มหาสารคาม – อาจารย์ ม.มหาสารคามใช้เวลาว่างปลูกเมล่อนแปลงเปิด-แปลงปิด เน้นปลอดสารพิษมาตรฐาน GAP เผยเคล็ดลับใสใจทุกขั้นตอน และเน้นสร้างตลาดกลุ่มบุคลากรมหาวิทยาลัยและกลุ่มคนรักสุขภาพ ผ่านช่องทางออนไลน์จนมีลูกค้าจองคิวเพียบ
จากความชื่นชอบในการทำเกษตร ทำให้อาจารย์ธวัช ชินราศรี อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงทุนปรับเปลี่ยนที่นาและใช้เวลาว่างทั้งหมดมาทุ่มเททำเกษตร โดยเน้นปลูกเมล่อน สายพันธุ์ดี คุณภาพสูง และที่สำคัญคือปลอดสาร เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคกลุ่มบุคลากรมหาวิทยาลัยและกลุ่มคนรักสุขภาพ
อาจารย์ธวัช ชินราศรี เล่าว่า เริ่มปลูกเมล่อนเพราะชอบรับประทาน โดยเริ่มแรกได้มีโอกาสเข้าฝึกอบรมของโรงเรียนเกษตรไทยไม่จน ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการปลูกเมล่อนนอกโรงเรือน ซึ่งเป็นวิธีที่ประหยัด แต่ก็มีอัตราเสี่ยงสูงของโรคพืชและแมลงรบกวน คนที่ปลูกได้ผลส่วนใหญ่จะใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลงในปริมาณสูง แต่ด้วยความใส่ใจและต้องการเดินตามเกษตรพอเพียง ไม่พึ่งพาสารเคมี จึงพัฒนาการปลูกจนประสบความสำเร็จได้ผลดีเกินคาด ต่อมาจึงได้ลองทำโรงเรือนเพื่อปลูกเมล่อนโดยมุ่งผลผลิตที่มีคุณภาพและได้ปริมาณที่สูงขึ้น และเป็นแหล่งศึกษาด้านการเกษตรแก่นิสิต ม.มหาสารคาม ที่ต้องการเห็นการปลูกเมล่อนที่ไม่ใช่สารเคมี
ข่าวน่าสนใจ:
เมล่อนเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนในภาคอีสานได้ ใน 1 ปีสามารถปลูกได้ถึง 4 รอบ โดยวิธีปลูกเริ่มจากการเตรียมต้นกล้าเพาะเมล็ด 13 วัน จากนั้นย้ายต้นกล้าลงถุงเพาะ ดูแลต่ออีกประมาณ 10 วัน จึงย้านเข้าสู่โรงเรือนหรือแปลงปลูก จากนั้นนับไปอีก 30 วัน เมล่อนจะเริ่มออกดอก เมื่อออกดอกจะใช้วิธีเกสรตัวผู้แตะละอองเกสรตัวเมีย เพื่อให้ตั้งท้อง และเริ่มดูตีใบล่างออกเพื่อให้แดดส่อง และอีก 35 วันเมล่อนจะเริ่มสุก ใช้เวลาตั้งแต่การปลูกถึงการเก็บเกี่ยวเพียง 75-77 วันก็สามารถเก็บผลผลิตได้ ซึ่งก่อนการเก็บเกี่ยว 10 วันจะลดให้น้ำ เพื่อให้ลูกเมล่อนได้มีรสหวานตามธรรมชาติ ส่วนวิธีการสังเกตุให้ดูที่ขั้วลูกเมล่อน ลูกที่สุกพร้อมเก็บ เปลือกด้านนอกจะแตกลาย บางสายพันธุ์ถึงกับหลุดจากต้น ซึ่งเมล่อนที่ปลูกภายในสวนแห่งนี้มีประมาณ 10 สายพันธ์ โดยพันธุ์จันทร์ฉาย เป็นผิวเรียบปลูกในโรงเรือน เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ เพราะมีรสหวานกรอบ ส่วนจันทร์หอมเนื้อสีเหลือง ผิวเป็นตาข่าย มักจะเป็นที่นิยมของผู้ที่ชอบรสชาติหวานฉ่ำและเนื้อกรอบ แต่สิ่งที่ทั้งสองสายพันธุ์มีลักษณะคล้ายกันนั่นก็คือ มีรสหวานในแบบธรรมชาติ ซึ่งวัดค่าความหวานได้สูงสุดถึง 16 บริกซ์
ส่วนการการเลือกซื้อเมล่อนที่สดจากสวน ให้คงความกรอบและหวาน แนะให้เลือกซื้อเมล่อนที่มีขั้วติดมาด้วย ซึ่งเมล่อนหลังจากเก็บเกี่ยวสามารถอยู่ในอุณหภูมิห้องได้นาน 1-2 เดือน แต่ถ้าแช่ในที่เย็นสามารถเก็บรักษาได้นานถึง 3 เดือน โดยราคาทั่วไปของเมล่อนอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท 1แต่ละลูกมีน้ำหนัก 1.5 – 4 กิโลกรัม และนอกจากนี้ที่สวนยังมีแตงโมงเนื้อส้มซึ่งเป็นผลผลิตใหม่ที่ปลอดสารพิษและกำลังจะออกวางจำหน่าย ซึ่งมีลูกค้าทั้งบุคลากร ม.มหาสารคามและลูกค้าทั่วไปที่เป็นแฟนเพจ “สวนครูผู้เรียน” สั่งจองผ่านช่องทางออนไลน์มาแล้วเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ต่อรอบการผลิตไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท
อาจารย์ธวัช เพิ่มเติมว่า สวนแห่งนี้ได้รับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร หรือ GAP จากกรมวิชาการเกษตร ถือเป็นสิ่งพิสูจน์ความตั้งใจในการทำเกษตรปลอดภัย เป็นตัวอย่างแก่การสร้างผลผลิตโดยไม่ใช้สารเคมี ทั้งนี้หากใครสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ อาจารย์ธวัช ชินราศรี อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือแฟนเพจ “สวนครูผู้เรียน” หรือที่เบอร์ 0895716187 ตั้งอญุ่ 108ม. 17 ต.นาสีนวน อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150
คอมเม้นท์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: