฉพาะสารฟีนอลิกประเภทฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น เดดซีน (daidzein) , เดดซีนไกลโคไซด์ (daidzein-7-O-ß-glucopyranose) ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศ ช่วยให้ร่างกายคงความเป็นหนุ่มสาว ผิวพรรณชุ่มชื้น เต่งตึง ผิวฉ่ำน้ำ คล้ายกับมันแกว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความชุ่มชื้น เต่งตึง
จะเห็นว่า “มันแกว” ที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีสารโพลีแซคาไรด์ และสารไฟโตเอสโตรเจน ช่วยทำให้ร่างกายคงความเป็นหนุ่มสาว ผู้วิจัยและคณะได้อาศัยจุดเด่นดังกล่าวของมันแกวมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางในรูปแบบเซรั่ม (serum) ซึ่งได้พัฒนาจนได้สูตรที่มีความลงตัว ผ่านการทดสอบการระคายเคืองในอาสาสมัครไม่พบการแพ้ใดๆ และประเมินด้านความชุ่มชื้นและสีผิว พบว่า เซรั่มมันแกวให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังได้มากขึ้น และปริมาณเม็ดสีเมลานิน ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนใช้
ปัจจุบัน เซรั่มมันแกว ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อโดย อ.ดร.ภญ.ศุภกัญญา กุมกาญจนะ หัวหน้าฝ่ายวิจัยผลิตภัณฑ์ของโรงงานฟาร์มแคร์ ให้มีการกักเก็บความชื้นใต้ผิวหนังได้ลึกถึงระดับชั้นในสุด โดยการเติม ไฮยาลูโรนิก แอซิด ถึง 3 ชนิด (Triple Hyaluronic acid) ลงไปด้วย ช่วยให้ผิวหนังเต่งตึงได้ยาวนานยิ่งขึ้น และได้ผลิตออกจำหน่ายโดย โรงงานฟาร์มแคร์คอสเมซูติคอล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้แบรนด์ฟาร์มแคร์ (Pharmcare) ในชื่อของ MK Serum (เอ็มเค เซรั่ม) โดยโรงงานฟาร์มแคร์ได้ใช้แนวคิดในการตั้งชื่อที่แสดงถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ คือ มันแกว (Mankaew, MK) และจังหวัดที่ผลิตคือ มหาสารคาม (Mahasarakham, MK) รวมทั้งชื่อผู้คิดค้น เมธิน ผดุงกิจ (Methin phadungkit, MK)
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีโรงงานฟาร์มแคร์ ภายใต้การดูแลของ คณะเภสัชศาสตร์ เป็นโรงงานผลิตยาจากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ จัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้ประชาชนได้ใช้ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเกษตรกรในจังหวัดมหาสารคามให้มีมาตรฐานการผลิตวัตถุดิบและรายได้ที่สูงขึ้นไปพร้อมกัน ภายใต้การบูรณาการองค์ความรู้ดั้งเดิมและกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และตอบสนองต่อการพัฒนาของประเทศ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของบุคลากรในมหาวิทยาลัยและความเข้มแข็งของประเทศทางด้านความอุดมสมบูรณ์ของสมุนไพร ความหลากหลายของสายพันธุ์ และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดยยาและผลิตภัณฑ์ทุกชนิดผ่านการวิจัยและการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยและมีประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่ได้นำไปใช้ต่อไป ทั้งนี้หากทีความสนใจ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฟาร์มแคร์คอสเมซูติคอล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรศัพท์ 043-754370,084-2721808
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: